วีณา จันทนทัศน์ เจ้าแม่แห่งการออกแบบ แสตมป์ในหลวง

เรื่องโดย : รุ่งนภา พิมมะศรี

เป็นเวลา 134 ปีแล้วที่เมืองไทยริเริ่มกิจการไปรษณีย์ และมีตราไปรษณียากร หรือแสตมป์ ในเวลาร้อยกว่าปี ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้ออกแสตมป์มาแล้ว 1,132 ชุด เฉพาะแสตมป์ที่บันทึกเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มีมากถึง 79 ชุด 353 แบบ

ผู้อยู่เบื้องหลังแสตมป์ดวงสวยทรงคุณค่านั้นมีหลายคน หลายหน้าที่ มีนักออกแบบแสตมป์หลายคน แต่คนที่ครองตำแหน่งผู้ออกแบบแสตมป์ในหลวงมากที่สุดในไปรษณีย์ไทยคือผู้หญิงคนนี้

วีณา จันทนทัศน์ เจ้าของผลงานการออกแบบแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด 11 ชุด และยังพ่วงตำแหน่ง “เจ้าแม่แสตมป์ปีใหม่และผ้า” ซึ่งเธอเพิ่งเกษียณอายุงานในตำแหน่ง หัวหน้าส่วนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปรษณีย์ไทย เมื่อปลายปีที่แล้ว

หลังจากที่ทำงานมานาน 30 ปี วีณาให้ข้อมูลและเล่าขั้นตอนการสร้างดวงแสตมป์ว่า ไปรษณีย์ไทยออกแสตมป์เป็นประจำปีละหลายชุด มีชุดประจำ เช่น กาชาด ปีใหม่ วันวิสาขบูชา วันพ่อ วันแม่ และชุดเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ

Advertisment

ในแต่ละชุดที่จะออกแสตมป์ พอมีโจทย์ว่าจะทำแสตมป์เกี่ยวกับอะไรแล้ว ทีมออกแบบก็เอาโจทย์มาคุยกันว่า ใครจะเป็นคนออกแบบในชุดนั้น ซึ่งจะคิดและพิจารณากันว่า ใครถนัดอะไร ยกตัวอย่างคนที่ถนัดเขียนการ์ตูนก็ได้ออกแบบแสตมป์ชุดวันเด็ก ใครถนัดเทคนิคคอมพิวเตอร์ ก็อาจจะได้ทำแสตมป์ชุดวันสื่อสาร

วีณาเรียนจบคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เธอชอบวาดภาพมาตั้งแต่ต้น และเน้นออกแบบแสตมป์ด้วยเทคนิคการวาดสีน้ำมาตั้งแต่แรกเข้าทำงานจนเกษียณ เธอบอกว่า นักออกแบบแสตมป์รุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบงานวาดกันแล้ว

แต่เธอพยายามทำงานวาดให้รุ่นน้องดูเป็นตัวอย่าง เพราะรู้สึกว่าภาพวาดมันมีขั้นตอนการทำงานที่รู้สึกว่าดูมีค่า “แต่เขาจะทำต่อหรือเปล่าก็ไม่รู้” เธอว่า

“แต่ละคนมีไอเดียไม่เหมือนกัน เรามีลูกน้อง เราก็ไม่ไปบล็อกความคิดเขา เราให้เขาคิดอิสระ ซึ่งมันจะทำให้ผลงานแตกต่างกัน สมมติเราไปบอกว่า คุณต้องทำอย่างนี้นะ มันก็คือไอเดียเรา มันไม่โอเค เราอยากให้มันหลากหลาย ซึ่งมันอาจจะออกมาดีกว่าที่เราคิด”

Advertisment

จากขั้นตอนการแบ่งงานกันแล้วว่า ใครจะออกแบบ ผู้ออกแบบต้องหาภาพต้นแบบตามหน่วยงาน เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปต์หาว่าจะเอาภาพไหนที่เหมาะสม แล้วเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา

“คณะกรรมการมีประมาณ 10 คน ถ้ากรรมการติอะไรก็ไปปรับแก้ตรงนั้น บางครั้งคณะกรรมการบอกว่า ไม่ชอบเลย ออกแบบใหม่เถอะ ก็เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ไปเลย แล้วหลังจากนั้น ถ้าคณะกรรมการเห็นชอบแบบก็ลงมือวาดแบบจริง พอวาดแบบจริงเสร็จก็สแกนแบบจากแบบที่เราวาด ใส่ตัวหนังสือประกอบแล้วพรินต์ใหม่ พรินต์เสร็จก็ทำไฟล์ส่งโรงพิมพ์ ทำงานกันค่อนข้างพิถีพิถันกว่าแสตมป์จะออกไป รายละเอียดต้องเหมือน ความถูกต้องต้องมาก่อน”

ในกระบวนการออกแบบ ใช้เวลามากน้อยแล้วแต่ความยากง่ายของแบบ และจำนวนภาพ ถ้าชุดไหนหลายดวงก็ใช้เวลานาน สำหรับการออกแบบแสตมป์ในหลวงและพระราชวงศ์ วีณาบอกว่า ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเป็นที่สุด

“เราต้องคำนึงถึงความถูกต้องของอะไรหลายอย่าง และที่สำคัญต้องให้เกียรติพระองค์ท่าน ก็คือจะวางตัวหนังสือหรืออะไรต้องวางไว้ข้างล่างหมด รูปที่เลือกมาเป็นต้นแบบต้องสวยงามและเหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ด้วย บางภาพมีการตกแต่งพิเศษ แต่ต้องไม่ให้ขัดตาหรือผิดจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น แสตมป์ในหลวง แสตมป์พระราชวงศ์กว่าจะออกไปแต่ละชุด ในหลวงต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ท่านต้องทอดพระเนตรทุกชุด” วีณาบอก

“แต่ชุดอื่น ๆ ถึงแม้ไม่ใช่ชุดของในหลวง พระราชวงศ์ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง อย่างชุดปู ต้องถูกต้องตามที่นักวิชาการเขาเคยเห็นมา เราวาดแล้วต้องเอาไปให้เขาดู เอาสีไปด้วย ไปแก้ให้เขาเห็นว่าสีถูกแล้ว เหมือนเป๊ะแล้ว”

เมื่ออธิบายขั้นตอนการทำงานให้เห็นภาพแล้ว เจ้าแม่แห่งการออกแบบแสตมป์ในหลวงจึงเล่าถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบชุดแสตมป์ในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ละชุดที่เธอออกแบบ

“ชุดแรกที่ทำคือ ชุดพระอัจฉริยภาพทางด้านโทรคมนาคม ออกปี 2540 ทำเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ไอเดียเป็นเรื่องโทรคมนาคม ที่ท่านใช้ดาวเทียมสอนทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนไกลกังวล ชุด 60 ปีครองราชย์ เมื่อปี 2549 เน้นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านทรงทำเพื่อประชาชน เวลาท่านทรงงานก็จะมีแผนที่ มีกล้องถ่ายรูป ดินสอ เราก็เอามาใส่ในแบ็กกราวนด์ เป็นภาพการทรงงานในพื้นที่ทุรกันดารหมดเลย ท่านไปแก้ไขสารทุกข์สุกดิบของประชาชน เลือกรูปถ่ายมาเป็นต้นแบบในการวาด

ชุดปี 2551 ที่เป็นสีชมพู ช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์สีชมพู เป็นสีสันสดใสสวยงาม คอนเซ็ปต์เป็นเรื่องที่พระองค์ชอบถ่ายรูป

ชุดปี 2553 ในหลวงทรงเกี่ยวข้าว มีติดเมล็ดข้าว เริ่มจากโรงพิมพ์เขาเสนอว่า สามารถพิมพ์แสตมป์บนพื้นผิววัสดุอื่นได้ ไม่ใช่แค่กระดาษ และในต่างประเทศเขาติดเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ เราก็มาคิดว่า ในหลวงทรงเกี่ยวข้าว น่าจะติดเมล็ดข้าว ก็ถามโรงพิมพ์ว่า ติดเมล็ดข้าวลงไปได้ไหม เขาก็รับปากว่าได้ ก็เป็นสิ่งแปลกใหม่ในวงการ

ชุดวันดินโลก ปี 2556 หลังจากที่ UNESCO ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาฯ เป็นวันดินโลก เราเอาภาพเหรียญวันดินโลก และภาพดินที่พระองค์ท่านทรงแก้ปัญหาได้แล้วมาไว้บนแสตมป์

ชุดปี 2557 เป็นภาพจากโครงการชั่งหัวมัน ที่พระองค์ท่านทำกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า เลี้ยงวัว มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ปลูกพืช และเอาผลผลิตมาขาย ท่านทำครบวงจร เป็นผลงานที่พระองค์ท่านภูมิใจ

ชุดทรงพระสรวล เมื่อปี 2549 เป็นคอนเซ็ปต์ภาพที่ท่านยิ้ม ปกติ พระพักตร์ท่านจะนิ่ง แต่ผู้ใหญ่บอกว่าอยากได้ภาพในหลวงทรงยิ้มสักหกรูป เราก็ไปหาภาพต้นแบบมาแล้วมาวาด

ชุดครบรอบ 60 ปีราชาภิเษกสมรส เมื่อปี 2553 คิดว่าน่าจะมีอะไรที่แปลกใหม่ก็เลยทำเป็นรอยปรุรูปหัวใจเป็นครั้งแรกของแสตมป์ไทย และมีเทคนิคพิเศษพิมพ์คริสตัลสำหรับแสตมป์ที่ทำเป็นสินค้าพิเศษ ส่วนอันที่ขายจริงเป็นพิมพ์เลื่อมสีเงิน

ชุดปี 2558 เป็นชุดที่ภูมิใจมาก เป็นชุดแสตมป์ 4 ดวง คอนเซ็ปต์เป็นเรื่องพลังงานกับธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เราอยากจะทำอะไรพิเศษในเรื่องพลังงาน จะทำเรื่องเดียวก็ยังไงอยู่ ถ้าดวงเดียวมันจะแน่น และทำไม่ครบคอนเซ็ปต์ ชุด 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ปี 2559 เป็นภาพจากกรมการข้าว ที่ในหลวงและสมเด็จพระราชินีทรงเกี่ยวข้าว แต่ภาพจริงพระองค์ยืนห่างกัน ทางกรมการข้าวบอกว่า อยากให้ท่านใกล้กันอีกหน่อย ก็เลยมีการตกแต่งภาพให้ทั้งสองพระองค์ทรงยืนใกล้กันมากขึ้น

ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อปี 2550 เป็นแสตมป์ชุด 9 ดวง 8 ดวงเป็นคอนเซ็ปต์พระองค์ท่านในช่วงวัย 10-20-30-40-50-60-70-80 พรรษา และดวงที่ 9 ตรงกลางช่วงที่ทรงผนวช ดวงนี้พิมพ์เทคนิคพิเศษเป็นภาพโฮโลแกรม ของสมเด็จพระนางเจ้าฯก็มีชุดคอนเซ็ปต์เดียวกันนี้เหมือนกัน ในตอนที่พระองค์ท่านพระชนมพรรษา 80 พรรษา”

วีณาบอกว่า ชุดที่ใช้เวลาออกแบบนานที่สุดคือ ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เพราะมีหลายดวง แต่ถ้าถามถึงความประทับใจ “ชอบทุกชุด มีความหมายทุกชุด ไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ภูมิใจ” เธอบอกพร้อมยิ้มปลื้มปริ่มตลอดการเล่าเรื่องราวออกแบบแสตมป์

หลังจากเกษียณไม่ต้องออกแบบแสตมป์แล้ว วีณาก็ยังคงวาดภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งภาพล่าสุดที่เธอวาดนั้น นำภาพต้นแบบมาจากภาพหน้าพระบรมโกศ

เธอบอกว่าเป็นภาพที่วาดนานที่สุดเพราะรายละเอียดเยอะ สำหรับภาพนี้ไม่ได้วาดเพื่อทำแสตมป์ อยากวาดด้วยใจที่รักและระลึกถึงพระองค์ท่านเท่านั้น

ช่วงนี้ไปรษณีย์ไทยกำลังจัดนิทรรศการแสตมป์ของพ่อ 2493 เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นำแสตมป์เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด 79 ชุด รวม 353 แบบ จัดแสดงที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ใครสนใจเรื่องราวของในหลวงบนดวงแสตมป์สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้