Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ เรื่องจริงไม่อิงนิยาย

มากกว่าคำว่าละครดราม่า ซีรีส์ “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ของผู้กำกับอายุน้อย “บอส-นฤเบศ กูโน” ผลงานละครจากค่ายจีดีเอช และนาดาว บางกอก ที่ร่วมกันผลิตซีรีส์ดีมีสาระ สอดแทรกข้อคิดและความรู้ในหลากหลายเรื่องราว ทั้งครอบครัว ความรัก และกีฬาไว้ในเรื่องเดียว

หลังจากออกอากาศได้ไม่นาน ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมมียอดวิวทางยูทูบนับล้านวิว ความฮิตของละคร “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่”

เป็นการนำพระเอกหน้าตาดีมารับบทเด็กออทิสติกจนเป็นที่ฮือฮา เมื่อ “ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร” หรือคนส่วนใหญ่รู้จักเขาในบท “ไผ่” พระเอก Hormones The Series ที่แสดงเรื่องนี้ได้ดี จนสลัดคราบพระเอกหล่อใสวัยทีนสุดเท่ กลายมาเป็นเด็กพิเศษที่ทำได้ดี ทั้งบุคลิก ท่าทางและคำพูดในบท “พี่ยิม” ประกบคู่กับ “น้องโด่ง” รับบทโดย สกาย-วงศ์รวี นทีธร สองพระเอกจากซีรีส์ Hormones

“Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” เป็นความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่นของผู้กำกับวัย 25 ปี ที่อยากทำละครสะท้อนสังคมและให้ความรู้คนมากกว่าดราม่าน้ำตาร่วง แต่แฝงไปด้วยสาระความรู้เกี่ยวกับกีฬาและเด็กออทิสติกได้อย่างลึกซึ้ง ในมุมที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยได้เห็นและไม่เคยได้ยิน

บอส-นฤเบศ กูโน ผู้กำกับหนุ่มให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ เกี่ยวกับการกำกับละครเต็มตัวในเรื่อง “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” เป็นเรื่องแรก เขาต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะโจทย์คือการทำละครที่เกี่ยวกับกีฬา เมื่อเขาหยิบเอากีฬาแบดมินตันมาเดินเรื่องและสืบค้นลงไป จนพบว่ากีฬาประเภทนี้ใช้สอนเด็กออทิสติกได้ด้วย เขาจึงลงพื้นที่หาข้อมูลอย่างจริงจังก่อนจะลงมือเขียนบท ซึ่งใช้เวลากว่าครึ่งปีกว่าบทจะเสร็จเรียบร้อย

Advertisment

“จริง ๆ ตอนแรกมันเป็นโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับกีฬา พอดี พี่ย้ง ทรงยศ (ทรงยศ สุขมากอนันต์) เขาตั้งใจจะทำซีรีส์กีฬา คิดจะปั้นผู้กำกับหน้าใหม่ 4 คน ซึ่งแต่ละคนจะกำกับเรื่องกีฬาชนิดที่ตัวเองสนใจ ผมเริ่มที่แบดมินตันเป็นกีฬาที่ง่ายมาก เพราะเป็นคนไม่เล่นกีฬา แต่แบดมินตันเล่นกับแม่ที่หน้าบ้านได้ เล่นกับพี่สาวก็ได้ ก็วกเข้ามาเป็นกิจกรรมครอบครัว เรื่องจึงกลับมาอยู่ตรงประเด็นที่ว่า ถ้าเราจะทำเรื่องครอบครัวจริง ๆ มันจะมีครอบครัวแบบไหนที่ในประเทศไทยเรายังไม่เคยเล่า โดยมีพระเอกมารอรับบทอยู่แล้วก็คือ น้องต่อ”

ผู้กำกับบอสเล่าว่า ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องเด็กออทิสติกอยู่ในหัวด้วยซ้ำ แต่ก็คิดว่าการให้ต่อรับบทเป็นเด็กแบบเอ๋อ ๆ มันดูน่ารักดี ไม่ได้ดูเท่ ๆ แบบสมัยก่อน หลังจากค้นหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็เจอคำว่า เด็กสมาธิสั้น แบบมีอาการรุนแรงทางอารมณ์ หาไปเรื่อย ๆ จนไปเจอเรื่อง “โรคออทิสติก”

