ภาพยนตร์เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงที่น่าดูในห้วงเวลานี้

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เสียงปราศรัย ข้อเรียกร้อง เสียงเพลงประท้วงจากพื้นที่การชุมนุมเป็นเสียงที่ดังที่สุดในประเทศไทยในห้วงเวลา 3-4 เดือนมานี้ ดังมากขนาดที่สื่อต่างชาติและคนในต่างประเทศก็ยังได้ยิน มีคนดังหลายประเทศที่มาร่วม call out กับผู้ชุมนุมในไทยด้วย

ในเมืองไทยเราเองเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักเรื่องเดียวที่ผู้คนสนใจจนแทบจะไม่สนใจเรื่องอื่นกันเลย ซึ่งก็เป็นสภาพการณ์ที่ไม่ได้เกินความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่มากที่สุด จึงไม่แปลกที่จะอยู่ในความสนใจของผู้คนมากที่สุด

ในห้วงเวลาแบบนี้ ที่คนหมู่มากพุ่งความสนใจไปที่การชุมนุมประท้วง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากชวนดูภาพยนตร์เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงที่เนื้อหาเข้ากับสถานการณ์ ทั้งให้ความรู้ ให้ความรู้สึกมีอารมณ์ร่วม และให้ความสนุกบันเทิงไปด้วยในเวลาเดียวกัน

14 ตุลา สงครามประชาชน
ผู้กำกับ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
ปีที่ฉาย : 2001

14 ตุลา สงครามประชาชน นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิระนันท์ พิตรปรีชา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้นักศึกษาและประชาชนได้รับชัยชนะในการต่อสู้ แต่หลังเหตุการณ์จบลง เสกสรรค์พบว่าหลายปัญหายังคงอยู่ “ขนาดผ่าน 14 ตุลามา บาดเจ็บล้มตายกันไปไม่รู้เท่าไหร่ จนถึงวันนี้คนที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบก็ยังถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่”

เสกสรรค์คิดว่าไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้คนยากไร้มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากระบอบสังคมนิยม ขณะเดียวกัน ชีวิตของเขาก็เริ่มอยู่ยาก เพื่อนฝูงที่ทำงานช่วยเหลือชาวนาและแรงงานร่วมกับเขาถูกขู่ฆ่า ตัวเขาเองก็โดนสะกดรอยตาม ด้วยเหตุผลทั้งสองด้าน เสกสรรค์จึงตัดสินใจชวนคนรักเข้าป่าไปร่วมปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในปี 2518

 

ราว 1 ปีหลังจากนั้น เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นักศึกษาจำนวนมากต้องหนีเข้าป่า เสกสรรค์และจิระนันท์ผู้อยู่ในป่ามาก่อนได้ต้อนรับนักศึกษาที่คุ้นเคยและคุ้นหน้าคุ้นตากันหลายคน

เสกสรรค์เข้าป่าไปด้วยความฝันและความหวังจะทำให้คนยากไร้และชนชั้นกรรมาชีพมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เขาพบว่าหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในป่าก็ไม่ต่างจากในเมือง การขัดแย้งทางความคิด การขาดความเป็นประชาธิปไตย ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ระบบอุปถัมภ์ ระบบชนชั้น และการทำตัวเป็นเมืองขึ้นของจีน เป็นปัญหาที่เสกสรรค์เผชิญ เขาพยายามเสนอแนวทางเพื่อการปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซ้ำยังถูกจับตามองโดยฝ่ายนำจำนวนหนึ่ง และถูกมองว่าเป็นพวกค้านพรรค

ชีวิตของเขาและคนรักต้องเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยการบงการของพรรค ในที่สุดความอดทนอดกลั้นของเสกสรรค์ก็สิ้นสุดลง เขารวบรวมเพื่อนนักศึกษาเตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายนำ ก่อนจะพบว่ามันคือสงครามที่ไม่มีวันได้รับชัยชนะ เสกสรรค์ จิระนันท์ และเพื่อน ๆ จึงตัดสินใจทยอยออกจากป่า ขณะที่ฝ่ายนำส่งมือสังหารตามล่าพวกเขา

