น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น สุโขทัย ชัยภูมิ นครราชสีมา รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอีกหลายจังหวัด จนมีการตั้งคำถามกันมากว่า “สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยเหมือนกับปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 หรือไม่”

ซึ่งภาพรวมน้ำท่วมเมื่อเทียบปี 2554 มีลานิญา ฝนตกตั้งแต่เดือนมีนาคมและตกเหนือเขื่อน ถึงเดือนมิถุนายนมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำเต็มเขื่อน เดือนตุลาคมรัฐจึงต้องปล่อยน้ำมหาศาลออกมาเป็นมวลน้ำก้อนมหึมา แต่ว่าในปีนี้เขื่อนยังมีพื้นที่รับน้ำอยู่พอสมควร

ทั้งยังเบาใจได้เมื่อ นายปราโมทย์ ไม้กลัด รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ให้ความเห็นว่า ทั้งข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณน้ำกักเก็บ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาในขณะนี้ยังมีน้อยหากเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำรอยครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ

แต่ปัญหาน้ำท่วมยังเป็นปัญหาเรื้อรังในทุกปีถ้าเกิดพายุฝน ซึ่งทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เสนอแผนก่อสร้างแก้มลิงใต้ดิน BKK นวัตกรรมแก้ปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพฯในรูปแบบอ่างเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนนไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ

โดยมีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติ ช่วยลำเลียงน้ำรอระบายลงสู่ใต้ดินได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ครอบคลุม 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขตคือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา เพื่อจัดการน้ำท่วมขังอย่างเป็นระบบด้วยต้นทุนการก่อสร้างระดับ 1,000 ล้านแลกกับการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมต่อยอดนวัตกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯชั้นในว่าควรมีแก้มลิงช่วยลดปัญหาน้ำท่วม

ความตอนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตรัสไว้เกี่ยวกับ “ปัญหาทรัพยากรน้ำในประเทศไทย” และ “ปัญหาน้ำท่วม” ว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้นใกล้เขตศูนย์สูตร จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุหมุนจากทะเลจีนใต้ ได้แก่ พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น ซึ่งจะทําให้เกิดฝนตกในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุุกปี ส่วนภาคใต้จะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และพายุหมุนจากทะเลจีนใต้ ทําให้เกิดฝนตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปีเช่นกัน

การที่ฝนตกหนักเป็นเวลาหลายวัน ทําให้แหล่งน้ำต่าง ๆ ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ เกิดการล้นหลั่งของน้ำ น้ำได้ไหลบ่าจากที่สูงไปยังที่ต่ำกว่า หากแต่ว่าในปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมตามธรรมชาติดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัยก่อนได้แปรสภาพกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากน้ำไม่สามารถระบายต่อไปได้

อาจด้วยสาเหตุของความเจริญที่บ้านเมืองต้องลงทุนโครงการใหญ่ต่าง ๆ ต่อเนื่อง ทั้งของภาครัฐและเอกชน อาทิ ถนน ทางหลวง อาคาร และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งอาจกีดขวางทางเดินการไหลของน้ำ จึงอาจทําให้ทางเดินของกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง หรือเกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าแต่ก่อนมาก ดังเช่น การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจระดับชาติมูลค่านับหลายหมื่นล้านบาท

สอดคล้องกับพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538

…เมื่ออายุ 5 ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันเคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง “โครงการแก้มลิง” นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ 5 ขวบ นี่ก็เป็นเวลา 63 ปีมาแล้ว ลิงสมัยโน้นลิงโบราณเขาก็มีแก้มลิงแล้ว เขาเคี้ยว แล้วเอาเข้าไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้

ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2538 จึงมีพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป ซึ่งสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้

แนวคิดของโครงการแก้มลิงเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมาก ๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกเอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ด้วยแนวพระราชดำรินี้จึงเกิดเป็น “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำไว้รอการระบายเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

โครงการแก้มลิงแบ่งออกเป็น 3 ขนาดคือ แก้มลิงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น

แก้มลิงขนาดกลางเป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น

แก้มลิงขนาดเล็กอาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง

ปัจจุบัน “โครงการแก้มลิง” ยังคงถูกสานต่อตามแนวทางพระราชดำริ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุถึงแนวทางการดำเนินงาน
ตามแนวทางพระราชดำริ โดยยกตัวอย่าง โครงการพัฒนาโครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชีจากทั้งหมด 34 โครงการ

สำหรับตัวอย่างโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในการเตรียมความพร้อมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีแผนการก่อสร้าง 4 ปี โดยหากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เกิดประโยชน์ เพิ่มปริมาณ เก็บกักน้ำจากเดิม 7.431 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35.02 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานใน 7 ตำบล 3 อำเภอ ประมาณ 35,000 ไร่

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งรองรับน้ำและกักเก็บน้ำที่สำคัญของลำน้ำชี ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ทั้งยังเก็บกักน้ำไว้สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการแก้มลิงตลาดใหม่ ซึ่งเป็น โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำพื้นที่แก้มลิงเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำปราจีนบุรี มักประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในทุกปี

โดยหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถใช้ที่ดินของภาครัฐเพื่อเป็นการชะลอน้ำเมื่อเกิดสภาวะน้ำหลากในคลองแควหนุมาน และน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง จะใช้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในฤดูแล้งได้อีกด้วย

โครงการแก้มลิงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก หรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ อันเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนน้ำ นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน