159 ปี ศาลาสยาม แนชันนาลเอกษฮิบิชัน ถึง ดูไบเอ็กซ์โป

ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร : เรื่อง

นับจากปี 1862 ในสมัยรัชกาลที่ 4 “สยาม” ได้เข้าร่วม นิทรรศการนานาชาติ ณ กรุงลอนดอน หรือ International Exhibition London, England เป็นครั้งแรก การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าครั้งนั้นมีหลักฐานอยู่บนรูปถ่ายเก่า ปรากฏชื่อของ “SIAM” อยู่เคียงข้างกับ “JAPAN” จวบจนถึงปี 2021 หรืออีก 159 ปีให้หลัง ศาลาไทย ก็ยังปรากฏโฉมในงาน Expo 2020 ที่ Dubai งานแสดงสินค้าโลกครั้งล่าสุด

เมื่อ 100 กว่าปีก่อน การจัด “นิทรรศการ” หรือ “งานแสดงสินค้า” หรือ “มหกรรม” นอกจากจะเป็นการแสดงบทบาทของประเทศ “ผู้นำ” ในความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว ยังแสดงความ “เหนือกว่า” ในฐานะ “ประเทศแม่” ทั้งในด้านเศรษฐกิจและอำนาจทางการทหารที่มีต่อประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมในอีกหลายซีกโลก

ดังนั้น การเข้าร่วมงานนิทรรศการจึงมีความหมายต่อทุกประเทศในโลก เพียงแต่จะอยู่ในฐานะอย่างไรระหว่าง ประเทศผู้จัดงาน ประเทศเอกราชที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมงาน และ ประเทศอาณานิคมที่ถูกสั่งให้ส่งสินค้า-วัฒนธรรมแปลกประหลาดของผู้คนในสมัยนั้นมาแสดงในเวทีนานาชาติ

“สยาม” ในฐานะประเทศเอกราชได้ถูกเชื้อเชิญจากอังกฤษ ให้เข้าร่วมงาน International Exhibition London England ที่ย่าน South Kensington เป็นครั้งแรก โดยสิ่งของที่สยามส่งเข้าไปจัดแสดงจากเอกสารที่หลงเหลืออยู่นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 เครื่องหัตถกรรมท้องถิ่นแล้ว

ยังมี “ธงช้างเผือก” พื้นสีแดง ปรากฏอยู่ท่ามกลางประเทศผู้เข้าร่วมงานอีก 38 ประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่า นับเป็นครั้งแรกที่สยามประกาศตัวตนผ่านทาง ธงช้างเผือก ในเวทีนิทรรศการนานาชาติก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม งานนิทรรศการนานาชาติที่ลอนดอน ในปี 1862 ก็ยังไม่มี ศาลาจัดแสดงนิทรรศการของแต่ละประเทศ โดยศาลาจัดแสดง หรือ “pavilion” นั้น เพิ่งเกิดขึ้นในงานนิทรรศการนานาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือ Universal Exposition Paris, France

ที่ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ในปี 1867 บนพื้นที่ 70 เฮกตาร์ ของ Champ de Mars มีประเทศเข้าร่วมงานถึง 41 ประเทศ ซึ่ง สยาม เป็น 1 ในประเทศที่ถูกเชิญเข้าร่วมงาน และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ สยาม มีศาลาจัดแสดงเป็นของตนเอง

จากภาพวาดในหนังสือพิมพ์เก่าบ่งชี้ว่า ศาลาสยาม อยู่ติดกับ ศาลาญี่ปุ่น ด้วยรูปแบบของ “ศาลาไทย” ได้สร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าร่วมชมงาน มีรูปช้างพร้อมสัปคับ ในศาลาจัดแสดงสินค้าหัตถกรรม กล่องเครื่องถมเครื่องประดับมุก และพระพุทธรูป นับเป็นการเปิดตัว “ศาลาไทย” เคียงคู่ไปกับ “ธงช้างเผือก” ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ

ล่วงเข้าสู่สมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากที่สยามเข้าร่วมงานนิทรรศการนานาชาติมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 1876 สหรัฐอเมริกาได้ใช้งานนิทรรศการประกาศถึงความเป็นชาติมหาอำนาจและความยิ่งใหญ่ของประเทศเทียบเคียงกับยุโรป ด้วยการจัดงานนิทรรศการแห่งศตวรรษ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย หรือ The Philadelphia Centennial Exhibition

มีศาลาจัดแสดงกว่า 250 แห่งจาก 37 ประเทศ โดยที่สยามได้เข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย แม้ว่าสิ่งจัดแสดงมากกว่า 900 รายการ รวมถึงตัวอย่างสินค้าดั้งเดิมทางการเกษตรและอุตสาหกรรมพื้นฐาน แบบจำลองเรือพระราชพิธี-ราชรถ ตัวหนังใหญ่ หัวโขน เครื่องทรง เครื่องดนตรี ผ้าต่าง ๆ และพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าถึง 96,000 เหรียญสหรัฐ จะถูกส่งล่าช้าไปกว่า 5 เดือนก็ตาม

