หาทางออกปัญหาฝุ่น ดูแลสิ่งแวดล้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ไปด้วยกัน ?

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เมื่อ 3-4 ปีก่อน “ฝุ่น PM 2.5” ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ของเมืองไทย ปีแรก ๆ ที่เราได้ยินชื่อมัน มันก็ยังเป็นฝุ่นที่มาตามฤดูกาลในช่วงเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ เจ้าฝุ่นจิ๋วมหาภัยมันอยู่กับเรานานกว่าแต่ก่อน และมันได้กลายเป็นหนึ่งปัญหาสามัญในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่หลายคนทำในทุกเช้าก็คือเข้าแอปพลิเคชั่นวัดสภาพอากาศแล้วลุ้นว่า ค่ามลพิษในอากาศจะออกมาเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือว่าสีแดง เพื่อจะได้วางแผนทำกิจกรรมในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม

นอกจากปัญหาสุขภาพที่เราประสบพบเจอกันเองแล้ว ผลกระทบภาพใหญ่กว่านั้นคือ ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล

มีข้อมูลจากรายงาน Toxic air : The price of fossil fuels จัดทำโดยกรีนพีซ (Greenpeace) และศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Centre for Research on Energy and Clean Air) เปิดเผยว่า ประมาณการมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 3.3% ของจีดีพีโลก เฉพาะการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุของมูลค่าความเสียหายโดยรวมทางเศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ในไทยมีการพูดถึงการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมากขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการย่อย ๆ และแนวทางการดำเนินงานหลายแนวทาง (ดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ)

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แทบทุกมาตรการแก้ปัญหาจะมีผู้ได้รับผลกระทบ อย่างเช่นเมื่อพูดถึงมาตรการจำกัดการเดินรถเครื่องยนต์ดีเซลวันคู่-วันคี่ ก็มีภาคเอกชนท้วงติงว่า จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า หรือถ้ามองไปไกลจากบ้านเรา กรณีที่เคยเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกคือ การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้สหรัฐถอนตัวจาก “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ความตกลงว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทรัมป์ให้เหตุผลว่า ความตกลงนี้มีข้อจำกัดมากเกินไป อาจจะกระทบต่อภาคการผลิตในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

เมื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็กระทบกับภาคธุรกิจ เราจะมุ่งแต่รักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่สนใจเศรษฐกิจก็ไม่ได้ ในทางตรงข้าม การพัฒนาเศรษฐกิจก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้อีก แล้วเราจะเดินหน้าอย่างไรดี ? จะทำอย่างไรให้การพัฒนาเศรษฐกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้ ?

“หลักเศรษฐศาสตร์” เป็นหนึ่งในคำตอบของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทิ้งเศรษฐกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ลืมสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่จะอธิบายได้เป็นอย่างดีก็คือ ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย ผู้ช่วยคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา

ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจ

ก่อนอื่น ผศ.ดร.ขนิษฐาอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกันให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่เราจะมีเศรษฐกิจที่ดี ยกตัวอย่าง เช่น เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเยอะ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาก ๆ ที่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาก็คือ ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติของเรา ทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก ถ้าเกิดว่าสิ่งแวดล้อมมันเสียไป นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ก็จะไม่มาเที่ยวไทย เพราะคงไม่มีใครอยากมาเที่ยวทะเลที่เน่า ภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ ยิ่งถ้ามาแล้วเจอฝุ่น นักท่องเที่ยวก็ยิ่งจะไม่อยากมา

มากไปกว่านั้น ผศ.ดร.ขนิษฐาบอกว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็เป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเศรษฐกิจ

“จริง ๆ แล้วเราพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าเศรษฐกิจทำให้เรากินดีอยู่ดี ถูกไหม ซึ่งส่วนหนึ่งของการที่คนเราจะมีชีวิตที่ดีก็คือมีสภาพแวดล้อมที่ดี ถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจมีเงินเยอะ แต่สิ่งแวดล้อมแย่ ก็ไม่มีใครอยากได้ชีวิตที่ไม่ดี ฉะนั้น สิ่งแวดล้อมมันสำคัญต่อเศรษฐกิจ และขณะเดียวกันมันก็สำคัญต่อวัตถุประสงค์ที่เราต้องการให้เศรษฐกิจทำให้เรา นั่นก็คือความอยู่ดีกินดีของประชาชน”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากความล้มเหลวของตลาด

ผศ.ดร.ขนิษฐาบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากการที่ตลาดล้มเหลว ปกติระบบตลาดเชื่อว่าคนเราตัดสินใจโดยเอาตัวเองเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง (ดี ในที่นี้หมายถึง แต่ละคนเลือกสิ่งที่ตัวเองพอใจ) แต่เนื่องจากสินค้าที่ขายอยู่ในตลาดจะตั้งราคาโดยคำนวณจากต้นทุนของผู้ผลิตเท่านั้น ไม่ได้นำ “ผลกระทบภายนอก” (externality) คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ 3 และสังคมเข้าไปคำนวณด้วย ทำให้สินค้าที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาถูกเกินไป ไม่ได้สะท้อนต้นทุนแท้จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อสินค้านั้นมีราคาถูก คนจึงเลือกใช้สินค้าที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมกันมาก

“เวลาผู้บริโภคจะซื้อสินค้าหรือบริการ เราจะพิจารณาต้นทุนของเรา แต่เวลาที่เราทำอะไรที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เราเลือกขับรถเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งสร้างฝุ่นออกมาเยอะ มันมีการส่งผ่านต้นทุนไปให้คนอื่นที่ได้รับผลเสียจากมลพิษที่เราปล่อยไป แต่ตัวเราไม่ได้นับรวมมาพิจารณาด้วย เราดูแค่ต้นทุนของเรา มันก็เลยทำให้เราใช้ของที่ส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป มันก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้น”

