อาหารเจ เจาะคนรุ่นใหม่ ในวันที่ “เทศกาลเจ” ไม่คึกคัก

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

เทศกาลกินเจ 2564 หรือเทศกาลถือศีลกินผัก ในปีนี้ตรงกับวันที่ 6-14 ตุลาคม ซึ่งก่อนที่จะเข้าเรื่องอยากพาคุณผู้อ่านไปรู้จักเทศกาลดังกล่าวนี้ก่อน โดย “เทศกาลกินเจ” ของทุกปีจะเริ่มต้นตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนตุลาคมตามปฏิทินสากล โดยตลอดช่วงเทศกาลจะมีระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

เทศกาลกินเจในประเทศไทย โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงปี 2368 ระบุถึงจุดเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในประเทศไทย จากการย้ายรกรากถิ่นฐานของชาวจีน มณฑลฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว เดินทางมายังแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบประเทศ สิงคโปร์, มาเลเซีย และทางตอนใต้ของไทยในจังหวัดภูเก็ตจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยรอบ

จังหวัดภูเก็ตจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นเทศกาลกินเจในประเทศไทย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เทศกาล “เจี๊ยะฉ่าย” ตำนานจุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวระบุไว้ว่า คณะงิ้วจากประเทศจีนได้เดินทางมาเปิดการแสดงที่จังหวัดภูเก็ต หลังจากคณะงิ้วได้เปิดทำการแสดงอยู่ระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วยเป็นไข้

และจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ปรึกษาหารือในหมู่คณะและได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้ว ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมดสิ้น

โดยพิธีเจี๊ยะฉ่ายเป็นพิธีสักการะบูชาพระราชาธิราช 9 พระองค์ ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า หลังจากได้ประกอบพิธีโรคภัยไข้เจ็บได้ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด ทำให้มีความเชื่อและศรัทธาในการถือศีลกินผักเป็นต้นมา

ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินเทศกาลกินเจปี’64 ไม่คึกคัก

ในปี 2564 แม้เทศกาลกินเจจะดูไม่คึกคักตามการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า เม็ดเงินในช่วงเทศกาลกินเจปี 2564 ใน กทม.จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท ลดลง 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อนหน้า

เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน และสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด

ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังระบุว่า 55% ของประชาชน กทม.ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภคและลดการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อน ๆ

ขณะที่ร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ หันมาเพิ่มเมนูอาหารเจ/วีแกนมากขึ้น เพื่อรุกตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมถึงร้านค้าปลีกสะดวกซื้อที่มีการวางจำหน่ายอาหารเจ/วีแกนที่หลากหลายขึ้น และมีการจัดส่งดีลิเวอรี่ทั้งแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ ๆ โ

ดยผู้ตอบแบบสำรวจ 81% ระบุว่า สนใจจะเลือกรับประทานเมนูอาหารที่เป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือก เพราะมีเมนูที่หลากหลายและหาซื้อได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการควรวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพตลาดในช่วงเทศกาล เช่น เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา ชูจุดขายเมนูสุขภาพ หรือเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์เมนู การเลือกวัตถุดิบ ช่องทางการสั่งซื้อ ตลอดจนบริการส่งสินค้าตามวันเวลาที่ลูกค้าสะดวก เป็นต้น

เชฟใหญ่ฮ่องกงแนะปรับเมนูเจสำหรับคนทุกวัย

เชฟชาน ยิ้วแลม เชฟใหญ่ประจำร้านอาหาร “ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน” กล่าวถึงพัฒนาการ “อาหารเจ” ในปี 2564 ว่า เทรนด์การทำอาหารเจในปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างมาก โดยสิ่งที่สังเกตได้ในวงการอาหารเจจะเน้นผสมผสาน (ฟิวชั่น) ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงจากต้นตำรับไปมาก แต่ส่วนตัวจะเน้นรักษาขนบธรรมเนียมและวิธีการทำอาหารแบบฉบับกวางตุ้งไว้เพราะเชฟเป็นชาวฮ่องกง

“พฤติกรรมการบริโภคอาหารในฮ่องกงจะเน้นทานมังสวิรัติที่มีไข่มีแป้งและผักเป็นส่วนประกอบ บางคนรับประทานตลอดทั้งปีและไม่ทานเนื้อสัตว์ที่มีเลือด แตกต่างจากคนไทยที่ทานเพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งตามความเชื่อคนไทย แต่คนฮ่องกงจะทานทั้งปี ถือเป็นการทานมังสวิรัติไม่ใช่วีแกนตามแบบชาวตะวันตก”

