ตูน บอดี้สแลม-เก้ง จิระ แชร์ประสบการณ์ กล้า…ก้าว…สู่ตัวตนใหม่

“พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต The Reinvention” คือ สัมมนาล่าสุดที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันจัดขึ้น งานนี้มีวิทยากรหลายคน รวมถึง ตูน บอดี้สแลม นักร้องฮีโร่ของคนไทยทั่วประเทศ และเก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่าย GTH และ GDH559

อาจจะน่าแปลกใจนิด ๆ ที่เวทีสัมมนาทางธุรกิจมีคนที่ไม่ใช่นักธุรกิจมาขึ้นเวที จุดเชื่อมโยงอยู่ที่ว่า งานสัมมนานี้อยากกระตุ้นให้คนฟังมีแรงบันดาลใจ มีความกล้าในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปจนถึงการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา เพื่อให้อยู่รอดอย่างแข็งแกร่งในโลกอนาคต ในบริบทใหม่ ๆ ทั้งทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และทางสังคม

…ซึ่งในเรื่องความกล้า-กล้าลอง กล้าเสี่ยง กล้าเปลี่ยนแปลง สองคนนี้มีเต็มร้อย

อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม เป็นคนหนึ่งที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเสมอ ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นละทิ้งตัวตนเดิม และไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ย้อนไปแค่การเปลี่ยนแปลงล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ตูน บอดี้สแลม สร้างตัวตนที่สองของตัวเองขึ้นมา จากตัวตนแรกที่เป็นนักร้อง ร็อกสตาร์ เขาก้าวสู่การเป็นนักวิ่ง เป็นฮีโร่ ผู้สร้างกุศล สร้างแรงบันดาลใจ

จากก้าวแรกที่ทำโครงการก้าวคนละก้าว วิ่งจากกรุงเทพฯ-บางสะพาน ระยะทาง 400 กม. เพื่อระดมเงินบริจาคให้โรงพยาบาลบางสะพาน สู่ก้าวประวัติศาสตร์ โครงการก้าวคนละก้าว วิ่งจากเบตง-แม่สาย 2,215 กม. ในปีต่อมา ซึ่งสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจแรงผลักดันให้เขาก้าวสู่ตัวตนใหม่ก็คือ เขาอยากช่วยเหลือโรงพยาบาล ช่วยเหลือคนไข้ให้ได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือดี ๆ อย่างทั่วถึง

ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย กล่าวบนเวทีสัมมนาว่า ตอนที่วิ่งบางสะพานเสร็จแล้ว เขามีความคิดอยู่บนพื้นฐานว่าอยากช่วยมากกว่า 1 โรงพยาบาล ต้องการเงินมากขึ้นเพื่อไปกระจายให้ทุกโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อโจทย์คือต้องการเงินมากขึ้น จึงคิดว่าจะวิ่งระยะทางไหนที่ตอบโจทย์นี้

“เคยคิดว่าจะวิ่งจากตะวันออกสุดถึงตะวันตกสุด อุบลราชธานี-กาญจนบุรี สุดท้ายคิดว่า 800 กม. ยังไม่ท้าทายพอ เพิ่มจากเดิมมาเท่าเดียว คือตั้งโจทย์ว่าอยากท้าทายตัวเองด้วย ก็ต้องเป็นใต้สุดไปเหนือสุด ลองดูว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำได้จะทำภายในกี่วัน เราไม่รู้หรอกว่า เชื่อ บ้า หรือกล้า เราแค่คิดจากปลายทางที่เราจะช่วยเหลือด้วยวิธีการของเรา”

ตูนบอกว่า พอเห็นตัวเลขระยะทางเยอะ ๆ ก็รู้สึกหวั่น จากนั้นเขาเอาระยะทางมาคำนวณกับตัวเองว่า จะทำให้สำเร็จด้วยวิธีไหน สุดท้ายเขาค้นพบว่าตัวเองเป็นนักวิ่ง 10 กิโล คือวิ่งระยะทาง 10 กม. แล้วไม่เหนื่อย จึงได้วิธีการวิ่งที่สรุปออกมาเป็นเซตละ 10 กม. ตอนวิ่งกรุงเทพฯ-บางสะพานวิ่งวันละ 4 เซต ส่วนการวิ่งเบตง-แม่สาย วิ่งครั้งละ 5 เซต วิ่ง 4 วัน หยุด 1 วัน คำนวณออกมาเป็นเวลา 55 วัน

“บางคนบอกไม่ต้องเร่งให้เสร็จภายใน 55 วันก็ได้ แต่ผมยึดมั่น เราตั้งโจทย์มาแล้วว่า เราจะทำภายในโจทย์ที่เราคำนวณมาแล้วว่าเราสามารถทำได้ เราก็อยากจะทำและทำมันอย่างเต็มที่ ให้รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ เรารับฟังคำเตือนและความห่วงใย แต่เราก็อยากลองสักครั้งในชีวิต ไม่งั้นเราจะไม่กำหนดเวลา 55 วัน มาเป็นเป้าหมายแรก ถ้าคิดจะทำให้มันสำเร็จก็ขอทำให้มันเต็มที่”

จากโจทย์ที่อยากช่วยคนอื่น เมื่อออกวิ่งแล้ว ตัวเขาเองก็ได้รับประโยชน์จากการวิ่งเช่นกัน ตูนเล่าว่า ก่อนหน้านั้นรู้สึกสนุกกับการร้องเพลงน้อยลง รู้สึกชินชากับการขึ้นเวทีร้องเพลง แต่โชคดีมากที่เขาได้เจอกิจกรรมการวิ่ง ทำให้ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นถูกลืมด้วยการออกไปวิ่งออกกำลังกาย

นอกจากนั้น ตูนยังเล่าถึงการค้นพบความหมายและตัวตนใหม่จากการวิ่งว่า เขาได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น จากที่เคยคิดว่าตัวเองแข็งแรงมาก แต่เมื่อไปวิ่งแล้วโดนแซง จึงรู้ว่ามันผิดที่คิดว่าตัวเองแข็งแรงกว่าคนอื่น จากนั้นจึงตั้งคำถามและลองค้นหาคำตอบ เรียนรู้มากขึ้น ถามผู้รู้มากขึ้น ซ้อมมากขึ้น และได้เรียนรู้ว่าการวิ่งไม่ใช่การเร่งฝีเท้าให้ไวที่สุด หรือแข่งขันกับคนอื่นในสนาม แต่ความหมายของการวิ่ง คือ การพิสูจน์ตัวเองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

อีกคนที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ความกล้า มาจากธุรกิจหนัง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยากในหลาย ๆ ด้าน และต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก เก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่าย GTH และ GDH559 กล่าวว่า การทำธุรกิจหนัง เป็นธุรกิจที่หาแหล่งเงินทุนยาก ไม่สามารถกู้เงินธนาคารได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยง ความไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดหมายอะไรได้ ไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่กำลังทำจะให้ผลแบบไหน

สำหรับคนทำหนังเอง ทุกครั้งที่หนังจะเข้าฉายก็ต้องลุ้นไปด้วยว่า หนังที่ทำจะมีคนมาดูหรือไม่ แม้หลายคนจะมองว่า ค่าย GTH และ GDH สามารถผลิตหนังทำเงินได้หลายเรื่องในยุคที่ธุรกิจหนังไทยไม่คึกคักนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องที่ทำเงินได้น้อยและขาดทุนก็มีเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่สรุปได้จากคำบอกเล่าของโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์คนดังก็คือ การทำหนังเป็นธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างสิ่งใหม่ตลอด เพราะไม่สามารถใช้สูตรความสำเร็จเดิมได้ เมื่อหนังเรื่องหนึ่งโด่งดังทำเงินแล้วคิดจะทำตามสูตรเดิม เรื่องที่เดินตามสูตรเดิมนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเรื่องต้นแบบ และเขาบอกว่า การทำหนังก็เหมือนการทำธุรกิจประเภทอื่น ถ้าทำด้วยความชอบ ความอิน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ

นอกจากนั้น จิระพูดถึงประเด็นอุปสรรคจากคำพูดด้านลบ หรืออาจจะเป็นคำเตือนจากความห่วงใย ซึ่งคนทำหนังต้องอาศัยความกล้าเดินหน้าต่อไปให้ได้

“การทำหนังมันยิ่งกว่าการปั้นน้ำเป็นตัว ก่อนวันเข้าฉายเราไม่รู้เลยว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ผมยกตัวอย่าง “แฟนฉัน” คนก็พูดว่าจะมีใครมาดูหนังที่มีแต่เด็ก “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ที่พูดถึงผู้หญิงอายุสามสิบที่ยังไม่มีแฟนก็มีเสียงมาว่า ใครจะมาดูหนังเพื่อตอกย้ำตัวเอง หรือ “Final Score” ที่เป็นหนังสารคดีเรื่องแรก

ของค่าย คนก็พูดว่า ถ้าจะดูสารคดีนอนดูทีวีอยู่บ้านก็ได้ ทุกครั้งที่เราทำหนังมันจะมีอุปสรรค มีคำพูดด้านลบ และสิ่งที่ทำให้เอนเอียงได้ตลอดเวลา ก็เหมือนกับคลื่น ถ้าเราลอยไปตามน้ำ ตามสิ่งที่คนอื่น ๆ พูด สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราโต้คลื่นดี สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น


กำไรก็ได้ เจ๊งก็ได้ แต่อย่างน้อยมันจะเกิดขึ้นแน่นอน เราไม่ได้กล้าแบบกล้าบ้าบิ่น แต่เรากล้าที่จะทำหนัง เพราะเราเชื่อในสิ่งที่เราทำ” จิระ มะลิกุล กล่าว