ฐิติพงศ์ ผลธนะศักดิ์ ผู้บริหาร “กาโตะ” วัย 27 ปี ต่อยอด-พัฒนา ต้องไม่ลืมรากเหง้าแบรนด์

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นดุเดือดตลอดเวลา ทั้งแบรนด์เก่าปรับโฉมใหม่ และแบรนด์น้องใหม่มาแรง ขณะเดียวกันในบรรดาหลายสิบยี่ห้อตามท้องตลาดก็มีไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่เราเห็นหน้าเห็นตากันตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม “กาโตะ” คือหนึ่งในแบรนด์ที่เรากำลังพูดถึง

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ พงศ์-ฐิติพงศ์ ผลธนะศักดิ์ ทายาทเพียงคนเดียวของน้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวเจ้าดังกับมุมมองแบบผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งทางเจ้าตัวบอกกับเราด้วยว่า นี่เป็นการให้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟครั้งแรกในชีวิตเลยก็ว่าได้

ปัจจุบันพงศ์ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยวัยเพียง 27 ปี หากมองจากคนนอกก็อาจจะคิดว่า ลูกเจ้าของกิจการคงจะเข้ามานั่งแท่นผู้บริหารเมื่อไหร่ก็ได้ พูดง่าย ๆ ว่าอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถหรือศักยภาพในการบริหารมากนัก แต่ที่จริงแล้วพงศ์ถูกเลี้ยงดูมาตามแบบฉบับทายาทนักธุรกิจตั้งแต่เด็กเลยก็ว่าได้

เขาเริ่มต้นเล่าว่า คุณพ่อคุณแม่มักจะพาเข้าไปคลุกคลีในโรงงานด้วยเสมอ หรือกระทั่งตอนที่ยังเรียนไม่จบ ทางครอบครัวจะคอยถามไถ่ไอเดียที่มีต่อแบรนด์มาตลอด ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของบริษัททุกครั้ง เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมพงศ์จึงเลือกศึกษาต่อที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็เป็นการเลือกเรียนในคณะและสาขาที่สามารถนำความรู้มาต่อยอดพัฒนาแบรนด์ในอนาคตได้

ขณะเรียนพงศ์มักจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวิชาการของคณะบ่อยครั้ง เขาเคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารระดับประเทศ ประจำปี 2557 พร้อมเพื่อนนิสิต เวลาว่างจากการเรียนพงศ์จะเข้าไปปรึกษาอาจารย์เป็นการส่วนตัว เพื่อนำความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้กับแบรนด์อยู่เรื่อย ๆ ความขยันใฝ่รู้ที่ว่าส่งให้พงศ์สามารถสอบผ่านโครงการแลกเปลี่ยนของทางคณะไปศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษ

จากนั้นจึงเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาโททันที ภายหลังเรียนจบพงศ์เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัวเป็นเวลา 2 ปีเต็มแล้ว

พงศ์พาเราย้อนไปดูเส้นทางธุรกิจตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มมาก่อนหน้านี้ เขาเล่าว่าเดิมทีทางครอบครัวทำกิจการโรงงานขนมมาก่อน ชื่อว่า “ขนมตุ๊บตั๊บตรามังกร” ที่หลายคนอาจจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่บ้าง หลังจากเปลี่ยนมือสู่เจเนอเรชั่นที่สองจึงมีการปรับเพิ่มสินค้าให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งก็คือน้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวกาโตะที่เราเห็นกันปัจจุบัน

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว น้ำมะพร้าวถูกทิ้งขว้างมาก เหมือนกับว่าคนเฉาะเอาไปเฉพาะเนื้อแต่น้ำยังไม่มีใครเห็นค่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เขานำน้ำมะพร้าวเหลือทิ้งมาแปรรูปทำเป็นวุ้นมะพร้าว เรามองว่ามันน่าจะแปลกดีถ้าเอาวุ้นมะพร้าวมาใส่ในน้ำผลไม้ วิทยาการนี้เกิดจากนักวิทยาศาสตร์ฟิลิปปินส์ เพราะทางประเทศเขามีมะพร้าวค่อนข้างเยอะ พอน้ำมะพร้าวล้นตลาดก็ไปทำให้คลองเน่าเสีย อาจารย์ที่ ม.เกษตรฯเล็งเห็นว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่เมืองไทยจึงนำมาใช้บ้าง”

