หมู Asava ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ สู่ชุดราตรีมิสยูนิเวิร์ส 2018

ในการประกวดนางงามทุกเวที หนึ่งในรายละเอียดที่แฟน ๆ นางงามสนใจอย่างมากก็คือ ชุดราตรีในรอบตอบคำถาม 10 คนสุดท้าย เพราะนอกจากการแสดงความสามารถในการตอบคำถามแล้ว ชุดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าประกวดยิ่งขึ้น

สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 รอบไฟนอลในวันที่ 17 ธันวาคมที่จะถึงนี้ หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือ “หมู อาซาว่า” ได้รับหน้าที่ออกแบบและรังสรรค์ชุดราตรีสำหรับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์อีกครั้ง หลังจากอาซาว่า (Asava) เป็นผู้ออกแบบชุดราตรีให้แก่ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ไปแล้วถึง 3 ปีก่อนหน้านี้

ชุดที่ตัวแทนสาวไทยจะสวมใส่ขึ้นเวทีปีนี้ถูกรังสรรค์ออกมาเป็นชุดราตรีเกาะอกระบายหางปลา (mermaid gown) สีแดง วัสดุหลักเป็นผ้าซิลก์เครปตัดต่อผ้าโปร่งตรงปลายผสมผสานกับงานปักคริสตัลสวารอฟสกี้ นำเสนอความเรียบหรูร่วมสมัยผสานความเป็นไทยอย่างลงตัว

 

พลพัฒน์ เผยว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบชุดนี้มาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ที่พระองค์เสด็จเยือนต่างประเทศค่อนข้างบ่อย ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างไฮแฟชั่นและลายปักไทย มีทั้งความสง่างาม ความละเอียดละออแต่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมความเป็นไทย ซึ่งเมื่อได้ไอเดียมาแล้วก็ต้องมีการนำมาปรับให้เข้ากับบุคลิกของ นิ้ง-โศภิดา กาญจนรินทร์ ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทยให้มีความลงตัวมากที่สุด

“จุดเริ่มต้นของชุดเริ่มจากตัวน้องนิ้ง ดูจากรูปร่าง บุคลิกภาพ และสิ่งที่เขาอยากใส่ ซิลูเอตแบบไหนที่จะส่งเขามากที่สุด อย่างแนทกับมารีญา ด้วยความที่เป็นนางแบบจึงง่ายที่จะนำเสนอซิลูเอตที่ค่อนข้างล้ำ เพราะทำงานกับเสื้อผ้ามาเยอะจึงสามารถใส่เสื้อผ้าได้หลายแบบ สำหรับนิ้งอาจจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านเสื้อผ้าน้อยกว่า จึงพยายามหาเสื้อผ้าที่มีเชปและส่งเขาให้ได้มากที่สุด หาโครงสร้างของเสื้อผ้าที่เกลี้ยงที่สุดเพื่อทำให้เขาดูโดดเด่น สีก็ควรจะเป็นแม่สีอย่างแดง เหลือง หรือน้ำเงิน เริ่มที่น้ำเงินก่อน เราก็รู้สึกว่ามันจะเข้มไป เลยตัดเหลือสองสีแล้วมาสรุปสุดท้ายที่สีแดง”

พลพัฒน์ยังบอกอีกว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เขาและทีมงานได้รวบรวมชุดราตรีจากผู้เข้ารอบ 15 คนสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์สในรอบ 3 ปีมาศึกษาถึงจุดเด่นและสถิติในการเลือกใช้สีและเทคนิคการตัดเย็บ รวมไปถึงขั้นตอนการออกแบบที่พลพัฒน์เล่าว่า ปีนี้เป็นปีที่มีการใช้แพตเทิร์นมากที่สุดถึง 80 ชิ้น งานปักที่ใช้เพชรสวารอฟสกี้ในปริมาณที่เขาแอบกระซิบว่า มูลค่าของชุดทั้งตัวสามารถซื้อทาวน์เฮาส์สักหลังได้เลยทีเดียว

“ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีแนท น้ำตาล และมารีญา เราพบว่าส่วนใหญ่จะมีการใช้โทนสีชุดที่สีเงินและสีทอง ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนก็บอกว่า เบื่อชุดสีเงินสีทองแล้ว เราก็นำมาปรับให้ชุดเราเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ทำงานอย่างหนัก ช่างปักเลิกงานกันตีสี่ตีห้ามาเกือบสองอาทิตย์แล้ว เฉพาะปริมาณเพชรอย่างเดียวก็หลายกิโล มีการเอาลายปักของชุดไทยโบราณช่วงปี 1960-70 เข้ามา ซึ่งเป็นงานปักมือทั้งหมด และเป็นลายปักที่มีความร่วมสมัย ผสมเรื่องความนุ่มนวลของผ้าลงไปด้วยนิดหนึ่ง เช่น ผ้าที่มีเท็กซ์เจอร์ของความนุ่ม เบา สบาย จะช่วยส่งบุคลิกนิ้งให้ดูกลมมากขึ้น”

 

 

นอกจากนี้ หมู-พลพัฒน์ยังได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 19 ดีไซเนอร์ไทยผู้ร่วมออกแบบชุดผ้าไหมไทยสำหรับผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 สำหรับสาวงาม 5 ประเทศในงาน Thai Night ด้วย ซึ่งโจทย์ที่ยากสำหรับการออกแบบในส่วนนี้ คือ ขั้นตอนวัดตัวที่เป็นการส่งรายละเอียดสัดส่วนมาให้ ทีมออกแบบไม่ได้วัดตัวนางงามเอง ทำให้ต้องทำการบ้านเยอะพอสมควร

 “สรีระของฝั่งยุโรปหรือเซาท์อเมริกาค่อนข้างต่างจากเอเชีย และผ้าไทยไม่ใช่ผ้าที่มีความยืดหยุ่น ทำให้กะเกณฑ์ไซซ์ยาก แต่เราก็ไม่ได้ใช้ผ้าไทยอย่างเดียว มีการผสมเนื้อผ้าอย่างอื่นเข้าไปด้วย ซึ่งโจทย์ของดีไซเนอร์จริง ๆ แล้วไม่ใช่การใช้ผ้าไทยด้วยความรู้สึกแบบอนุรักษนิยม แต่เราต้องทำให้คนใส่รู้สึกสบายและถูกใจก่อน เหมือนกับการใส่เสื้อผ้าทั่ว ๆ ไป มันเป็นการคิดในเชิงมุมกลับมากกว่าที่เราจะอนุรักษ์ผ้าไทยในมุมตรง”