Advertisment

“ผมว่ามันน่าสนใจมาก เริ่มดูหนังจากต่างประเทศ ก็เริ่มแบบ เฮ้ย… ทำไมมันมีหนังเรื่องแนวนี้เยอะมาก ผมช็อกเหมือนกัน พอศึกษาอย่างจริงจัง ผมไปเจอรายละเอียดเรื่องออทิสติก แล้วเราก็ประทับใจมาก เพราะว่าคนที่เป็นออทิสติก จริง ๆ มันมีความซับซ้อนอะไรบางอย่าง ที่แบบพอนำเสนอมันจะน่าสนใจมาก ด้านอารมณ์ ทางด้านทัศนคติ ด้านคนดูแลในครอบครัว มันเลยเกิดไอเดียขึ้นมา”

นี่คือเหตุผลที่ผู้กำกับหนุ่มใช้เดินละครเกี่ยวกับกีฬา ที่ให้น้ำหนักไปทางเด็กออทิสติก ซึ่งกว่าจะมาเป็นบทละครนั้น ผู้กำกับต้องลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจัง ถึงขนาดไปคลุกคลีอยู่กับผู้ปกครอง ครูที่ฝึกพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้เพื่อเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ก่อนจะได้ข้อมูลมหาศาลและย่อยมาเป็นละคร โดยบอสยอมรับว่า ยิ่งศึกษาลงไปเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้ว่า มีเด็กกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยในสังคม หรือแม้แต่ในบ้านของเขาเองก็เช่นเดียวกัน

“โอ้โห… แบบเยอะมากเลยครับ ผมเริ่มหาตั้งแต่โรงพยาบาล ติดต่อคุณหมอเพื่อสัมภาษณ์ ผมเริ่มคุยกันในทีมว่า ในหนึ่งอาทิตย์เราจะต้องสับเปลี่ยนกันไปคุยกับผู้ปกครองสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลในการเขียนบทเยอะที่สุด ผมเริ่มไปเจอศูนย์ออทิสติกไทย ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ มีเด็กหลายแบบมาก เราก็พยายามจิ้ม ๆ เอาว่า เด็กคนไหนนำเสนอแล้วจะน่าสนใจ ก็เลยไปเจอเด็กคนหนึ่งที่เขาดูน่ารัก แล้วเขาก็พูดสนุกมาก และนั่นก็คือแคแร็กเตอร์พี่ยิมในเรื่อง ซึ่งมันก็มีคนแบบนั้นจริง ๆ ผมเริ่มไปศึกษาน้องคนนั้น ทุกเย็นก็จะมีผู้ปกครองมารับ ผมก็ได้คุยกับผู้ปกครองของเด็กคนนั้นด้วย”

บอสบอกว่า หลังจากที่ศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เขารู้สึกว่า หัวใจของเรื่องคือการนำเสนอเรื่องออทิสติก ซึ่งเขาจะนำเสนอแค่ผิว ๆ ไม่ได้ เพราะละครมีทั้งหมด 8 ตอน จะต้องมีรายละเอียดมากทั้งเรื่องแบดมินตันและเรื่องออทิสติก ที่สำคัญเขาอยากนำเสนอเรื่องราวสู่สังคม เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจกลุ่มคนที่เป็นออทิสติกมากขึ้น นี่คือเป้าหมายสูงสุดของผู้กำกับหนุ่มคนนี้

“บอสอยากให้เขาเข้าใจคนคนนั้นมากขึ้น อย่างน้อยคนรอบข้างคือความหวังสูงสุดของคนกลุ่มนี้ คนที่ดูซีรีส์ก็อยากให้เข้าใจคนที่เป็นออทิสติกมากขึ้น และเพื่อจะได้มีความคิดที่เปลี่ยนไป เช่น ตอนเด็ก ๆ เวลาเราไปเรียนหนังสือ พอไปเจอเพื่อนคนหนึ่งที่ดูแปลก ๆ มาก ทั้งที่เราไม่ได้รู้ว่าเขาเป็นออทิสติกหรืออะไรอย่างนี้ แต่เขาจะมีพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนเรา เราก็จะชอบแกล้งเขา ผมหวังเลยว่าถ้าเด็ก ๆ หรือกับผู้ปกครองได้ดูเรื่องนี้ อย่างน้อยไม่ว่าเขาจะไปโรงเรียน หรืออยู่ในสังคม เขาจะได้ไม่กลายเป็นคนผิดแปลกจากคนทั่วไป”

การปรับเปลี่ยนเรื่องราวที่นำเสนอแบบไม่มีคู่จิ้นเป็นความท้าทายที่ผู้กำกับหนุ่มยังหวั่น ๆ กลัวจะไม่มีคนดู เพราะไม่มีบทพระเอกนางเอกมาจูบกัน แต่เป็นเรื่องของแม่กับลูก แต่พอตัวอย่างละครออกไป 1-2 ตอน จนเกิดกระแสว่า “ทุกคนร้องไห้ทุกเสาร์” ทำให้ผู้กำกับบอสดีใจและแฮปปี้มาก ถึงกับไล่อ่านทุกคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับผลงานกำกับละครเรื่องแรกแบบเดี่ยว ๆ ของ บอส-นฤเบศ ว่าด้วยเรื่องการเสียน้ำตาสำหรับละครเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ผู้ชมเท่านั้นที่ร้องไห้กับเรื่องพี่ยิมและน้องโด่ง แม้แต่ผู้กำกับเองก็ยอมรับว่าเสียน้ำตากับทุกขั้นตอนของเรื่องนี้จริง ๆ ตั้งแต่เขียนบท เขาก็บอกว่าร้องไห้บ่อยมาก

“แค่บทที่เราอ่าน เขียนอะไรที่ซึ้ง ๆ ก็ร้องไห้แล้ว”

ความพยายามของผู้กำกับที่อยากให้ผู้ชมอินกับบท รู้สึกไปกับตัวละคร ที่อาจจะเหมือนหลาย ๆ คนตั้งคำถามกับครอบครัว เช่น แม่ต้องรักพี่มากกว่า แม่รักเราหรือเปล่า แม่รักเขามากกว่า แม่เปรียบเทียบเรากับอะไร ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันไปแตะถึงทุก ๆ ครอบครัว ซึ่งตัวอย่างจากละครเรื่องนี้ถือว่าเป็นครอบครัวที่โชคดีมาก มีแม่ที่รัก มีน้องที่คอยดูแล ได้แสดงความสามารถของตัวเอง แต่ถ้าไปสำรวจกันจริง ๆ แล้วจะพบว่าในประเทศไทย หรือว่าแบบในทั่วโลก กลุ่มเด็กออทิสติกมีหลายคนที่ไม่ได้มีโอกาสตรงนี้ ยังมีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจ ยังมีคนที่ไปเรียนหนังสือแล้วโดนแกล้ง หรือบางคนเป็นโลว์ฟังก์ชั่น พูดไม่ได้ ดูแลตัวเองไม่ได้ มันมีเยอะมาก และสังคมควรให้โอกาสพวกเขามาก ๆ ด้วย

“จริง ๆ แล้วน้องชายผมก็เป็น แต่ว่าน้องชายผมเขาอยู่บ้านเฉย ๆ เหมือนไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีความสามารถอะไรเลยครับ แต่ก็อาบน้ำ ใช้ให้ไปซื้อของ ซื้ออะไรได้ ซึ่งก็ไม่ได้ไปประกอบอาชีพอะไร ตอนนี้ก็อายุประมาณ 18 ปี จริง ๆ ควรจะจบ ม.6 แล้ว แต่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือครับ พฤติกรรมของเขาก็คล้าย ๆ พี่ยิม คือ คุยรู้เรื่อง คุยได้ แต่เขาก็จะคิดชั้นเดียว บางทีพอเวลาโมโหก็จะมีเขวี้ยงของเหมือนกัน แล้วก็ในแต่ละวันก็จะมีแพตเทิร์นในการใช้ชีวิต เช่น 6 โมงเย็น ต้องกินข้าวหมูทอด แล้วทุกวันต้องกินหมูทอด ทุกวันต้องกินไก่เคเอฟซี แบบจะไม่กินอย่างอื่น คือ มีอะไรล็อก ๆ ไม่ยืดหยุ่น”

แน่นอนว่าบอสเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ รู้สึกแย่ ๆ มาเหมือนกัน ในวัยเด็กที่เขาเองก็เคยแกล้งน้องชาย แต่เมื่อโตขึ้น ภาพอะไรชัดเจนมากขึ้น และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาอยากทำละครสะท้อนสังคมในแบบที่ละครไทยไม่เคยทำ