หลังจากพ่อแม่ของพงศ์ได้ไอเดียมาจากผู้เชี่ยวชาญ บวกกับในครอบครัวมีผู้ที่เรียนจบหลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารมาโดยตรง กรรมวิธีการเปลี่ยนน้ำเหลือทิ้งสู่วุ้นมะพร้าวจึงเกิดขึ้น พงศ์บอกว่า การทำวุ้นมะพร้าวที่โรงงานจะมีวิธีแบ่งสัดส่วนคล้ายกับการทำซีเอสอาร์ นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมอธิบายให้ความรู้ชาวบ้านโดยตรงถึงคุณลักษณะโรงงานผลิตวุ้นมะพร้าวที่ดีตามหลักจีเอ็มพี รวมถึงมีการจดทะเบียนอาหารตราฮาลาลด้วย เพราะมองว่าจริยธรรมในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่งจากเจเนอเรชั่นที่สองสู่เจเนอเรชั่นที่สาม หลังเข้ามานั่งเก้าอี้รองกรรมการ พงศ์ได้นำไอเดียของตัวเองปรับแบรนด์ให้ดูใหม่และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตรงจุดมากขึ้น เขาบอกว่า หลัก ๆ คือกาโตะต้องเปลี่ยนให้ทันโลก

“เนื่องจากวัยของผมค่อนข้างใกล้กับกลุ่มเป้าหมายของกาโตะ เราเลยเข้าใจสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ดี ช่วงอายุของกลุ่มลูกค้าเราคือตั้งแต่เด็ก ๆ ถึงกลุ่มวัยรุ่นจนไปถึงผู้ใหญ่ตอนต้น คีย์เวิร์ดของเราคือ ต้องเปลี่ยนให้ทันโลก เพราะโลกมันหมุนเร็วมาก ถ้าคิดแบบเดิมทำแบบเดิมก็เปลี่ยนไม่ทัน มีการเพิ่มลูกเล่นให้แบรนด์ดูสนุกขึ้น ทันสมัยขึ้น พยายามแอ็กทีฟแบรนด์เรื่อย ๆ จะเห็นว่ามีรสชาติใหม่ออกมาทุกปีเพื่อให้เข้ากับยุค เพราะคนสมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว อย่างพรีเซ็นเตอร์ที่ดึงมาล่าสุดเราก็ต้องมองก่อนว่า แคแร็กเตอร์เขาเข้ากับแบรนด์มั้ย เขาดู energetic ดูสนุกสนานเข้ากับแบรนด์ก็เลยดึงตัวมา พวกนี้คือไอเดียที่ผมพยายามผลักดันให้แบรนด์ตอบโจทย์คนยุคนี้”

ระหว่างการพูดคุยเราเห็นภาพของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความแอ็กทีฟ สดใส สนุกสนานกับงานตลอดเวลา เมื่อถามว่าตั้งแต่เข้ามาบริหารเจออุปสรรคในการทำงานกับคนบ้างหรือไม่ พงศ์บอกว่า เขาต้องปรับตัวกับพนักงานรุ่นเก่าอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน ด้วยอายุและช่วงวัยที่ห่างกันพอสมควร พนักงานหลายคนเห็นตั้งแต่พงศ์ยังเด็ก ๆ บางคนทำงานที่นี่มา 20 ปี เมื่อวันหนึ่งมีคนอายุ 26-27 ปีเข้ามาเป็นเจ้านาย พนักงานเหล่านี้จึงยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในความคิดหรือศักยภาพของทายาทผู้บริหารวัยหนุ่มคนนี้เท่าไหร่นักอ่อนน้อมถ่อมตน บริสุทธิ์ใจ และไม่คิดร้ายต่อใคร คือสิ่งที่พงศ์ใช้ในการปรับตัวครั้งนี้

“ที่บ้านสอนตลอดว่า ไม่ว่าจะตอนเด็กหรือโตมาต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ผมใช้ตรงนี้เป็นหลัก อีกอย่างคือเรื่อง interpersonal skills เราจะบริหารคนหรือทำอะไร จำเป็นต้องรู้ว่าคนประเภทนี้ต้องเข้าไปคุยอย่างไร ตึงหรือหย่อนตอนไหน ปัญหามันเป็นเรื่องของช่วงอายุ ความคิดความอ่านไม่เหมือนกัน ผมว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ บางทีความคิดเราอาจจะไม่ตรงกับพนักงาน แต่ก็ไม่ใช่ไปมองว่าเขาคิดผิด แม้ว่าสิ่งที่เขาคิดจะถูกใจหรือไม่ผมจะพยายามคิดบวกเสมอ ยึดหลักว่าเราต้องอ่อนน้อมไม่ใช่เข้าไปวางมาดว่าเราเป็นลูกนายแล้วใช้คำพูดไม่ดี ซึ่งสุดท้ายพนักงาน
รุ่นเก่า ๆ เขาก็เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเรา ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่เคยข่มผู้ใหญ่เขาก็เอ็นดูเราไปเอง”

พงศ์บอกอีกว่า การเป็นลูกผู้บริหารที่พ่วงมาด้วยสถานะของ “ทายาท” ทำให้เขารู้สึกกดดันอยู่ไม่น้อย “ทำแล้วต้องดีกว่าเดิม ถ้าน้อยกว่าหรือเท่ากัน ผมถือว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร” คือสิ่งที่พงศ์ใช้อธิบายทิศทางการทำงาน ณ ตอนนี้ ตั้งแต่ตอนเด็ก เพื่อนรอบตัวมักจะพูดกับเขาว่า สบายและโชคดีที่มีธุรกิจรองรับไว้แล้ว แต่พงศ์กลับเห็นต่าง

และมองว่าหากใครไม่ได้ยืนในจุดนี้จะไม่รู้เลยว่ากดดันขนาดไหน ซึ่งเขาเองก็มีปรึกษาครอบครัวอยู่บ้าง แต่จากการที่ถูกเลี้ยงมาแบบลูกผู้บริหาร ค่อย ๆ ซึมซับขั้นตอนการทำงานตั้งแต่เล็ก

พงศ์จึงไม่ได้รู้สึกว่าต้องเข้าไปขอคำปรึกษาอย่างจริงจัง คล้ายกับเป็นการแชร์ไอเดียระหว่างพ่อแม่-ลูกมากกว่า ทำให้บรรยากาศการทำงานค่อนข้างรีแลกซ์

หนุ่มตี๋ใบหน้าเปื้อนยิ้มคนนี้นอกจากจะเอาจริงเอาจังกับการทำงานแล้ว เขามักจะใช้เวลาว่างไปกับสุนัขสัตว์เลี้ยงตัวโปรด “หมาผมเพิ่งคลอดลูกไปเลยครับเมื่อกี้ วัน ๆ ก็ยุ่งอยู่กับหมาเนี่ยแหละ” เขาเล่าพลางหัวเราะไปด้วย นอกจากเลี้ยงหมาแล้ว พงศ์ยังชื่นชอบการเล่นกีฬาเทนนิสและยกน้ำหนัก หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน พงศ์มองว่า การรักษาสุขภาพและสมดุลของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การทำงาน

ส่วนเป้าหมายของกาโตะในอนาคตพงศ์มองว่า การปรับกลยุทธ์แบรนด์ไปตามยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมและตระหนักอยู่เสมอคือ “FAN DNA” ของแบรนด์ ไม่ลืมรากเหง้าของแบรนด์ และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราคือใคร

“คำว่าเราคือใครคือต้องรู้ตัวเองก่อนว่า งานที่ทำคืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไร กับใคร พอเข้าใจทุกอย่างแล้วต้องรับรู้และรับฟัง บางคนเข้าใจแล้วมีแนวทางในการจัดการของตัวเอง แต่ไม่รับฟังคนอื่นเลย อย่างผมผมรู้ตัวว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะเก่งไปหมดทุกด้าน อาจจะมีคนเชี่ยวชาญมากกว่าเราก็ต้องรับฟังให้เป็น พอรับรู้แล้วต้องกล้าที่จะตัดสินใจทำ ก็ลงมือทำไปเลย” นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่อธิบายปิดท้าย