พระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงโควิด-19

ในเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤต สถาบันหนึ่งที่คอยช่วยเหลือบรรเทาวิกฤตเสมอมาก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญต่อเนื่องหลายเดือนมานี้ก็เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ พลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์โควิด-19 และดูแลรักษาประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข่าวในพระราชสำนักที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมา ณ ที่นี้

พระราชทานอุปกรณ์การแพทย์รับมือสถานการณ์โควิด-19

วันที่ 3 เมษายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องมือแพทย์ เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 แก่โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และพระราชทานเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก

อุปกรณ์การแพทย์ที่พระราชทานแก่โรงพยาบาลตากสิน เป็นเครื่องช่วยหายใจ Bennett รุ่น 840 ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจชนิด volume control เหมาะสำหรับผู้ป่วยวิกฤต และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรับบริการ จำนวน 3 เครื่อง

ส่วนเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่พระราชทานแก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ Draeger จำนวน 3 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett จำนวน 2 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Event จำนวน 2 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Maquet จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Neumovent จำนวน 2 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Bellavista จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ LAVI จำนวน 1 เครื่อง รวม 12 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนแบบปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องช่วยหายใจเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์โควิด-19 แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ มาแล้ว ประกอบด้วย

โรงพยาบาลตํารวจ เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 980 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840 จำนวน 2 เครื่อง

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 980 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840 จำนวน 2 เครื่อง เครื่องวัด Oxygen Rossmax รุ่น SB 100 จำนวน 8 เครื่อง เครื่องวัด Oxygen Rossmax รุ่น SB 200 จำนวน 5 เครื่อง

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 980 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840 จำนวน 3 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Draeger รุ่น Carina จำนวน 2 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Maquet รุ่น SERVO-s จำนวน 1 เครื่อง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Draeger รุ่น V 300 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Event รุ่น 7iL จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องช่วยหายใจ Event รุ่น Evolution จำนวน 1 เครื่อง

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เครื่องช่วยหายใจ Bennett รุ่น 840 จำนวน 3 เครื่อง

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี เครื่องช่วยหายใจ Bennett รุ่น 840 จำนวน 3 เครื่อง

วันที่ 6 เมษายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราโชบายแก่นายกรัฐมนตรี และพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเหล่าทัพ และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ในการนั้น ได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจจำนวน 132 เครื่อง เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 50 เครื่อง หน้ากากอนามัยจำนวน 2 ล้านชิ้น หมวก face shield จำนวน 30,000 ใบ และชุดป้องกันการติดเชื้อโรค (PPE) จำนวน 4,000 ชุด

ทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ (www.royaloffice.th) ได้เผยแพร่ข่าวพร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเย็บหน้ากากผ้าสำหรับเป็นตัวอย่างให้กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นำไปผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

พระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานนวัตกรรม “ห้องตรวจหาเชื้อ” พัฒนาโดยเอสซีจี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” แก่ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้สำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19

พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย

วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 17 คัน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดทำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย พระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข นำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)

ภายในรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย มีอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อระดับ 1,000 ประกอบด้วย ระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถ หลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว

รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยที่พระราชทานนี้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก ในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ทรงมีต่อประชาชนไทยในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 นั้น มีข้อความข่าวตอนหนึ่งบนเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ (www.royaloffice.th)ที่บ่งบอกถึงความตั้งพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านนี้ได้เป็นอย่างดีว่า “ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญ ที่จะต้องดูแลประชาชนให้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ทรงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน อันเป็นหน้าที่ที่ประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติ จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”