ขณะที่ความนิยมของอาหารจากพืช (plant base) ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลกินเจได้มีการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ “ไก่เจ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ plant base สูตรเฉพาะของทางร้าน แต่ส่วนใหญ่จะเน้นวัตถุดิบที่เป็นพืชผักเป็นหลักเนื่องจากดีต่อสุขภาพ

ดังนั้น ในปีนี้จึงได้พัฒนาเมนูเจสไตล์ฮ่องกงให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยคัดสรรวัตถุดิบชั้นดี และยังคงความเป็นอาหารเจสไตล์ฮ่องกงที่เน้นพืชผักเป็นหลัก ตามด้วยแป้งเจ home made โดยวัตถุดิบ 80% ที่นำเข้าจากฮ่องกง

พร้อมได้รังสรรค์เมนูพิเศษสำหรับเทศกาลเจปีนี้ อาทิ ซุปเกี๊ยวน้ำเสฉวนเจ, เปาะเปี๊ยะเจทอด, เต้าหู้ทอดไส้ซอสฟักทอง, แพนเค้กผักเจ, หมี่ซั่วผัดแห้งเห็ดรวม และผัดเต้าหู้ถั่วงอกเผือกเส้น รวมถึงเมนูติ่มซำเจ เป็นต้น

รวมเทศกาลเจชื่อดัง

เซ็นทรัล พัฒนา ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ จัดแคมเปญ “Thailand J Food Festival 2021” ด้วย “J Integrated Lifestyle” เจาะอินไซต์ผู้บริโภค ผสานการกินเจสายดั้งเดิมเข้ากับผู้บริโภครุ่นใหม่ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์รวมไว้ในที่เดียว ผนึกจุดแข็งของการมีสาขาอยู่ทั่วประเทศที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม

โดยปีนี้ขนทัพอาหารเจชื่อดังกว่า 5,000 เมนู ทั้งเจต้นตำรับ, ครั้งแรกกับอาหารเจนานาชาติ x ร้านดังระดับโลก, อาหารเจฟิวชั่น, ร้านดังสตรีตฟู้ดในตำนาน, เบเกอรี่ และคอกาแฟเจ รวมไปถึงสายรักสุขภาพกับเมนู plant-based foods

และเมนูที่เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น รับกระแส “hyper localism” เริ่มตั้งแต่วันที่ 5-14 ต.ค. 64 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 33 สาขาทั่วประเทศ

ไอคอนสยาม ร่วมสืบสานเทศกาลกินเจ จัดงานเจมหากุศล ไอคอนสยามเจสะท้านภพ ยกทัพเมนูอาหารเจจากร้านดังทั่วทั้งไอคอนสยามมาให้ได้ลิ้มรสความอร่อย ได้บุญ ได้สุขภาพ และยังได้เนรมิตพื้นที่เมืองสุขสยามให้เต็มไปด้วยเมนูอาหารเจจากทุกทิศทั่วไทย และร้านดังระดับตำนานสูตรเด็ดดั้งเดิม

รวมถึงเมนูไฮไลต์ที่สร้างสรรค์สูตรพิเศษขึ้นเฉพาะเมืองสุขสยามเท่านั้น ในงานอิ่มบุญ อิ่มเจ 4 ภาค จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2564 ณ ไอคอนสยาม

บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับอำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี จัดงานมหากุศล “เทศกาลกินเจ อำเภอปากเกร็ด ที่เมืองทองธานี ประจำปี 2564” ภายใต้แนวคิด “เทศกาลกินเจ มหาทาน มหากุศล สะสมบุญ เสริมบารมี สืบสานประเพณีกินเจ” โดยในปีนี้จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคมศกนี้ ณ บริเวณลาน เอาท์เล็ท สแควร์ เมืองทองธานี

ขณะที่ในปีนี้เทศกาลงานเจเยาวราชปี 2564 ยังไม่มีกำหนดการจัดงานแน่ชัด เนื่องจากห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แม้หลายฝ่ายจะห่วงมีความกังวลด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความคึกคักของกิจกรรมการจัดงาน “เทศกาลกินเจ 2564” ไม่คึกคักเหมือนกับทุกปี แต่ด้านอาหารยังมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ดูแลสุขภาพด้วยความแปลกใหม่ของเมนูที่หลากหลาย