ประทีป ตั้งมติธรรม ใช้ศิลปะบวกศาสตร์บริหาร สร้างความสำเร็จของ “ศุภาลัย”

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

ประทีป ตั้งมติธรรม เป็นที่รู้จักในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้ระดับหมื่นล้าน และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2532 หรือราว 30 ปีมาแล้ว

การพาศุภาลัยเติบโตตลอดมานั้น ประทีป ประธานกรรมการบริหารศุภาลัย บอกกับ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศิลปะ ซึ่งเป็นความชอบความสนใจส่วนตัวของเขานั้นมีผลอย่างมากต่อการบริหารและนำพาศุภาลัยประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างที่เห็น

ความสนใจในศิลปกรรมของประทีปนั้นกว้างและหลากหลายถึง 5 สาขา ประกอบด้วย “สถาปัตยกรรม” อันเป็นความชำนาญโดยตรงในแง่ของการออกแบบอาคารที่ทำให้บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ประสบความสำเร็จ, “จิตรกรรม” อันเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบและได้เรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่วัยเด็ก, “วรรณกรรม” ความสามารถในการเขียนหนังสือและแต่งคำกวีให้ออกมาอย่างสวยงามและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน, “ประติมากรรม” งานปั้นต่าง ๆ และ “คีตศิลป์” อันเป็นความชอบส่วนตัวที่ล้วนมีผลต่อความคิดเชิงปรัชญา โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ศุภาลัยประสบความเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

“การบริหารงานนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันเป็นการผสมผสานเรื่องของศิลปะเข้าไปด้วย เพราะว่าหลาย ๆ กรณี อย่างพฤติกรรมผู้บริโภค เราจะเข้าใจพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร เราก็จะต้องรู้เรื่องของจิตวิทยา สังคมวิทยา ความชอบและรสนิยม ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์เสียด้วยซ้ำ รสนิยมของคนล้วนเป็นเรื่องของศิลปะ หรือแม้กระทั่งเรื่องของสี รูปทรง หรือสไตล์ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของศิลปะ ดังนั้น การรู้เรื่องของศิลปะจะทำให้เข้าใจผู้คนได้ดีขึ้น อย่างการออกแบบภายในบ้าน มันไม่ใช่แค่เรื่องของประโยชน์ใช้สอย ไม่ใช่แค่ว่าบ้านหลังนี้มีกี่ห้องนอน มีกี่ห้องน้ำ มีการระบายลมอย่างไร มีแสงสว่างเพียงพอแค่ไหน แต่เป็นเรื่องของความสวยความงาม และเป็นความสวยงามที่ยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ความสวยงามอย่างฉาบฉวย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ aesthetic หรือสุนทรียศาสตร์” บอสใหญ่ศุภาลัยอธิบาย

นอกเหนือจากผลงานทางด้านธุรกิจอันเป็นที่ประจักษ์ ความสนใจจริงจังในด้านศิลปะของเขาก็สะท้อนออกมาผ่านผลงานส่วนตัวและกิจกรรมต่าง ๆ ของศุภาลัยมาตลอด อย่างผลงานเด่นของเขาที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือผลงานด้านวรรณกรรม ย้อนกลับไปในจุดที่เขาได้ตกตะกอนทางความคิดในเชิงธุรกิจจากประสบการณ์นับสิบปีที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ประทีปได้เขียนหนังสือแนะแนวสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนังสือ “เคล็ด(ไม่)ลับ…การบริหาร+การพัฒนา อสังหาริมทรัพย์”, “เคล็ด(ไม่)ลับ ศุภาลัย+อสังหาริมทรัพย์” หรือการให้คุณค่ากับความสุขอย่างยั่งยืนในหนังสือ “เมื่อไหร่จะ…ร่ำรวยมีสุข อย่างยั่งยืน” อันเป็นแนวทางและแรงผลักดันสำหรับผู้ที่กำลังมองหาความสำเร็จในชีวิต หรือในแง่มุมทางความคิด ประทีปก็กลั่นกรองออกมาเป็นหนังสืออย่าง “ปรัชญาประทีป”

