ชวน “เศรษฐา ทวีสิน” คุยนอกทวิตเตอร์ ปังทุกประเด็น เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง

เศรษฐา ทวีสิน
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง/ภาพ

ถ้าพูดภาษาฟุตบอลที่เจ้าตัวชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจคงต้องบอกว่าช่วงเวลานี้ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ในช่วง “ฟอร์มดีจัด” ทุกข้อความที่เขาแสดงความคิดเห็นประเด็นสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ในทวิตเตอร์ (Twitter) ล้วนถูกรีทวีต (retweet) รัว ๆ หลักพันหลักหมื่นครั้ง และถูกสื่อมวลชนนำข้อความไปนำเสนอเป็นข่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอย่างมากเช่นกัน

ความคิดเห็นที่เศรษฐาแสดงออกมา ไม่ได้ใช้ถ้อยคำด่าทอหยาบคาย แต่พูดถึงตัวปัญหาอย่างสุภาพและตรงประเด็น เปรียบเหมือนนักเตะตำแหน่งศูนย์หน้าสไตล์ไม่ดุดัน แต่ฉลาดและคม ยิงเข้าประตูทุกลูก แต่เราก็ยังไม่สามารถสรุปว่านักเตะคนนี้อยู่ในช่วง “ท็อปฟอร์ม” แล้วหรือยัง เพราะเท่าที่สังเกตดูยังเห็นแนวโน้มที่ฟอร์มการเล่นของเขาจะดีขึ้นไปได้อีกเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด

เมื่อเห็นว่าผู้บริหารชื่อดังใช้เวลากับการแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามผู้คนในทวิตเตอร์มากขนาดนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ก็นึกประเด็นสัมภาษณ์สนุก ๆ ขึ้นมา จึงทวีตไปหาเจ้าตัวว่า “อยากสัมภาษณ์เรื่องคุณเศรษฐากับทวิตเตอร์จังเลยค่ะ” ข้อดีของการสื่อในโลกของเจ้านกสีฟ้า คือ ความรวดเร็ว ไม่กี่นาทีเศรษฐาก็ตอบมา หลังจากนั้นไม่กี่วันทีมงานของเราก็ได้ไปนั่งคุยกับบิ๊กบอส “แสนสิริ” ที่ “สิริ แคมปัส” ซึ่งการสนทนาครั้งนี้เราได้หยิบประเด็นน่าสนใจในทวิตเตอร์ออกมาคุยกันแบบยาว ๆ เต็มอิ่มทุกประเด็น และได้คำตอบปัง ๆ ทุกประเด็นด้วย

Q : คุณใช้ทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งตอนนั้นทวิตเตอร์ยังไม่เป็นที่นิยมมากในไทย อะไรเป็นเหตุผลที่เลือกใช้ทวิตเตอร์ และเป็นเพียงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเดียวที่เลือกใช้

เหตุผลหลักเลยเพราะว่าผมไม่มีอินสตาแกรม ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีช่องทางโซเชียลมีเดียที่จะสื่อสารกับพนักงาน กับลูกค้า หรือสาธารณชนทั่วไป ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่สามารถสื่อสารได้โดยจำกัดใจความ โดยส่วนตัวไม่ชอบอะไรเยอะ ๆ สมัยก่อนพิมพ์ได้ 140 ตัวอักษร จะเขียนอะไรก็ต้องคิดให้ดี เวลาอ่านของคนอื่นก็รู้สึกว่ามันได้ใจความดี อันนั้นเหตุผลหลัก และเป็นช่องทางติดตามข่าวสารด้วย เพราะเขาจะเขียนเฉพาะ headline ถ้าน่าสนใจมากเราก็กดอ่านในลิงก์ ถ้าไม่ต้องการอ่านอย่างน้อยก็ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกนี้บ้าง

Q : ช่วงหลังคุณแสดงความคิดเห็นหลายเรื่องมาก ไปจนถึงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อะไรเป็นเหตุผลที่คิดว่าถึงจุดที่ต้องพูดมากขึ้นแล้ว