ช่วงเวลาที่อยู่ในป่า มีหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เสกสรรค์นึกย้อนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านสายตาและมุมมองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และถึงแม้จะใช้ชื่อเรื่องว่า “14 ตุลา สงครามประชาชน” ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้พูดถึงเพียงเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ยังครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เรื่อยมาจนถึงปี 2523 ที่เสกสรรค์และจิระนันท์ออกจากป่าเข้ามอบตัวกับทางการ

Les Miserables
ผู้กำกับ : Tom Hooper
ปีที่ฉาย : 2012

Les Miserables มิวสิคัลฟิล์มเรื่องยิ่งใหญ่ในปี 2012 ของผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ (Tom Hooper) ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่องดังชื่อเดียวกัน ซึ่ง ณ เวลานั้นเปิดทำการแสดงมาแล้วราว 27 ปี แต่ต้นทางของเนื้อเรื่องจริง ๆ คือ บทประพันธ์นวนิยายอมตะเรื่อง Les Miserables ของวิกตอร์ อูโก้ (Victor Hugo) ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1862

เนื้อเรื่องของ Les Miserables เกี่ยวกับการลุกฮือของประชาชนในฝรั่งเศส อิงจากเรื่องจริงในช่วงปี ค.ศ. 1815-1832 จากปีสุดท้ายของยุคจักรพรรดินโปเลียน เรื่อยมาตลอดยุคฟื้นฟูราชวงศ์ โดยเล่าผ่านตัวละครหลัก คือ ฌอง วัลฌอง ชายที่ติดคุกเพราะขโมยขนมปังไปให้หลาน เขาพยายามจะหนีหลายครั้งจึงโดนเพิ่มโทษจำคุกนานเกือบ 20 ปี

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ชีวิตของเขาก็ยังยากลำบาก ไม่มีบ้าน และหางานทำไม่ได้ เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก แต่หลังจากได้รับการช่วยเหลือจากบาทหลวง วัลฌองได้เปลี่ยนตัวเอง จนได้เป็นนายกเทศมนตรีของเมือง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังมีชีวิตอยู่กับความหวาดระแวง เพราะเขาไม่ไปรายงานตัวกับทางการตามข้อแม้การปล่อยตัว เขาจึงโดนตำรวจที่ชื่อฌาแวร์ ผู้รับผิดชอบคดีของเขาติดตามตัวอยู่ตลอด

วันหนึ่งวัลฌองได้พบกับฟองทีน หญิงที่ต้องเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินเลี้ยงดูลูกสาว ฟองทีนโชคร้ายต้องจากโลกไปตั้งแต่ยังสาว ก่อนตายเธอได้ฝากลูกน้อยชื่อโคเซ็ตต์ไว้กับเขา วัลฌองหลบหนีและเลี้ยงดูลูกสาวของฟองทีนจนเติบโตเป็นสาวขึ้นมาในยุคสมัยที่เกิดการปฏิวัติ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของคนฝรั่งเศสเปลี่ยนไปจากเดิม

ในห้วงเวลาที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจของผู้กดขี่ วัลฌองเสียสละชีวิตของเขาปกป้องแฟนหนุ่มของโคเซ็ตต์ ที่เป็นแกนนำมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบศักดินา

นอกจากเนื้อหาที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้เพลง Do You Hear The People Sing ? เป็นที่คุ้นหูชาวไทยมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งเพลงที่ถูกนำมาใช้บ่อยในการชุมนุมประท้วงในยุคหลังมานี้ รวมถึงการเขียนชื่อเพลงนี้เป็นข้อความสื่อสารไปถึงรัฐบาลก็มีให้เห็นบ่อย ๆ

SELMA
ผู้กำกับ : Ava DuVernay
ปีที่ฉาย : 2014

ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้นำเสนอเรื่องจริงบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา ผ่านตัวละครหลักที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องคือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง เจ้าของสุนทรพจน์ “I have a dream” ในช่วงที่เขาเป็นผู้นำการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์การออกเสียงเลือกตั้งของคนผิวสีในปี 1965

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์การเดินขบวนที่ว่านี้ ดร.คิงเคยพบกับประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) และขอให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายให้พลเมืองผิวดำมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งเช่นเดียวกับพลเมืองผิวขาว แต่ประธานาธิบดีตอบว่า มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าให้ทำ

ดร.คิงจึงเชิญชวนพลเมืองผิวดำเดินขบวนประท้วงจากเมืองเซลมา ไปยังเมืองมอนต์โกเมอรี่ เมืองหลวงของรัฐแอละแบมา (Alabama) เป้าหมายของการเดินระยะทางกว่า 80 กิโลเมตรในครั้งนั้น คือ การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลงชื่อในร่างกฎหมาย เพื่อให้คนผิวสีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกับคนผิวขาว

จอร์จ วอลเลซ (George Wallace) ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา กล่าวต่อต้านการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งนี้ และการเดินขบวนก็ถูกโจมตีโดยกองกำลังของรัฐ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน แต่ ดร.คิงยังคงปลุกใจพี่น้องคนผิวดำของเขาให้สู้ต่อไป ขณะที่ตัวเขาเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม

 

การเดินขบวนครั้งนั้นนำไปสู่การที่ประธานาธิบดีจอห์นสันได้กล่าวในวาระประชุมร่วม (joint session) ของสภาคองเกรส ขอให้ผ่านร่างกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อขจัดข้อจำกัดในการลงคะแนนเลือกตั้งของคนผิวดำ และยกย่องความกล้าหาญของเหล่านักเคลื่อนไหว

A Taxi Driver
ผู้กำกับ : Jang Hoon
ปีที่ฉาย : 2017

A Taxi Driver ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ที่นำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู (Gwangju) ปี 1980 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนในเมืองควังจู ได้ชุมนุมประท้วงการประกาศกฎอัยการศึกของรัฐบาลเผด็จการ ช็อน ดูฮวาน (Chun Doo-Hwan) เป็นภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่ได้รับคำชื่นชมมากเรื่องหนึ่ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าผ่านสายตาของตัวละครหลักสองตัวที่มีตัวตนจริง คนหนึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ชื่อ คิม มันซบ อีกคนเป็นนักข่าวชาวเยอรมันชื่อ ปีเตอร์ ซึ่งประจำการอยู่ที่ฮ่องกง เมื่อทราบว่าเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ เขาไม่รอช้าที่จะมาทำข่าวในพื้นที่

คิม มันซบ เป็นคนขับแท็กซี่หาเช้ากินค่ำในกรุงโซล เขาไม่ได้สนใจการเมือง ทั้งยังก่นด่านักศึกษาว่าการชุมนุมที่สร้างความวุ่นวายเป็นเหตุให้เขามีผู้โดยสารน้อยลง ลำพังตัวเขาเองคงจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หากเขาไม่ได้รับผู้โดยสารชาวตะวันตกคนหนึ่งขึ้นรถ ซึ่งผู้โดยสารคนนั้นคือ ปีเตอร์ ที่กำลังจะไปทำข่าวที่ควังจู

คนขับแท็กซี่จากเมืองหลวงที่อยู่ตอนเหนือของประเทศ ขับรถพานักข่าวไปยังเมืองควังจูที่อยู่ทางตอนใต้ ทั้งสองคนพาผู้ชมไปเห็นเหตุการณ์ เห็นความจริง เห็นความโหดร้ายที่รัฐบาลเผด็จการทำกับประชาชนของตัวเอง

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น ข้อมูลของทางราชการเกาหลีใต้ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 160 คน แต่นั่นยังเป็นข้อถกเถียง เพราะฝั่งนักกิจกรรมบอกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจริงอาจมากกว่านี้ 3 เท่า

ที่น่าเศร้าคือ การล้มตายของประชาชนจำนวนมากขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้รัฐบาลเผด็จการของช็อน ดูฮวาน หมดอำนาจแต่อย่างใด เขายังคงอยู่ในตำแหน่งต่อมาอีก 8 ปี ซึ่งในปี 1987 เขาเตรียมลงจากตำแหน่งและจะส่งต่ออำนาจให้นายพลอีกคน แทนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน จึงทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศอีกครั้งในปี 1987 ในที่สุด ช็อน ดูฮวาน ต้องยอมให้มีการจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปี 1987 ซึ่งมีภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีอีกหลายเรื่องที่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้