ปณิธิ จันทร์พิทักษ์ ลูกสาวข้ามเพศของซีอีโอ Britania ที่คุณแม่แสนภาคภูมิใจ

ปณิธิ จันทร์พิทักษ์
 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง ชลาธิป รุ่งบัว : ภาพ

“แม่ต้องทำให้เขารู้สึกมั่นคง เรารู้ว่าเรื่องที่เกิดต่อจากนี้ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เป็นเรื่องของเขา จากนี้ไปมันไม่มีอะไรมากระทบเราเลย แค่มีลูกเป็นตุ๊ด เราไม่อายแล้ว สำหรับเรามันไม่มีลบแล้วมีแต่บวก ลูกฉันน่ารังเกียจตรงไหน เรียนก็เก่ง จิตใจก็ดี ลูกเราไม่ดูถูก-ไม่เหยียดคนอื่น ไม่ใช่คนสร้างภาพ และเราดูแล้วเขาก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราไม่ชอบ คือ เราไม่ชอบสาวประเภทสองที่บ้าผู้ชาย กรี๊ดกร๊าดวี้ดว้าย ซึ่งลูกเราไม่เป็น”

คือความรู้สึกของ จี๊ด-ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด ในฐานะ “แม่” ณ วันที่ลูกชายคนโตกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพศหญิง

ได้ยินแบบนี้ก็ชวนให้คิดว่า พีท-ปณิธิ จันทร์พิทักษ์ ลูกสาวข้ามเพศวัย 27 ปี ของศุภลักษณ์โชคดีกว่าชาว LGBT อีกหลาย ๆ คนที่พ่อแม่ยังรับไม่ได้ หรืออาจจะไม่มีวันรับได้เลย

จะว่าพีทโชคดี ก็ใช่ โชคดีที่พอตัดสินใจคุยแล้วพ่อแม่เข้าใจ ญาติพี่น้องสนับสนุน แต่ช่วงเวลา 8 ปีที่รู้ตัวแต่ยังไม่กล้าเปิดใจกับที่บ้านนั้น เจ้าตัวบอกว่า เหนื่อยและหนักมาก เรียกว่า “เจ็บมาเยอะ” เหมือนกันกับหลาย ๆ คน

พีท ซึ่งแทนตัวเองด้วยชื่อที่เพื่อน ๆ เรียกว่า “ซินดี้” เล่าย้อนให้ฟังว่า จากที่เป็นเด็กชายที่เรียบร้อย ตั้งใจเรียน มีความตุ้งติ้งนิดหน่อย มีเพื่อนผู้หญิงมากกว่าเพื่อนผู้ชาย ก็เริ่มรู้ตัวว่าตัวเองชอบผู้ชายในช่วงเรียน ม.3 แต่ไม่ได้เปิดเผยกับที่บ้าน เพราะรู้สึกว่าผิดจารีตของสังคม และในตอนนั้นเธอคิดว่าครอบครัวไม่น่าจะรับได้ สังเกตจากเวลาที่เล่าเรื่องในชีวิตประจำวันว่าวันนี้เล่นแบบนี้กับเพื่อนผู้หญิง แล้วถูกตำหนิว่าเป็นผู้ชายทำไมไปเล่นแบบนั้น ทำให้พีทคิดว่า แม่ไม่น่าจะยอมรับได้ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเธอจึงออกไปอยู่นอกบ้าน เพื่อลดแรงเสียดทาน

“หนูก็เข้าใจคุณแม่ คิดว่าเขาทำเพราะเป็นห่วงว่าเราจะอยู่ไหวไหม สังคมนี้มัน tough มันโหด การเป็นสาวประเภทสองมันโดนเยอะ อย่างตัวหนูเองถ้าไม่สวยหรือไม่ฉลาดก็คงโดนมองเป็นอีกเกรดหนึ่ง เราก็ตั้งมั่นว่าเป็นอะไรก็ได้ แล้วพิสูจน์ตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต้องท้อ เรื่องรูปลักษณ์อาจจะโชคดีว่าเราเกิดมามีต้นทุนบ้าง แต่เรื่องเรียนเป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง การเป็นคนเรียนเก่ง เรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งมันก็เป็นการฝึกความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง และเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าเรามีคุณค่า ทั้งต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม”

ด้วยความที่มองว่า สังคมจัดเกรด LGBT เป็นอีกเกรดหนึ่ง ทำให้ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าชายหญิงทั่วไป ถ้าเป็นชายเป็นหญิงทั่วไป ไม่เก่งก็อาจจะเท่าทุน แต่ถ้าเป็น LGBT ที่ไม่เก่งจะถูกมองลบแน่นอน พีทจึงมุ่งมั่นกับการพิสูจน์ตัวเอง บวกกับประสบการณ์ในโรงเรียนทั้งประถมและมัธยมที่โดนบูลลี่หลายรูปแบบ เธอจึงบอกตัวเองว่า “เราต้องเป็นคนเก่ง ต้องเป็นคนที่ใครก็ทำอะไรเราไม่ได้” ทำให้เธอค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น จนในวัยมหาวิทยาลัยเธอนิยามว่าตัวเองเป็นคนที่ “untouchable” ไม่มีใครทำอะไรได้

พีทยอมรับว่า ความมุ่งมั่นพิสูจน์ตัวเองในช่วงวัยรุ่นทำให้เหนื่อยมาก พอโตขึ้นมาจึงคิดได้ว่า ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ขนาดนั้น ไม่จำเป็นต้องเก่ง ต้องสมบูรณ์แบบจนตัวเองเหนื่อยขนาดนั้นก็ได้ เพราะในสังคมของผู้ใหญ่มีความเข้าใจเรื่องนี้มากกว่า และมีความเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าสังคมเด็ก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คิดว่าไม่จำเป็นต้องเก่งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่พีทบอกว่า โดยส่วนตัวก็เป็นคนที่ให้คุณค่ากับความสำเร็จ ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อมองย้อนกลับไปจึงไม่ได้รู้สึกเสียดายกับความมุ่งมั่นในอดีต

พีทเรียนดีมาตลอดตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบมัธยมที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เธอเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามรอยแม่ที่เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยที่แม่ไม่ได้ส่งเสริมหรือไกด์ทางเดินแต่อย่างใด เพราะแม่เห็นว่าการเรียนสถาปัตย์นั้นยากมาก จึงไม่อยากให้ลูกต้องเจอสิ่งที่ยากเหมือนที่ตัวเองเคยเจอ

หลังเรียนจบปริญญาตรี ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง พีทก็เห็นสัญญาณที่ดีจากครอบครัว เธอเลือกแต่งหญิงเข้าพิธีรับปริญญา หลังจากแต่งชายถ่ายรูปกับญาติ ๆ เรียบร้อยแล้ว

“คุณแม่บอกว่าไม่เป็นไร เราก็ร้องไห้ ดีใจ ในที่สุดก็น่าจะเริ่มเข้าใจกัน ส่วนคุณพ่อรับได้มาตลอดแต่ไม่เคยพูด คุณพ่อเป็นลูกคนสุดท้อง โดนตามใจ คุณพ่อก็จะเข้าใจว่าเด็กเป็นยังไง และพ่อก็ไม่มีปัญหาอะไรกับสาวประเภทสอง” เธอพูดไปน้ำตาไหลไป จนต้องยื่นกระดาษทิสชูให้ “เรื่องพวกนี้ไม่ได้เลย หนูพูดไม่ได้เลย” เธอบอกขณะที่ซับน้ำตา

สเต็ปถัดมา พีทเปิดใจคุยกับพ่อแม่และน้องชายทั้งสองว่า อยากเป็นผู้หญิง และกำลังจะไปทำหน้าอกในอีกไม่กี่วันนี้ ผลปรากฏว่า ทุกคนเข้าใจและสนับสนุน นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอ

“น้องชายพูดว่า ทำเลย ไม่เป็นไร ที่บ้านเข้าใจ เราก็ไม่ได้สนิทกับน้องหรอกเพราะว่าไลฟ์สไตล์คนละแบบ แต่สุดท้ายเขาเป็นคนช่วยเหลือเรา หลังจากวันนั้นก็รู้ว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญที่เราอาจจะหลงลืมไป เพราะเราออกไปอยู่คนเดียวนานเกิน”

“หลังจากที่ตัดสินใจบอกไป ทุกอย่างดีหมดเลย ก็เลยคิดว่าน่าจะมีความกล้าบอกไปตั้งนานแล้ว ชีวิตอาจจะสบายกว่านี้ น่าจะพูดกับคุณแม่ได้ว่า วันนี้หนูอกหักนะ เสียใจอะไรมา มันคงจะไม่ต้องหนักคนเดียว ส่วนหนึ่งที่เรารู้สึกว่าช่วงวัยรุ่นมันหนัก เพราะเราเอาเรื่องพวกนี้มาพูดกับครอบครัวไม่ได้”

ก้าวสำคัญที่สุดคือ หลังจากทำหน้าอกประมาณ 1 ปี เธอไปนัดผ่าตัดแปลงเพศกับคุณหมอมือทองที่ต้องนัดล่วงหน้า 3 ปี แต่โชคดีที่ได้แทรกคิวที่มีคนแคนเซิล จึงได้ทำในเวลา 1 ปีหลังจากนั้น แน่นอนว่าเรื่องสำคัญแบบนี้ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว

“คุณแม่ไปเฝ้าทุกวันตลอดช่วงพักฟื้นประมาณ 1 เดือน เรารู้สึกว่าความรักของคนเป็นแม่นั้นสำคัญ” ลูกสาวพูดอย่างซาบซึ้ง

“ทุกคนในครอบครัวพี่เข้าใจเขามาก ๆ ทุกคนสนับสนุนว่าอย่าให้ลูกครึ่ง ๆ กลาง ๆ เขาทำ mission ในฐานะลูกจน complete แล้ว เรียนจนจบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง โดยที่แม่ไม่ได้ช่วยอะไร ทั้งที่เรียนสถาปัตยกรรมเหมือนกัน” แม่ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ เล่าเสริม

ศุภลักษณ์เล่าย้อนไปถึงวันสำคัญวันหนึ่งว่า วันที่พีทนำเสนอวิทยานิพนธ์ เป็นเพียงวันเดียวที่เธอผู้เป็นแม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียนของลูก คือไปให้กำลังใจเท่านั้น ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้ช่วยอะไรเลย

พอเรียนจบ เจ้าของบริษัทออกแบบเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งมาเป็นอาจารย์ตรวจทีซิสโทร.มาหาคุณแม่ ขอให้พีทไปทำงานด้วย พีททำงานอยู่บริษัทนั้น 3 ปี ขณะเดียวกันนั้นก็รับงานส่วนตัวด้วยมาตลอด จึงมีรายได้สองทาง

“ทำงานอยู่บริษัทนี้ 3 ปี ได้การทำงานแบบมืออาชีพจริง ๆ ตอนเรียนอาจจะได้ความรู้ทฤษฎีมากกว่า แต่การทำงานจริงได้ความรอบคอบ ได้ฝึกสมาธิ ฝึกการตรวจทาน เช่น การทำเอกสาร invoice การเขียนสัญญา การเขียนจดหมายเสนอตัว การเขียน TOR มันเป็นสิ่งที่ได้จากการทำงานจริง เพราะว่าอยู่บริษัทเล็กก็เลยได้ทำทุกลูป ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีมากที่ได้ทำทุกอย่าง”

พีทออกจากบริษัทนี้พร้อมด้วยวิชาติดตัวมากมาย จึงตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเอง ชื่อ AUI STUDIO ได้เลยทันที แต่ก็ยังคงทำงานประจำที่ใหม่ด้วย ยกตัวอย่างผลงานออกแบบที่พีทรับทำส่วนตัว คือ เลานจ์ของเตอร์กิช แอร์ไลน์ส ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “ออกแบบตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ ไม่มีอะไรเลย หนูทำคนเดียว”

“เขาส่งแบบประกวดตั้งแต่ตอนเรียน เพราะเขาคิดว่าถ้าไม่ส่งประกวดก็จะไม่มีใครรู้จักเขา เขามีไฟมากกว่าเราเยอะ ตอนที่เราเรียนจบมาเราก็ต้องทำงานหาเงิน แต่ว่าเขาอยากสร้างชื่อเสียงก่อน” แม่พูดถึงลูกที่เลือกอาชีพเดียวกัน แต่เส้นทางเดินต่างกันพอสมควร

แม้ลูกชายคนโตเปลี่ยนไปเป็นลูกสาว แต่ตลอดการพูดคุยเราได้เห็นว่าคุณแม่พอใจและภูมิใจในตัวลูกคนนี้ เพราะลูกทำตัวดีมาตลอด ดังนั้น ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นเพศอะไรก็ไม่สำคัญ

ฝั่งลูกยกเครดิตให้แม่ว่า ที่ตัวเองเป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดู และจากภาพตัวอย่างดี ๆ ที่ได้เห็นมาตลอด

“เรามีคุณแม่เป็นตัวอย่าง เราเห็นภาพความสำเร็จประมาณหนึ่ง และเรามีสังคมที่ดี ญาติ ๆ เลี้ยงดูเรามา ให้กำลังใจ มีตัวอย่างดี ๆ ให้ดูตลอด บวกกับเรียนมัธยมอยู่บดินทรฯ 1 เราเห็นทุกคนอ่านหนังสือสอบ เราจะไม่อ่านหนังสือได้ยังไง หนูว่านี่มีผลมาก”

พีทพูดถึงการเลี้ยงดูของครอบครัวว่า ที่บ้านเลี้ยงแบบปล่อย ทั้งสามคนพี่น้องจึงโตมาแบบมีไดเร็กชั่นของตัวเองคนละแบบ ซึ่งตัวเธอมองว่าดีแล้วที่แม่เลี้ยงมาแบบนี้ เพราะการที่ไม่ตึงเกินไป เอื้อให้ทุกคนได้ค้นหาตัวเอง และเจอไดเร็กชั่นของตัวเองได้ง่าย

ฝั่งแม่พูดกึ่งขำ ๆ ว่า “ไม่มีเวลาเลี้ยง” ก่อนจะอธิบายเหตุผลจริงจังว่า เป็นเพราะมีลูกในช่วงที่ทำงานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ ต้องทำงานหนักแทบทุกวัน จึงไม่มีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตัวเองเท่าที่ควร

“จริง ๆ เราก็อยากเป็นแม่ที่ดี แต่เราเป็นผู้หญิงที่ออกมาทำงานข้างนอก เราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกเรื่องสิทธิสตรี เรารู้แต่ว่าพ่อแม่ลำบากส่งเราเรียน เราต้องตั้งใจทำงาน จะได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่ ทำงานสักพักก็มีครอบครัว ด้วยความอยากเป็นแม่ที่ดีเหมือนคนอื่น เราก็ซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วก็จ้างพี่เลี้ยงมาจากบ้านที่อุบลฯ ก็ทำงานไปมีลูกไป ทำงานอยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มันทำงานเกือบทุกวัน”

พอลูกคนโตเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ศุภลักษณ์จึงตัดสินใจบอกลาบริษัทที่ผูกพันมา 21 ปี เพราะอยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น จึงเบนเข็มไปทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทพฤกษาฯ และยังอยู่ในธุรกิจอสังหาฯ มาจนถึงทุกวันนี้

ศุภลักษณ์เป็นผู้นำ เป็นบอสในที่ทำงาน แต่ที่บ้านเธอไม่เคยมีกฎเหล็กกับลูก เนื่องจากตัวเธอเองถูกเลี้ยงมาแบบเข้มงวด จึงบอกตัวเองว่าจะไม่เข้มงวดกับลูก แต่สิ่งที่จะสืบสานปณิธานของคุณตาคุณยายก็คือเรื่องการเรียน จะส่งเสริมให้ลูกเรียนให้ถึงที่สุด

กลับไปที่เรื่องของคนลูก… ซินดี้บอกว่า ความคาดหวังสูงสุดของเธอที่มีต่อสังคมในเรื่อง LGBT คือ อยากเห็นสังคมปฏิบัติต่อ LGBT อย่างเท่าเทียม อยากให้มองสิ่งที่แต่ละคนทำโดยไม่เกี่ยวกับว่าคนนั้นเป็นเพศอะไร “หนูไม่ได้ต้องการความพิเศษหรืออะไรที่ทำให้แปลกแยก เราต้องการให้กลมกลืนไปกับทุกเพศในสังคม”

เธอแสดงความเห็นเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิตด้วยว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นขั้นแรกสำหรับความเท่าเทียม เธอมองว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ให้คู่ชีวิตดูแลทรัพย์สมบัติของกันและกันได้ สามารถเซ็นอนุญาตให้รักษาพยาบาลได้ นั่นถือว่าดีแล้ว เพราะเป็นการทำในเรื่องที่จำเป็นก่อน “มันมีวิธีเดินหลายแบบ ไม่จำเป็นจะต้องพุ่งไปสุดทางตั้งแต่แรก”

ส่วนเป้าหมายของชีวิต เธอตั้งธงว่า “จะต้องดูแลพ่อแม่ให้ได้เหมือนที่เขาดูแลเรา อยากกินอะไรต้องได้กิน ต้องไม่ลำบาก ภารกิจคือดูแลพ่อแม่ให้สบาย”


เรื่องที่เล่ามานี้ นอกจากเป็นเรื่องราวชีวิตของสาวประเภทสองคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะเป็นในสิ่งที่อยากเป็น นี่ยังเป็นเรื่องราวน่ารัก ชวนยิ้ม ของแม่และลูกคู่หนึ่งที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอรับเทศกาล “วันแม่” ปีนี้