จนกระทั่ง 4 ปีที่แล้ว เขารู้สึกว่าการถ่ายภาพ เป็นศาสตร์อีกแขนงที่เขาให้ความสำคัญและสนใจเป็นอย่างมาก เขานำรูปภาพที่เขาเก็บสะสมไว้เมื่อมีโอกาสได้เดินทางท่องโลกกว้างตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สะท้อนรูปภาพเหล่านั้นผสานไปกับประสบการณ์ชีวิตในวัย 67 ปี และถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือปรัชญาประกอบรูปภาพ 3 ภาษาคือ ไทย จีน และอังกฤษ ภายใต้ชื่อ “ประทีปทัศน์” แล้วมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมดแก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สองปีถัดมา เขายังคงรวบรวมภาพถ่ายจากทั่วทุกที่ที่เขาไป ผนวกกับปรัชญาที่คุกรุ่นภายในใจของเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือ “ประทีปทัศน์ 2” ซึ่งรายได้ทั้งหมดนั้นนำไปบริจาคร่วมสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

มาในปีนี้ ถึงวาระของหนังสือ “ประทีปทัศน์ 3” ซึ่งเขาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่มุมมองต่อเนื่องมาจากเล่ม 1-2 แต่เป็นมุมมองภาพใหม่จากสถานที่ใหม่ และวิสัยทัศน์ปรัชญาแนวคิดใหม่ที่ต่างไป เช่น สุนทรียภาพ การออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมือง หรือจากประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบปะกับความสุขจากหลากหลายมุมเมืองทั่วโลก เขาอยากแบ่งปันความสุขอันสุนทรีย์เหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นหนังสือภาพที่เขาเชื่อว่าผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับการท่องเที่ยวทางความคิด

“ที่มาของแรงบันดาลใจและของชื่อหนังสือมีอยู่ว่า “ประทีปทัศน์” มีชื่อภาษาอังกฤษคือ “Prateep”s Vision” เนื่องด้วยคำว่า “Vision” ในภาษาอังกฤษมีความหมายตรงกับคำว่า “ทัศน์” ในภาษาไทย ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” เป็นเรื่องทางความคิด ปรัชญา เป็นเรื่องราวเชิงความหมาย แง่คิด ส่วนอีกเรื่องคือ “วิสัยทัศน์” เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา เป็นมุมมองที่เราสามารถบันทึกเป็นภาพถ่ายได้ อีกทั้งผมเป็นคนชอบท่องเที่ยว ในหนังสือ “ประทีปทัศน์ 3″ นี้ จึงเปรียบเสมือนการรวบรวมงานภาพถ่ายจากสิบกว่าประเทศทั่วโลก ทั้งตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ ออสเตรเลีย ออสเตรีย จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ลาว สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ลิกเตนสไตน์ และไทย ออกมาเป็นมุมมองความคิดเชิงปรัชญาที่มีต่อสิ่งที่พบเจอในแต่ละช่วงเวลา”

ประทีปบอกว่า การถ่ายรูปนั้นเป็นเรื่องของแสง เงา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าของศิลปะ เขาใส่คำคม และปรัชญาชีวิตต่าง ๆ ที่เขาได้เรียนรู้ตลอดช่วงเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมาลงไปในรูปภาพที่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน เขาเล่าในงานเปิดตัวหนังสือและนิทรรศการภาพถ่ายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอย่างติดตลกว่า ที่เขาเลือกใช้เพียง 3 ภาษาในหนังสือชุดนี้ เพราะเขารู้เพียงแค่ 3 ภาษาเท่านั้น

ในการถ่ายภาพของประทีปนั้น เขามีความลึกซึ้งในเชิงมุมมองของการถ่ายภาพที่ต่างออกไป นั่นก็คือมุมมองแบบ Worm”s eye view

“Bird”s eye view เป็นการเปรียบเปรยมุมกล้องในมุมมองของนก ส่วน Worm”s eye view ก็เป็นการเปรียบเปรยมุมกล้องในมุมมองของหนอน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน หนอนที่อยู่ติดดิน แล้วมองสูงขึ้นมา ถ้าเราลงไปนอน แล้วเรามองขึ้นมา นั่นแหละ คือ Worm”s eye view เหมือนเวลาเรานอนอยู่ริมชายหาด แล้วเรามองขึ้นมา กระทั่งบางครั้งผมก็ต้องลงไปนอนกับพื้นจริง ๆ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ต้องการ หรือในบางกรณีที่เป็นตึกสองชั้น ผมอยู่ชั้นล่างและถ่ายย้อนขึ้นไปที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นมุมมองและเทคนิคเดียวกัน” เขาอธิบายให้เห็นภาพ

ประทีปจะเลือกรูปที่ดีที่สุดจากภาพถ่ายจำนวนนับหมื่นรูปที่เขาถ่ายเอาไว้ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาให้สอดคล้องกับปรัชญานั้น ๆ เช่น หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก เขาก็อาจจะเลือกรูปภาพชายหนุ่มหญิงสาว หรือแม่กับลูก อันเป็นการสื่อความหมายถึงความรัก

“ความคิดเชิงบวก และการมองโลกในแง่ดี” เป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ และมีผลต่อการประสบความสำเร็จและความสุขที่ยั่งยืน เขาบอกว่าคนเราควรจะมุ่งเน้นไปที่ความสุข เพราะต่อให้เราประสบความสำเร็จสักแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความสุข ความสำเร็จนั้นก็ไม่มีความหมาย นอกจากนั้น เขายังเปรียบเปรยชีวิตเป็นมิติที่ซ้อนกันกับการถ่ายภาพว่า ถ้าเราเลือกมองโลกในแง่ดี เราก็สามารถมีความสุขได้แม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก

“ในโลกนี้ เราจะมองเห็นทั้งสิ่งที่สวยงามและสิ่งที่ไม่สวยงาม เวลาผมไปยืนถ่ายรูป ข้าง ๆ ตัวผมอาจจะมีถังขยะอยู่ แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ถ่าย ดังนั้น เวลาถ่ายรูป ผมจะตีกรอบรูปภาพเอาไว้ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่รก ๆ อย่างสายไฟที่รกรุงรัง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ผมก็จะพยายามหลีกเลี่ยง ตรงนี้เป็นแง่คิดสะท้อนกับมุมมองของคนที่มีต่อชีวิตด้วย ถ้าเรามัวแต่มองสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่รกโลก ก็เท่ากับว่าเราเก็บเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมากังวลใจ เก็บเอามากลุ้มใจ แต่ถ้าเราคิดในเชิงบวก เรามองในสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่ดี อย่างเช่น การพาตัวเองไปออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ การพัฒนาตัวเอง เราก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นสุขได้”

มีบางช่วงบางตอนในหนังสือ “ประทีปทัศน์ 3” ที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองความเข้าใจต่อชีวิตและโลกของประทีป ในหน้าที่ 19 มีถ้อยความประกอบรูปว่า “รักในงานที่ทำ พากเพียรใส่ใจ ฝักใฝ่ไตร่ตรอง คิดหาเหตุผล งานนั้นย่อมสำเร็จแน่นอน” โดยถ้อยความปรัชญาในหน้านี้จะสอดคล้องกับคำประพันธ์ในบทเพลง “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” (สามารถค้นหาชื่อเพลงเพื่อรับฟังได้ทาง YouTube) ที่ประทีปเป็นทั้งผู้ขับร้องและประพันธ์ด้วยตนเอง นับเป็นการประยุกต์ความสามารถทางด้านวรรณกรรมร่วมกับคีตศิลป์ได้อย่างสอดคล้อง

“ปีนี้ ผมอายุ 71 ปีแล้ว ผมอยากแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต อยากเสริมสร้างความสุข การให้แง่คิดที่จะทำให้เกิดมุมมองใหม่แก่ผู้คนที่กำลังมองหา”

ทุกวันนี้ ประทีปในวัย 71 ปียังสามารถออกไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังสามารถเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรในแต่ละวันเพื่อถ่ายรูปได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการดูแลอาหารการกินหรือการออกกำลังกายเพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ตกตะกอนจากภายในอันเป็นแรงผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคม

ประทีปทิ้งท้ายว่า เพียงผู้อ่านอ่านแล้วชอบ อ่านแล้วมีความสุข ก็ถือว่าหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จแล้ว เขามั่นใจว่าผู้อ่านจะได้รับความเพลิดเพลินและความสุขจากการเสพงานศิลปะภายในเล่ม ผ่านทางรูปภาพจากหลากหลายสถานที่ทั่วโลกที่แฝงไว้ด้วยคติ ทัศนคติ ปรัชญาชีวิต และข้อคิดต่าง ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอด เป็นมุมมองต่อชีวิตที่เมื่อเข้าใจและปฏิบัติตามก็จะเป็นสุขและมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

สำหรับหนังสือ “ประทีปทัศน์ 3” ราคาเล่มละ 500 บาท มีขายที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เท่านั้น นอกจากนั้น เขายังร่วมกับหอศิลปฯจัดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่ายเพื่อการกุศล โดยจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 บริเวณชั้น 3-5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมนิทรรศการและซื้อภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานได้ด้วย รายได้ทั้งหมดจากการขายหนังสือและภาพถ่ายจะมอบให้ทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่หักค่าใช้จ่าย