เพราะว่าอะไรหลาย ๆ อย่างครับ follower เราเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าถ้าเขามาตามเรา แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างซึ่งเราเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริษัทเรา มุมมองเกี่ยวกับสังคม เรื่องกีฬา เป็นต้นผมก็คิดว่าอาจจะถึงเวลาที่จะต้องแสดงความคิดเห็นบ้างแล้ว ผมอยู่ในวงการมาก็ 30 กว่าปีแล้ว ก็คิดว่าคงจะมีข้อมูลหรือมีข้อคิดบางอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้ติดตาม

ถ้าสังเกตสิ่งที่ผมเขียนเป็นเรื่องที่ผมมีความกังวลเกี่ยวกับสังคมหรือด้านเศรษฐกิจ แล้วก็วิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ได้เคลมว่าวิธีของเราถูกหรือดีที่สุด แต่มันเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหา แล้วก็พยายามจะมองไปข้างหน้าด้วยว่า อะไรจะเป็นผลกระทบต่อไปในอนาคตบ้าง ก็คิดว่าถึงเวลาที่น่าจะออกมาแชร์เรื่องพวกนี้ได้ หรืออีกอันหนึ่งคือ เป็นช่องทางสื่อสารกับลูกบ้านหรือลูกค้าของเรา ซึ่งไม่ใช่ทุกคนมาชม บางคนก็มาร้องเรียน มาเสนอแนะ ผมพยายามจะตอบเอง หรือให้ทีมงานส่งต่อข้อมูลไปให้ ผมว่ามันเป็นช่องทางหนึ่งที่เราสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

เศรษฐา ทวีสิน

Q : เวลาแสดงความเห็นประเด็นใหญ่ ๆ ของบ้านเมืองที่ message มันควรจะไปถึงผู้บริหารประเทศ คิดว่าอยากให้มันไปถึงเขาไหม หรือคิดว่าได้สื่อสารกับคนทั่วไปก็พอแล้ว

ต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราก็ถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ในแง่ของความคิด-การแสดงออกเราก็ต้องระวังถึงความละเอียดอ่อนของสังคมด้วย ถ้าพูดเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ มันไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิดเสมอไป ผมเองอาจจะผิดก็ได้ และอาจจะถูกบ้างก็ได้ คุณฐากูร บุนปาน ซึ่งเป็นเพื่อนผมตั้งแต่อนุบาลบอกว่าเวลาคุณเขียนอะไรให้เอาเรื่องของ “ความ” เป็นหลัก ไม่ใช่เอาเรื่องของ “คน” เป็นหลัก พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ อย่าไปว่าคน  เอาเรื่องเป็นเหตุเป็นผล น่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะหรือทำให้มีความละเอียดอ่อนในการเขียนได้เยอะขึ้น อันนี้เป็นไกด์ไลน์หลักของผม ซึ่งเราพยายามที่จะ keep ให้ได้ เรื่องของเศรษฐกิจ สภาพสังคมปัจจุบัน ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อยากฟังความคิดเห็นของผู้บริหารที่มาจากภาคส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นอะไรที่เราพอจะแชร์ได้เราก็อยากแชร์

Q : เหตุผลที่ไม่ไปเจอนายกฯ ตอนที่ท่านเชิญ ไม่อยากไปแชร์กับท่านต่อหน้าเหรอ

วันนั้นผมมีนัดไปหาหมอ แต่ว่าเรื่องการสื่อสารไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี ผมเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกไปแล้วครับเมื่อเดือนพฤษภาคม มีข้อเสนอแนะประมาณ 10 ข้อ เป็นเรื่องที่พูดถึงภาคสังหาริมทรัพย์ด้วย พูดถึงเรื่องประเทศด้วย เนื้อหาใจความผมขัดเกลาอย่างดี คิดว่าเราเป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้ สมมุติว่าวันนั้นผมไม่ได้นัดหมอไว้ ผมไปเจอท่านผมก็พูดเรื่องเดิมอีกเหมือนกัน ก็ให้โอกาสคนอื่นเขาไปดีกว่า ผมว่ามันเนิ่นนานมาแล้วล่ะ เราอยู่กับปัญหามานานพอสมควรแล้ว