หลักเศรษฐศาสตร์ช่วยแก้ได้

เมื่อหลักเศรษฐศาสตร์อธิบายการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ต่อมานักเศรษฐศาสตร์ก็ได้มองหาเครื่องมือหรือกลไกที่จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งนั่นก็คือ “ราคา”

ผศ.ดร.ขนิษฐาอธิบายว่า ผลกระทบภายนอกมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ผลกระทบภายนอกเชิงลบ คือ เงินที่ผู้บริโภคจ่ายสำหรับซื้อสินค้าที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มันราคาถูกเกินไป ทางแก้คือต้องหาวิธีทำให้สินค้าที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมราคาแพงขึ้น เพื่อที่คนจะเลือกใช้น้อยลง แต่ที่ว่ามานั้นเป็นแนวทางในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการจะปฏิบัติจริงต้องมาดูว่าพอทำแล้วมันส่งผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ส่วนผลกระทบภายนอกเชิงบวกก็คือ สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีคนใช้น้อยเกินไป เพราะมันราคาสูง ซึ่งการจะแก้ปัญหา รัฐก็ต้องซับซิไดซ์ (ให้เงินอุดหนุน-อุ้มราคา) เพื่อให้มันราคาถูกลง คนจะได้ใช้มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น กรณีการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ค่ารถไฟฟ้าบ้านเราสูง เพราะผู้ให้บริการคิดจากต้นทุนจริงของเขา ฉะนั้น ถ้าอยากให้คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รัฐบาลต้องเข้ามาซับซิไดซ์ให้ราคาถูกลง เหมือนในหลายประเทศที่รัฐบาลเขาสนับสนุน

อาจารย์ขนิษฐาบอกอีกว่า การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องร่วมกันทั้ง 3 ขา คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน-ผู้ผลิต และภาคประชาชน-ผู้บริโภค ในแง่การซับซิไดซ์และภาษีเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ส่วนภาคประชาชนก็ต้องเรียกร้องให้เกิดตลาดขึ้นมา คือ ถ้าประชาชนต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ผู้ผลิตก็อยากผลิต แล้วเมื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสินค้าแมส มีความต้องการเยอะ มีการผลิตเยอะ ราคาก็จะถูกลง

Photo by Thierry Falise/LightRocket via Getty Images

ดูแลสิ่งแวดล้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจ จะไปด้วยกันได้อย่างไร ?

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็กระทบกับภาคธุรกิจและผู้บริโภค แต่ถ้ามุ่งไปทางเศรษฐกิจโดยไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราอยู่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจในหัวข้อแรกที่อาจารย์ขนิษฐาอธิบายนั้นช่วยให้เห็นภาพชัดว่า 2 อย่างนี้มันต้องไปคู่กัน แต่คำถามคือจะทำอย่างไรล่ะ ?

ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย ยังคงมองแนวทางอย่างที่กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว คือ ต้องมีเครื่องมือ มีกลไกที่ทำให้คนใช้สินค้าที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อภาคประชาชนผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจก็จะปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคอยู่แล้ว ถ้าธุรกิจไม่ปรับตัว ยังมุ่งไปในทางที่ผู้บริโภคไม่ตอบรับ ของขายไม่ได้ ธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ในระยะยาวธุรกิจต้องปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามความต้องการของสังคม ขณะเดียวกันการที่สังคมใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก วินด์ฟาร์ม โรงงานผลิตถุงผ้า ฯลฯ

ถ้าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในกรณีนี้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ผศ.ดร.ขนิษฐาเสนอแนะว่า ในระยะสั้น ก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการอะไรออกมา ภาครัฐจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามาตรการนั้นได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจสอบคือดูจากประเทศที่ใกล้เคียงประเทศเรา จากนั้นต้องเลือกมาตรการที่ต้นทุนไม่แพง และไม่ส่งผลกระทบมาก ถ้าหากมาตรการที่จะออกมานั้นส่งผลกระทบ ภาครัฐก็จะต้องเตรียมการหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วย

“ยกตัวอย่างที่ปักกิ่ง ประเทศจีน มีปัญหาฝุ่นเยอะมาก หนึ่งในสาเหตุของปัญหาก็คือรถมอเตอร์ไซค์ รัฐบาลเขาก็เลยมีนโยบายให้เปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์ในปักกิ่งทั้งหมด แต่เขารู้ว่าคนใช้มอเตอร์ไซค์คือคนจน รัฐบาลก็เลยมีนโยบายรับซื้อคืนมอเตอร์ไซค์ แล้วให้ประชาชนซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ในราคาไม่แพง” อาจารย์ยกตัวอย่างให้เห็น “วิธีการ” ของประเทศที่มีความใกล้เคียงกับประเทศเรา

สรุปปิดท้ายอย่างมีความหวังกับสิ่งที่ ผศ.ดร.ขนิษฐาบอกว่า ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเศรษฐกิจบ้านเรายังไม่ได้พัฒนาเต็มที่ ฉะนั้นเราได้เปรียบในแง่ที่เราสามารถศึกษาแนวทาง นำบทเรียน และนำเทคโนโลยีจากประเทศอื่นซึ่งเขาพัฒนาแก้ปัญหานี้มาก่อนหน้าเราเข้ามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเราได้ โดยที่เราไม่ต้องสร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาก