ไอคอนคราฟต์ พื้นที่นำเสนอคุณค่าความเป็นไทย หนึ่งไฮไลต์ ณ ไอคอนสยาม

ไอคอนคราฟต์
เหลืออีกอึดใจเดียวเราก็จะได้พบกับอภิมหาโปรเจ็กต์ “ไอคอนสยาม” โครงการแลนด์มาร์กระดับโลก ณ กรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วย ศูนย์การค้า 2 อาคาร และคอนโดมิเนียม 2 อาคาร หันหน้ารับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างโดดเด่น ซึ่งจะจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ด้วยความที่ไอคอนสยามมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่อนำเสนอคุณค่าความเป็นไทยสู่สายตาคนทั่วโลก ไม่ใช่เพียงรูปแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในเท่านั้น ที่จะสะท้อนความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก แต่ในไอคอนสยามยังมีพื้นที่พิเศษเพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยโดยเฉพาะ ในชื่อว่า “ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT)”

ไอคอนคราฟต์ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ของไอคอนสยาม มีพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตร เป็นพื้นที่รวบรวมงานหัตถศิลป์แบบไทย และงานคราฟต์ร่วมสมัยมานำเสนอ เปิดโอกาสให้ช่างฝีมือไทยได้ต่อยอดความสามารถ เพิ่มคุณค่าในผลงาน เพิ่มพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลงานของตนเองในโครงการ ซึ่งจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยในพื้นที่ไอคอนคราฟต์จะจัดแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กว่า 5,000 ชิ้น โดยช่างฝีมือไทยกว่า 300 ราย

นายไชยยง รัตนอังกูร ผู้บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ไอคอนคราฟต์ถูกนำเสนอภายใต้คอนเซ็ปต์ “innovative craft designed for everyday life” เป็นการนำความงามแบบเก่ามาปรับให้เป็นงานสมัยใหม่ เกิดเป็นศูนย์กลางงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ไทยแบบร่วมสมัย โดยนักออกแบบรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสนำทักษะงานช่างจากอดีตมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ มีความแปลกใหม่ สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ไอคอนคราฟต์

การจัดสรรพื้นที่ของไอคอนคราฟต์ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสาขาวิชาชีพของช่างสิบหมู่ของไทย แบ่งเป็น 7 โซนหลัก ได้แก่ 1.The Smith งานช่างทอง ช่างโลหะต่าง ๆ 2.The Painter งานเพนต์ งานวาดเขียน งานลงรักปิดทอง 3.The Sculptor งานปั้น 4.The Carpenter งานช่างไม้ 5.The Weaver งานช่างทอ 6.The Gastronomer งานเกี่ยวกับอาหาร และ 7.The Therapist งานแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สำหรับบำบัดและดูแลสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีโซนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็น house brand ของไอคอนคราฟต์ โซนเฉพาะสำหรับนักออกแบบรับเชิญที่จะเข้ามาจัดแสดงผลงานแบบหมุนเวียน โซนที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลงานได้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของศิลปินนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญ และโซนพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย

นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ไอคอนคราฟต์จะเป็นเสมือน multibrand store ขนาดใหญ่ที่รวบรวมงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ของคนไทยมานำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัย โดยทำการคัดเลือกผู้ประกอบการและศิลปินนักออกแบบทั้งรายใหม่และรายเดิมที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง รวมถึงผู้ประกอบการและนักออกแบบจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งไอคอนสยามได้เข้าไปช่วยฝึกทักษะให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำงาน การขาย การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยและใช้งานได้จริง

“นอกจากจะจัดแสดงและจำหน่ายผลงานของช่างฝีมือไทยแล้ว ไอคอนคราฟต์ยังเปิดพื้นที่ campus zone ให้นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับงานออกแบบและงานช่างศิลป์ด้านต่าง ๆ ได้นำผลงานมาจำหน่าย พร้อมกับทดลองตลาดเพื่อนำไปปรับปรุงผลงาน พัฒนาแนวทางการตลาดให้ดียิ่งขึ้น เป็นการสนับสนุนและบ่มเพาะอนาคตของชาติให้เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในอนาคต โดยในช่วงแรกได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำผลงานการออกแบบซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ที่มีความแปลกใหม่ และผ่านการคัดเลือกแล้วของทั้งสองสถาบันมาจัดแสดง ส่วนในอนาคตจะเปิดพื้นที่ต้อนรับงานคราฟต์จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ และผลงานจากทั่วโลกให้มาจัดแสดงที่นี่ด้วย”

ในส่วนการออกแบบพื้นที่ ไอคอนคราฟต์ได้สถาปนิกชื่อดัง นายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ออกแบบ

สำหรับแนวคิดการออกแบบ ดวงฤทธิ์บอกว่า ด้วยความที่ไอคอนคราฟต์ตั้งอยู่บนพื้นที่ชั้น 4 และชั้น 5 ของไอคอนสยาม ฝั่งที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่โดดเด่นมาก จึงมีไอเดียที่จะออกแบบรูปทรงตัวอาคารให้เป็นเสมือนหัวแหวนเพื่อดึงดูดความสนใจมากขึ้น

“หัวใจของการออกแบบ คือ ให้ความรู้สึกแบบไทย แต่มีความทันสมัยอยู่ร่วมกับปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน โดยได้นำรากของวัฒนธรรมและงานฝีมือมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมในมุมมองแบบใหม่ ซึ่งเป็นมุมมองของสถาปนิก นอกจากนั้นยังได้ผสมผสานกับแนวคิดการสร้างงานแบบ authenticity มีความตรงไปตรงมาตั้งแต่ระดับโครงสร้าง คือ สถาปัตยกรรมในไอคอนคราฟต์จะต้องสวยงามทั้งภายนอก และมีโครงสร้างที่เหมือนกันอยู่ด้านในด้วย ไม่ได้เป็นเพียงโครงธรรมดาที่ตกแต่งสวยงามเฉพาะด้านนอกเท่านั้น”

ส่วนผู้มารับหน้าที่อาร์ตไดเร็กเตอร์ควบคุมการออกแบบตกแต่งภายใน ได้แก่ ม.ล.ภาวิณี สันติศิริ ที่ได้หยิบยกอาชีพช่างสิบหมู่ส่วนหนึ่งมาเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจในการจัดสรรพื้นที่สำหรับนำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือไทย

ม.ล.ภาวิณีให้ข้อมูลว่า พื้นที่ทั้ง 7 โซนของไอคอนคราฟต์ จะมี art installation หรืองานศิลปะประจำโซน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและภูมิปัญญาเบื้องหลังผลงานหรือผลิตภัณฑ์ในโซนนั้น ๆ โดยได้รับเกียรติจากศิลปิน นักออกแบบที่มีชื่อเสียง หรือปรมาจารย์ทางด้านงานคราฟต์ มาร่วมสร้างสรรค์ art installation ทั้ง 7 ชิ้น ได้แก่ โซน The Smith โดย จิระเดช และพรพิไล มีมาลัย เจ้าของรางวัล Asian Cultural Council Fellowship Awards New York ปี 2010 โซน The Painter โดย พลอย จริยเวช นักเขียน นักแปล และนักออกแบบคอนเซ็ปต์ชื่อดัง

โซน The Sculptor โดย อุดม อุดมศรีอนันต์ เจ้าของรางวัล Grand Prize Award จากงาน Design of the Year 2004 โซน The Carpenter โดย สุวรรณ คงขุนเทียน เจ้าของรางวัล Grand Prize Award จากงาน Design of the Year 2004 โซน The Weaver โดย น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญการผสมผสานศิลปะ สิ่งทอ และแฟชั่นเข้าด้วยกัน เจ้าของรางวัล Design of the Year Award 2017 สาขา textile design โซน The Gastronomer โดย ผศ.เอกรัตน์ วงษ์จริต และโซน The Therapist โดย สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ชื่อดังระดับโลก และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

ไอคอนคราฟต์ หนึ่งไฮไลต์ที่ไอคอนสยามนำเสนอ มีกำหนดเปิดให้บริการพร้อมไอคอนสยาม ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ทันทีที่เปิดก็มีนิทรรศการไฮไลต์ คือ นิทรรศการ “สยามทำมือ” ผลงานของ วิภู ศรีวิลาส ศิลปินไทยชื่อดังที่ประสบความสำเร็จในระดับสากล ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศออสเตรเลีย มานานกว่า 15 ปี และมีงานแสดงผลงานเซรามิกในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะจัดแสดงต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562

ไอคอนสยาม