Q : ผ่านมาหลายเดือนมีอะไรอยากเสนอแนะเพิ่มเติมไหม

ในแง่ของเนื้อหาสาระคงไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะว่าเขียนไปแล้ว และปัญหาเดิม ๆ ก็ยังไม่ถูกจัดการให้มันชัดเจน ผมก็อยากจะบอกว่า ทำเถอะครับ ท่านนายกฯรีบทำเถอะ เพราะว่าหลาย ๆ เซ็กเตอร์เดือดร้อน ก็เข้าใจว่าท่านมีขีดจำกัด ทางด้านกฎหมาย ทางด้านข้อมูล แต่ว่าวันนี้เศรษฐกิจมันดิ่งลงไปพอสมควร ผมก็อยากให้ท่านทำอะไรทำเถอะ

Q : ก่อนหน้านี้เห็นพูดถึงสเป็กรัฐมนตรีคลัง พูดอีกทีได้ไหม

ได้ครับ มี 5 กล้า รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ผมอยากจะแนะนำท่านให้กล้าจะคุยกับท่านนายกฯว่า ถ้าเข้ามาจะทำอย่างนี้ 1-2-3-4-5 ถ้าตกลงรับตำแหน่งให้เสนอเลยว่าจะทำอะไร กล้าที่จะขับเคลื่อนเรื่องข้าราชการ ช่วยกันผลักดันงานให้เร็วที่สุด เป็นคนที่จะต้องกล้าทำทุกอย่าง เรื่องสำคัญที่สุด คือ ต้องทำเลย ทำเถอะมีเรื่องที่ต้องทำเยอะมาก วันนี้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่ายังดีอยู่ ที่บอกว่าหนี้สาธารณะจะถึง 60% แล้ว ช่วงโควิดหนี้ของทุกประเทศก็ขึ้นหมด ของเราก็สามารถขึ้นได้ 60% เป็นแค่กรอบเฉย ๆ การที่จะต่อสู้กับเศรษฐกิจเลวร้ายคุณจะต้องมีกระสุน ตอนนี้ก็ต้องกู้ก่อน เพราะว่ารายได้ของประเทศลดลงจากการเก็บภาษีได้น้อยลง แต่ต้องมีการกระตุ้นเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง ผมอยากฝากไว้ก่อน

Q : กลับไปเรื่องการใช้ทวิตเตอร์ มีคน mention หาเยอะมาก หลากหลายประเด็น คุณตอบทั้งหมดหรือเลือกตอบอย่างไร

ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า “เลือกตอบ” หรือเปล่า ผมพยายามตอบทุกคน ยกเว้นคนที่ใช้คำหยาบคายหรือว่าเอาความไม่พอใจมาระบายออก ผมก็คงไม่ตอบ ถ้ามาคอมเพลนมาบ่นเรื่องแสนสิริ ผมพยายามตอบทุกอัน หรืออย่างน้อยผมบอกว่าผมจะเช็กให้แล้วจะรีบติดต่อไป ซึ่งส่วนมากวันรุ่งขึ้นผมก็ติดตามเจ้าหน้าที่ของเราว่าติดต่อเขาไปหรือยัง ผมบอกตลอดว่าต้องติดต่อเขาไปนะ ต้องบอกว่าจะไปแก้ปัญหาให้เขาเมื่อไหร่ ปัญหานี้แก้ไขได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ต้องบอกไป

Q : การที่คุณมาตอบเอง ก็ได้รับคำชมว่า “ดีจังเลยผู้บริหารตอบเอง แก้ปัญหาได้รวดเร็ว” คำชมเหล่านี้ทำให้คิดว่าการใช้ทวิตเตอร์ของตัวเองมาถูกทางไหม คิดว่าเป็นการทำการตลาดที่ดีโดยไม่ตั้งใจหรือเปล่า

มันแล้วแต่ทางใครทางมันมากกว่า คนอื่นอาจจะชอบใช้ช่องทางอื่นในการสื่อสาร ผมเลือกทางนี้แล้วผมก็ไม่แน่ใจนะครับว่า ทำได้ดีหรือเปล่า แต่ผมก็อยากจะแชร์มันต่อไป อยากจะทำต่อไป ก็พยายามทำให้ดีที่สุด

เศรษฐา ทวีสิน

Q : คิดว่ามันเป็นหน้าที่หนึ่งหรือเปล่า เหมือนเป็นตัวแทนบริษัท หรือเป็น brand ambassador ของแสนสิริไปแล้ว

ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่า brand ambassador ถูกหรือเปล่า แต่ว่าเป็นหน้าที่ ใช่ เพราะว่าจริง ๆ ก็ต้องมีวิธีการสื่อสาร ถ้าเป็นสมัยก่อนจะมีจดหมายคอมเพลนมาที่โต๊ะผม สมัยนี้ก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ทวิตเตอร์เป็นอะไรที่รวดเร็วและสามารถส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องคอยมารับเอกสารไปมา

Q : ทุกวันนี้ใช้เวลากับทวิตเตอร์วันละกี่ชั่วโมง แบ่งเวลายังไง

ส่วนมากที่ใช้เวลากับทวิตเตอร์เยอะ คือ ตอนตื่นนอนกับก่อนนอน และตอนเที่ยง ในแง่ของการตลาดก็ไม่ปฏิเสธ ถ้าเกิดมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ผมก็จะมานำเสนอด้วย บางคนอาจจะคิดว่ามาเล่นทวิตเตอร์เพราะมาขายของใช่ไหม ส่วนหนึ่งก็ใช่ เพราะมันเป็นช่องทางที่จะสื่อสารไปได้ตรง ๆ

Q : มีตัวอย่างการที่รับฟังความเห็นคนในทวิตเตอร์แล้วเอามาปรับใช้กับงานไหม อาจจะเป็นการไปแก้ปัญหาให้ลูกค้า หรือการออกแคมเปญต่าง ๆ

คงไม่มีอะไรที่สามารถให้เป็นภาพใหญ่ได้ แต่ว่ามีการแก้ไขให้ได้ เช่น “อยากเป็นลูกค้าแสนสิริจัง แต่เสิร์ชโครงการอณาสิริแล้วไม่พบรีวิวเลย” อย่างนี้ผมก็คอมเพลนกับทีมการตลาดว่า ไม่มีใครไปรีวิวอณาสิริเลยเหรอ อย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นอะไรที่ให้ประโยชน์ในการที่เราจะมารีเช็กว่าเราได้ทำการตลาดอย่างถูกต้องหรือเปล่า แต่ยังไม่เจออะไรที่แบบว่าน่าจะทำแคมเปญแบบไหน แล้วมานั่งคิดกัน

Q : ในมุมของผู้บริหารธุรกิจได้ประโยชน์อะไรจากการใช้ทวิตเตอร์บ้าง

ได้เรียนรู้จากผู้บริหารท่านอื่น ๆ ในต่างประเทศว่าเขาทำยังไง เขามีการแก้ไขปัญหายังไง เขามีการสื่อสารอย่างไร แล้วก็ได้ติดตามข่าวสารที่ตัวเองชอบ อย่างเช่น เรื่องกีฬา ก็ถือว่าเป็นอะไรที่รวดเร็วและสนุกสนาน

Q : คิดว่าการสื่อสารที่ดีแบบคนทั่วไปกับการสื่อสารที่ดีแบบผู้บริหาร มีมาตรฐานที่ต่างกันไหม การเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กรหรือผู้นำประเทศ ต้องมีคุณสมบัติขั้นที่เหนือกว่าการสื่อสารแบบคนทั่วไปอย่างไรบ้าง

คนที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร เวลาพูดอะไรมีคนตามอยู่เยอะ มีคนเพ่งเล็งอยู่เยอะ เพราะฉะนั้น การใช้ภาษาก็เป็นอะไรที่สำคัญ กฎของผมเวลาจะใช้ทวิตเตอร์ คือ ต้องมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างไม่ทางการมาก แล้วก็พยายามไม่พูดถึงเรื่องบุคคล “พูดเรื่องความ ไม่ใช่คน” อันนี้ผมพยายามท่องตลอดเวลา ก็จะหลีกเลี่ยงการปะทะได้

Q : ผู้นำประเทศเรา พลเอกประยุทธ์มีการสื่อสารเป็นอย่างไรบ้างในสายตาของคุณ

ท่านพลเอกประยุทธ์ ต้องเข้าใจว่าท่านเป็นทหาร ท่านถูกเทรนมาให้เป็นทหาร เพราะฉะนั้น วิธีการพูดอาจจะห้วน มันเป็นแคแร็กเตอร์ของบุคคล ถ้าถามคงไม่ใช่สไตล์ของผม คนเราควรจะมีการพูดที่มันประนีประนอม แต่ว่าท่านเป็นถึงแม่ทัพนายกองท่านก็คงชินกับการทำอย่างนี้มั้ง แต่ผมเชื่อนะครับว่าท่านมีความหวังดีกับประเทศ ผมเองผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลาย ๆ อย่างของท่าน เหมือนคนอยู่ด้วยกันนี่แหละครับ มันก็ไม่มีอะไรที่เห็นด้วยกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ มีความเห็นต่าง แต่ว่าต้องคุยกันให้ได้ ท่านเองรู้ดีมากกว่าในเรื่องการบริหารจัดการประเทศ ท่านรู้ดีถึงขอบขีดจำกัดของการที่ท่านสามารถแก้ไขปัญหาได้ เราถือว่าเราเป็นคนนอก แต่เราก็มีสิทธิ์จะมองเข้าไปแล้วเสนอแนะได้ ผมเสนอ 10 ข้อท่านทำ 1 ข้อผมก็ดีใจแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว การที่ผมทวีตเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องที่ยังไม่แก้ไขปัญหา มันเป็นความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ที่มีความหวังดีอยากให้ท่านแก้ไข

Q : ถือว่าเป็นการกระทุ้งให้รีบแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง

เป็นหน้าที่ของผมมากกว่า จะเป็นการทำหน้าที่ จะเป็นการกระทุ้ง หรือแนะนำ หรือว่าเสนอแนะ อะไรก็แล้วแต่ อยากให้ท่านทราบว่ามีคนเดือดร้อน แต่ก็ไม่อยากจะบอกเฉย ๆ ว่าเดือดร้อนนะ อยากมีคำเสนอแนะไปด้วย แต่ว่าก็อย่างที่บอก ท่านรู้ขอบเขตที่ท่านทำอะไรได้มากกว่า ท่านเข้าใจขอบเขตของกฎหมาย ของสถานภาพการเงินการคลัง อาจจะมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ท่านไม่สามารถทำได้ก็ได้ ผมเชื่อว่าท่านก็คงพยายามที่จะทำให้ดีที่สุด แต่ว่ามันก็ยังไม่ดี

Q : รัฐบาลทำมา 6 ปีแล้ว ยังมีประเด็นอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง คิดว่าต้องใช้เวลาแค่ไหนถึงจะเห็นว่ามันดีพอ