ต่อจากนั้นมาอีก 2 ปี ฝรั่งเศสก็ได้จัดนิทรรศการนานาชาติ ณ กรุงปารีส หรือ Exposition Universelle Paris ขึ้นอีกครั้งในปี 1878 บนพื้นที่ 185 เอเคอร์ ณ Champ de Mars แน่นอนว่า สยาม ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานด้วยการจัดสร้าง ศาลาสยาม บนยอดประดับด้วยธงช้างเผือกปลิวไสวปรากฏบนรูปถ่ายและบัตรสินค้า (trade card) ที่เริ่มแพร่หลายเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ภายในประเทศเองเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง กรุงรัตนโกสินทร์ ถูกตั้งขึ้นครบรอบ 100 ปี (ร.ศ. 100) รัชกาลที่ 5 จึงได้จัดให้มี “งานแนชันนาลเอกษฮิบิชัน” หรือ National Exhibition ขึ้นที่ท้องสนามหลวง จัดเป็นนิทรรศการแห่งชาติ มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุ อวดสิ่งของแปลกและล้ำค่าและสิ่งประดิษฐ์ภายในประเทศให้คนไทยได้รู้จักงานนิทรรศการเป็นครั้งแรก

หันกลับมาที่ฟากยุโรปก็ยังคงจัดงานแสดงนิทรรศการนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการนานาชาติ ณ กรุงปารีส หรือ Universal Exposition, Paris France ในปี 1889 ที่สยามได้จัดสร้าง ศาลาสยาม Pavillon de Siam

ตามรูปทรงสถาปัตยกรรมศาลาไทยแบบดั้งเดิมขึ้นอย่างงดงามด้วยชิ้นงานประดับตกแต่งตั้งอยู่ที่ Palais de l’ industrie ในปี 1893 มีการจัดงานนิทรรศการโลกโคลัมเบียน ณ เมืองชิคาโก หรือ World’s Columbian Exposition, Chicago ด้วยศาลาสยามประดับธงช้างเผือกและงาช้าง รวมไปถึงการจัดแสดงงานฝีมือของสตรีสยาม

ปี 1900 ฝรั่งเศสได้หันกลับมาจัดงานนิทรรศการนานาชาติ ณ กรุงปารีส หรือ Universal Exposition, Paris อีกครั้ง โดยศาลาสยามได้ถูกออกแบบโดยสถาปนิก E.Chastel ประกอบด้วยโถง 2 ห้องแยกจากกัน แต่ถูกเชื่อมต่อด้วยสะพานทางเดิน

ศาลาสยามทั้ง 2 หลังถูกสร้างด้วยรูปแบบปราสาททรงยอดประดับกระเบื้องเคลือบอย่างงดงาม และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สยามจัดแสดง “แผนที่” ของประเทศ ซึ่งบ่งบอกที่ตั้งแห่งหนอาณาเขตของตนเองบนแผนที่โลกในปี 1900

จนมาถึงปี 1904 สหรัฐได้จัดมหกรรมฉลองการซื้อ รัฐหลุยเซียนา จากฝรั่งเศสครบ 1 ศตวรรษ ด้วยการจัดมหกรรมแห่งการซื้อรัฐหลุยเซียนา ณ นครเซนต์หลุยส์ หรือ Louisiana Purchase Exposition, St Louis โดยมี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือรัชกาลที่ 6) เข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วย

สำหรับนิทรรศการของสยาม ซึ่งประกอบไปด้วย ศาลาสยาม จำลองแบบมาจาก พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร และสิ่งแสดงอื่น ๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยงบประมาณถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์สินค้าตัวอย่างจากไม้ การเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร สินค้าประมง ซึ่งสยามได้รับรางวัลมากที่สุด

ล่วงมาอีก 7 ปีในสมัย รัชกาลที่ 6 สยามได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน นิทรรศการนานาชาติตูริน ประเทศอิตาลี หรือ Torino Esposizione ในปี 1911 นับเป็นครั้งแรกที่ อิตาลี จัดงานนิทรรศการนานาชาติขึ้น ครั้งนี้ สยามได้มีการจัดตั้ง คณะทำงาน ขึ้นมาเพื่อดูแลการจัดนิทรรศการในต่างประเทศขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยมี รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นประธาน

ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญที่ต้องการให้ ศาลาสยาม เป็นตัวแทนของประเทศได้อย่างดีที่สุด คณะทำงานได้ตัดสินใจมอบหมายให้ Tamagno กับ Tamagno ชาวอิตาลีที่เข้ามารับจ้างเป็นสถาปนิกก่อสร้างในสยามช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการสร้างพระที่นั่งยอดปราสาทหลังคา 3 ชั้นอันงดงามบนฝั่งแม่น้ำ Po บริเวณสะพาน Isabella ปรากฏอยู่บนภาพโปสต์การ์ดเคียงคู่กับศาลาของประเทศเซอร์เบีย

ปิดท้ายด้วย นิทรรศการนานาชาติศิลปะและเทคโนโลยีในชีวิตสมัยใหม่ หรือ International Exposition of Arts and Technology Paris เป็นงานสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยงานนี้ ศาลาสยาม ได้ถูกออกแบบโดย ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ร่วมกับ R.Rotter สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก พระราชวังบางปะอิน

นับเป็นความพยายามของสยาม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เพื่อนำประเทศเข้าสู่ “ยุคสมัยใหม่” โดยที่ยังไม่ทิ้ง ศาลาไทย คู่ ธงช้างเผือก นับจากปี 1862 เป็นต้นมา