คุณค่าและความหมายของชีวิต “ปู ไปรยา” ในบทบาททูตสันถวไมตรี UNHCR

พิราภรณ์ วิทูรัตน์: เรื่อง 

หลายคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า นอกจากบทบาทนักแสดงและนางแบบ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ยังสวมหมวกใบสำคัญในการรับหน้าที่ทูตสันถวไมตรีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นับเป็นคนไทยคนแรกรวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้าดำรงตำแหน่งนี้

นับตั้งแต่วันแรกที่เขียนอีเมล์ถึง UNHCR ด้วยตัวเองจากการเห็นภาพชาวโรฮีนจาตามหน้าข่าวเมื่อ 4 ปีก่อน ล่าสุดเธอได้ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในค่ายกูตูปาลอง ประเทศบังกลาเทศเป็นครั้งแรก เราได้คุยกับปู-ไปรยากับบทบาทครั้งสำคัญที่เธอกล่าวว่า หน้าที่ตรงนี้ทำให้พบกับความหมายและคุณค่าในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

เธอเล่าว่า ประสบการณ์การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทัศนคติและมุมมองในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป และยังทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากขึ้น ตลอดระยะเวลาการลงพื้นที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่นึกถึง และนั่นทำให้เธออยากใช้โอกาสที่มีท่ามกลางแสงสปอตไลต์เป็นกระบอกเสียงให้กับคนทั่วไปเข้าใจถึงสถานการณ์ของชาวโรฮีนจามากยิ่งขึ้น

“ปูได้พบกับชายหญิงคู่หนึ่งเขาใช้เวลาเดินเท้ามาถึงค่ายกว่า 12 วัน ต้องเดินผ่านป่าผ่านเขามาพร้อมกับลูกเล็กอายุ 1 ขวบ ตลอดทางทั้งครอบครัวไม่มีอะไรตกถึงท้อง พอเข้าวันที่ 4 เด็กเสียชีวิตระหว่างเดินทาง เขาก็มาถึงค่ายเพียงสองคน”

เรื่องราวสะเทือนใจในค่ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ปูเล่าอีกว่า มีผู้หญิงที่เสียลูกไปในขณะเดินทางลี้ภัยด้วยเรือ ซึ่งเป็นจังหวะที่มีคลื่นซัดเข้าอย่างแรง ทำให้ลูกวัย 8 เดือนจมหายไปกับทะเลต่อหน้าต่อตา

“ในฐานะเพื่อนมนุษย์ปูได้แต่พูดคำว่า ขอโทษ ปูรู้สึกว่าคำขอโทษของปูมันไม่ดีพอ ทำไมคนคนหนึ่งต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้ ทำไมปูที่มีโอกาสที่ดี
มีทุกอย่างที่ดี ถึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เราอยากช่วยเขา แต่ปูคนเดียวไม่สามารถทำได้ต้องอาศัย international community คนทั้งโลกทุกประเทศร่วมกันหาทางแก้วิกฤตผู้ลี้ภัยนี้”

วิธีการช่วยเหลือของ UNHCR จึงต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “long-term plan” เพราะสถานะของผู้ลี้ภัยจะคงอยู่เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี องค์กรจึงมีการรณรงค์การบริจาคในระยะยาว เพราะการช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี ส่วนเรื่องราวสุดประทับใจในค่ายปูบอกว่า ตั้งแต่การไปลงพื้นที่ประเทศซีเรียจนถึงครั้งนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างหนึ่งก็คือ ความแข็งแกร่งของเด็กเล็ก ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยเธอไม่เคยได้ยินเสียงเด็กร้องไห้เลยสักครั้ง และท้ายที่สุดสิ่งที่ทุกครอบครัวมีเหมือนกัน คือ หากประเทศต้นทางปลอดภัยแล้ว ทุกคนต้องการกลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว

“ปูไปเยี่ยมมาหลายค่ายแต่ปูไม่เคยได้ยินเสียงเด็กร้องไห้เลย เด็กที่เดินมาได้ 7 วันโดยไม่มีน้ำไม่มีข้าว ชั่วโมงนั้นน้ำตาก็ไม่ช่วยอะไรคุณแล้ว มันทำให้ปูคิดว่า ถ้าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดกับตัวปู ปูจะสามารถมีทัศนคติกับสิ่งเหล่านี้ได้แบบเขามั้ย”

ดูเหมือนว่าการไปลงพื้นที่ครั้งนี้จะทำให้ปูเข้าใจกับสถานการณ์ของชาวโรฮีนจามากกว่าการเห็นตามสื่อ ตรงนี้เราเลยถามว่ากับกระแสที่หลายคนมองว่า การไปช่วยชาวโรฮีนจาดูจะเป็นเรื่องที่เกินตัวไปเสียหน่อยสำหรับประเทศไทย ซึ่งเธอมองว่า ความเมตตา การเข้าวัดทำบุญ และขนบที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตนี้ และเธอก็ไม่อยากใช้วิธีโน้มน้าวใจให้ใครมาเชื่อ เพียงแต่ต้องสร้างความเข้าใจถึงวิกฤตครั้งนี้อย่างลึกซึ้ง ที่ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของประเทศต้นทาง แต่วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกต้องให้ความสำคัญมากที่สุดปัญหาหนึ่ง

ปูไม่ชอบเรียกมันว่า ‘ปัญหา’ เพราะความทรมานของคนคนหนึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องที่เราควรจะช่วย จริง ๆ เราเป็นประเทศที่น่าชื่นชม เพราะเป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสงครามอินโดจีน ปูเชื่อว่าคนไทยสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ อย่างแรกคือ รับรู้และมีความเมตตาก่อน เข้าใจว่าเขาคือเพื่อนมนุษย์ อย่างที่สอง ศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัย อย่างที่สาม งบประมาณ เราต้องการความช่วยเหลือในด้านนี้ แต่สิ่งที่ปูยังให้ความสำคัญเหมือนเดิม คือ ทัศนคติ เพราะทัศนคติสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

สิ่งหนึ่งที่ปู-ไปรยามีความกังวลเกี่ยวกับชาวโรฮีนจามากที่สุด คือ อนาคตของผู้ลี้ภัย เพราะกว่า 55% เป็นเด็กเล็ก เมื่อวันหนึ่งเด็กเหล่านี้โตขึ้นในขณะที่เขายังเป็นเด็กไร้สัญชาติและอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย เราจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ ทั้งหมดจึงกลับไปที่คำตอบเดิม คือ เธอต้องการให้ทุกคนทุกประเทศตระหนักและให้ความสำคัญทั้งด้านการช่วยเหลือและการจัดสรรงบประมาณ

“การช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำให้ปูมีคุณค่า” นักแสดงสาวกล่าวด้วยแววตาที่เราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นกับภารกิจครั้งนี้ เมื่อถูกถามว่า เธอจะทำงานตรงนี้ไปอีกนานแค่ไหน “จะทำไปตลอดชีวิตค่ะ” เธอตอบ

“ปูไม่ได้เรียนหรือมีความรู้ด้านนี้เท่ากับเจ้าหน้าที่ UNHCR ปูเป็นเพียงนักแสดงและนางแบบ แต่ปูเชื่อว่าเสียงของนักแสดงและนางแบบอาจจะมีคุณค่าในการช่วยเหลือและเป็นกระบอกเสียงให้กับเขาได้ เรียกว่าตอนนี้ปูอยู่ในขั้นตอนฝึกงานแล้วกัน จะพยายามพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้อย่างลึกซึ้ง ปูดีใจที่ได้ร่วมงานกับ UNHCR เพราะปูค้นหาคุณค่าในชีวิตปูมานานมาก การช่วยเหลือคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตปูมีคุณค่า ปูอยากจะทำไปตลอดเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้ปูมีความสุขที่จะได้ทำ”