คงมีหลายประเด็นเหมือนกันครับ เรื่องของความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องของคนจน เรื่องของความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และผมว่าโชคไม่เข้าข้างท่านตรงที่มีโควิดด้วย ก็เป็นอะไรที่น่าเห็นใจ เราในฐานะคนไทยด้วยกันก็ต้องช่วยกันในหลายมิติ เราก็ต้องตระหนักถึงความลึกของปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วย อย่าเอาแต่ความมันปาก อย่าเอาแต่ความสนุกสนานในการที่มาประชดมากระแทกแดกดันกัน แต่บางทีมันก็ต้องมี บางทีก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน เพราะปัญหามันมีอยู่จริง ๆ เราอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้ แต่ปัญหามันมี ท่านทราบหรือเปล่า

เศรษฐา ทวีสิน

Q : คุณมีแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไงบ้าง เห็นพูดถึงเรื่องภาษีมรดก

ภาษีมรดกเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมพูดไปแล้วผมโดนรุมสกรัมแน่นอน คอนเซ็ปต์ภาษีง่าย ๆ เลยนะครับ ภาษีคุณจ่ายเมื่อคุณมีรายได้ คุณได้มรดกมาเป็นรายได้ คุณก็ต้องจ่ายภาษี ภาษีเป็นมาตรการทางการเงินอย่างหนึ่ง ซึ่งลดความเหลื่อมล้ำ
ทางสังคม ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น เขาก็เอามาสร้างถนน เอามาทำเรื่องจำนำข้าว ประกันข้าว แล้วแต่รัฐบาลไหนจะเรียกอะไร ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือผู้พิการหรือคนแก่ หรือเงินลดหย่อนเรื่องท่องเที่ยว หรืออะไรก็ได้หมด เรามีหน้าที่ต้องจ่าย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

Q : คนรวยเขาอาจจะคิดว่า พอจ่ายไปแล้วเงินมันถูกนำไปทำโครงการสำหรับคนจน อย่างที่เคยได้ยินว่า 
“อุ้มคนจน” คุณมองเรื่องนี้ยังไง

คุณมีตังค์เยอะเพราะอะไร คุณมีตังค์เยอะเพราะคุณใช้ทรัพยากรของประเทศเยอะ สมมุติว่าผมเป็นบริษัทแสนสิริ เรามีการก่อสร้างเยอะ ใช้รถใช้ถนนเยอะกว่า ถนนก็เสื่อมได้ แสนสิริมีกำไรก็ต้องจ่ายภาษี คนเราอยู่ดี ๆ เงินมันไม่ได้ตกลงมาจากต้นไม้ มันต้องไปทำอะไรมาสักอย่าง คุณใช้เยอะคุณก็ต้องคืนให้กับประเทศเยอะ ผมว่าเป็นอะไรที่ชัดเจนนะ ถ้าได้มาคุณก็ต้องจ่าย เพราะคุณอยู่ในประเทศไทย มันเป็นประเทศของเรา แล้วคนที่เขามีรายได้น้อยคุณจะไปเอาจากเขาเยอะได้ไง

ผมว่าเป็นวลีที่ผิด “อุ้มคนจน” ฟังแล้วก็เฮิร์ตนะ ฟังแล้วมันเหมือนกับดูถูก อย่าเรียกว่าอุ้มคนจนเลย มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องคุณมีเยอะ คุณก็ต้องจ่ายเยอะ ไม่งั้นมันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ยังไง ถ้าคนเรามีความคิดอย่างนี้อยู่ตั้งแต่ตอนต้น ช่องว่างตรงนี้มันไม่มีทางลด มันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ คุณมีความสุขได้ยังไง คุณอยู่อย่างมีความสุขแล้วอีกคนหนึ่งไม่มีความสุข มองลงไปแค่ 200 เมตรเห็นคนยากไร้ ผมไม่มีความสุข ผมอยากให้ทุกคนมีกินมีใช้พอสมควรเหมือนกัน

Q : เรื่องภาษีมรดกเป็น topic สนทนาในหมู่นักธุรกิจหรือคนในระดับสังคมของคุณไหม

ไม่ครับ สังคมผมเขาไม่อยากพูดอยู่แล้ว เขาได้สิ่งที่เขาต้องการ เขาจะพูดทำไม เขาเงียบกริบเลยครับ บางคนบอกว่าจ่ายไปก็เอาไปคอร์รัปชั่น เฮ้ย มันคนละประเด็น ปัญหาคอร์รัปชั่นคุณก็ต้องแก้ไป มรดกมันเป็นรายได้ คุณได้มาคุณก็ต้องจ่าย

Q : คิดยังไงกับ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ลาออก ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อที่ประชาชนไม่ยอมรับอยู่ เพราะฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสเต็ปแรกที่รัฐบาลต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข และต้องมีความจริงใจที่จะแก้ไขจริง ๆ หลายภาคส่วนก็มีการพูดกันว่ามันมีข้อเสียตรงไหนบ้าง อะไรที่พอทำได้ อะไรที่ไม่ขัดกับความเป็นไทยผมว่าทำซะนะครับ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง ส.ว.เลือกนายกฯ ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน ผมไม่เห็นว่า ส.ว. 250 คนมีอำนาจเหนือคนธรรมดาทั่วไป อันนี้ก็เป็นความเหลื่อมล้ำอันหนึ่ง สิ่งที่ต้องจริงใจอันแรก คือ การเลือก ส.ส.ร. ต้องคนที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนจริง ๆ ส่วนยุบสภา ลาออก ถ้าเกิดว่าตั้ง ส.ส.ร.ได้แล้วมันก็ต้องยุบสภา ลาออกไปตามกฎหมาย แต่ก็ต้องมีอีกว่า ลาออกแล้วใครจะมา คนที่จะมาก็ต้องรีบเสนอตัว รีบนำความคิดความอ่านมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

Q : แสดงความเห็นบ่อย ๆ สนใจงานการเมืองหรือเปล่า หรืออยากมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบไหนไหม

ตอนนี้ไม่เคยคิดว่าจะเล่นการเมือง แต่ก็อยากมีส่วนในการให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำกับใครก็ตามที่บริหารประเทศ ให้มุมมองจากนักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมภาคหนึ่ง และอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ได้มีจุดประสงค์อะไรที่มันใหญ่โตไปกว่านั้น ไม่มี ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน

Q : ในทวิตเตอร์มีคนถามว่า ไม่เจอคุณเศรษฐาที่การชุมนุม แล้วคุณตอบว่าแค่นี้ก็โดนเยอะแล้ว เล่าได้ไหมว่าโดนอย่างไร จากฝ่ายไหนบ้าง

หลายอย่างครับ สังคมที่อยู่ก็มีคนที่ไม่ชอบในสิ่งที่ผมพูด หรือว่าในสิ่งที่ผมยึดถือ เขาก็อาจจะไม่อยากเสวนาด้วย บางคนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ มันก็น่าเสียใจ แต่ว่าก็ช่วยไม่ได้ คุณเลือกแบบนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น และผมก็คิดว่าการที่เราเป็นผู้ใหญ่ในวงการ อะไรที่ถูกต้องเราก็สนับสนุน เราไม่จำเป็นต้องสนับสนุนในแง่การไปปรากฏตัว สมมุติว่าไปแล้วเขาพูดมา 10 อย่าง ถ้าผมเห็นด้วย 3 ไม่เห็นด้วย 7 ก็อาจจะถูกบิดเบือนอะไรได้บางอย่าง ตอนนี้อะไรที่เราทำได้เราก็ทำ ผมก็รณรงค์เรื่องลดช่องว่างระหว่างรายได้ รณรงค์เรื่องภาษี รณรงค์ให้รัฐบาลรีบออกมาตรการ คือเราทำทุกอย่างไม่ได้ เราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ และหวังว่าสิ่งที่เราพยายามจะทำมันคง make a difference ได้บ้างไม่มากก็น้อย

Q : ที่บอกว่าในสังคมที่อยู่ก็มีคนไม่คุยด้วย มีถึงขั้นเสียมิตรภาพไปเพราะการเมืองไหม

คำตอบเหรอ ใช่แน่นอนครับ เรื่องการเมือง เรื่องการที่เขาเข้าใจผิดว่าผมเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ผมไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น ผมเป็นของผมแบบนี้ เขาเข้าใจผิดกันเอง เดินอยู่ที่สโมสรที่เป็นเมมเบอร์ด้วยกัน บางคนก็มองเราไม่ดี ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็อยู่กันไป คิดซะว่าถ้าเดินไปที่ไหนแล้วศีรษะเปียกไม่ใช่เพราะฝน แต่เป็นเพราะน้ำลาย ถ้าทำใจได้ก็โอเค เราไม่ไปต่อล้อต่อเถียง เรารู้ว่าเราเป็นอะไร เรายืนอยู่ตรงไหน เราทำอะไร

Q : ประมาณ 10 ปีที่อยู่ในทวิตเตอร์ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมในทวิตเตอร์อย่างไรบ้าง มันเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมจริงอย่างไร

ผมว่าคนรุ่นใหม่ใช้ทวิตเตอร์เยอะขึ้น เป็นที่ออกความคิดเห็นได้ดี ได้คำจำกัดความชัดเจน และมีนักการเมืองมาใช้เยอะขึ้น แต่นักธุรกิจยังใช้น้อย ซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไม ผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน

Q : ขอเรื่องฟุตบอลสักหน่อย ตั้งแต่เกิดโควิดมาถึงตอนนี้ มองการจัดการในภาวะวิกฤตของเจอร์เก้น คล็อปป์ เป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่าเขาซื้อตัวนักเตะได้ดีมาก ไม่ได้ splash เงินออกไปเยอะมาก ช่วงโควิดที่ผมคุยกับคุณต๊อบ อัยยวัฒน์ เขาบอกว่า ไม่ต้องห่วง เรื่องการซื้อตัวนักเตะราคาบ้าเลือดไม่มีแน่นอน เพราะรายได้หายไป 30% ผมว่าก็ต้องอยู่ ๆ กันไป ทุกคนก็ต้องอยู่ให้น้อยลง นักเตะแทนที่จะได้เงินเยอะก็ต้องได้น้อย โลกนี้ถูก reset นะผมว่า บริษัทใหญ่ ๆ เคยกำไร 100 ก็เหลือ 10 ก็ต้องลากกันไป พนักงานเขาก็รู้ว่าที่เคยคาดหวังโบนัส 100 ก็จะเหลือแค่ 20 มันเป็นการ reset ไลฟ์สไตล์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินอาหารนอกบ้าน เรื่องการดูหนังที่โรงหนัง เรื่องการออกกำลังกาย มัน reset ใหม่หมดเลย

Q : แล้วคุณ reset อะไรตัวเองบ้าง

ผมพยายามให้เยอะขึ้น แต่การให้ส่วนมากผมไหว้พระในบ้านก่อน ผมให้คนที่ทำงานให้ผม คนที่ผมรู้จัก คนใกล้ตัว คนเหล่านี้เขาช่วยเหลือผมมา คนที่เลี้ยงดูแม่ผม คนที่เลี้ยงดูลูกผมมา เขาเดือดร้อนเราก็ให้เขาเยอะขึ้น เราจะไปทำอะไรตอนที่เขาไม่อยู่แล้วมันไม่มีความหมาย สู้ช่วงเวลาที่เขาอยู่กับเรา เราให้เขาอยู่กับเราอย่างมีความสุขดีกว่า พระในบ้านไม่ได้หมายถึงแค่พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย แต่หมายถึงคนทุกคน ขอโทษนะครับ คนใช้ที่บ้านที่เขาอยู่กับเรามา 20 ปี เราก็ต้องให้เขาเยอะขึ้น ถึงแม้ว่าอยู่กับเราเขาสบาย แต่ครอบครัวเขาอาจจะเดือดร้อนก็ได้ ส่วนมากผมทำในวงแคบ เพราะว่าในวงกว้างเราทำในนามของบริษัทอยู่แล้ว