เลือกโรงเรียนอินเตอร์ อย่าดูแค่ครูฝรั่ง

ท่ามกลางเทรนด์การเปิดตัวและการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย โรงเรียนนานาชาติไอวี่บาวนด์ (Ivy Bound International School) ซึ่งเปิดสอนระดับเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล 3 เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ได้รับคำชมจากบรรดาผู้ปกครองหรือคนที่รู้จักใกล้ชิดเด็กนักเรียนของโรงเรียนนี้ว่าสร้างเด็กได้มีคุณภาพ

จิรอร อัสสรัตน์ หรือ “ครูหนู” คือผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ เธอนำความรู้จากการศึกษาปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแยล และปริญญาโทด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มาเปิดโรงเรียนนานาชาติไอวี่บาวนด์ พร้อมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเอง เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีน้องชาย-ชาติพร อัสสรัตน์ และน้องสาว-ศิกัน อัสสรัตน์ ซึ่งเรียนจบด้านการศึกษาทั้งคู่ช่วยกันสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นมา

มิสชั่นของไอวี่บาวนด์คือการเตรียมพร้อมเด็กให้พร้อมต่อการปรับตัวในสภาพแวดล้อม สถานการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างกันไป ส่วนจุดแข็งคือการออกแบบการเรียนการสอนที่ลิงก์กับงานวิจัยค้นคว้า เอาผลการวิจัยที่สรุปว่าการสอนแบบไหนมีประสิทธิภาพในด้านไหนมาปรับใช้ในหลักสูตร

ครูหนูแสดงความเห็นต่อการเปิดโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การเปิดโรงเรียนนานาชาติไม่ควรคิดแค่ว่าจ้างครูฝรั่งและซื้อหลักสูตรฝรั่งมาแล้วจบ

“ทุกคนคิดว่าการเปิดโรงเรียนอินเตอร์คือจ้างครูฝรั่งมา มีหลักสูตรโยนให้ สร้างตึกให้สวยงาม เดี๋ยวคนก็มา คนอาจจะมา แต่คุณภาพของหลักสูตรของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ของเราลงลึกเรื่องวิธีการสอนด้วยว่าใช้วิธีไหนดีที่สุดตามที่งานวิจัยมันซัพพอร์ต เราเชื่อมโยงรีเสิร์ชกับการเรียนการสอน มันไม่ค่อยมีเรื่องพวกนี้ในสังคมไทย ส่วนมากคนมีสตางค์ก็เปิดโรงเรียน จ้างครูฝรั่งมา ประเด็นมันไม่ง่ายอย่างนั้น การศึกษาไทยมันมีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้นเยอะ หลักสูตรเมืองนอกเขาสร้างไว้สำหรับคนชาติเขา ไม่ใช่สำหรับเรา การก๊อบปี้หลักสูตรฝรั่งมาทั้งหมดจะเป็นการสร้างพลเมืองแบบฝรั่ง ซึ่งมันผิดกับสังคมที่ควรจะเป็น เพราะเรากำลังสร้างประชากรที่ต้องอยู่ในประเทศไทย ต้องฟังก์ชั่นในประเทศไทย แต่ตอนนี้เรากำลังสร้างคนไทยที่เป็นฝรั่ง มันน่าเป็นห่วง”

สิ่งที่โรงเรียนไอวี่บาวนด์ให้ความสำคัญควบคู่กับวิชาการก็คือสร้างให้เด็กมีความมั่นใจ เพราะเมื่อเด็กมั่นใจในตัวเองจะทำอะไรที่ไหนก็ทำได้ จะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมแบบไหนก็ชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง และเรื่องสำคัญที่สอนเด็กคือเรื่อง conflict resolution หรือการจัดการความขัดแย้ง คือเวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ให้ใช้คำพูดสื่อสารอธิบาย อย่าใช้กำลัง

“หรืออย่างเรื่องที่เจอในสังคมคือการลัดคิว เราไม่อยากให้เด็กโตไปเป็นอย่างนั้น เราก็สอนให้เขาหัดรอคิว ไม่ต้องวิ่งเป็นที่ 1 ก็ได้ สมมุติมีชิงช้าอยู่ 2-3 ตัว บางคนต้องวิ่งไปเป็นคนแรก เพื่ออะไร รอเป็นคนที่ 2 ก็ได้ เราสอนว่าคุณต้องรอเป็น พอพูดอย่างนี้ผู้ปกครองบางคนบอกว่าแล้วลูกจะสู้กับโลกภายนอกได้อย่างไร มันไม่ใช่ เราไม่ได้บอกว่าไม่ให้แข่งขัน แต่เราบอกว่าเรื่องที่ควรแข่งขันให้แข่ง อย่างเช่นสอบให้ได้ที่ 1 เรากำลังหัดให้เด็กคิดวิเคราะห์ก่อนว่าคุณแข่งเพื่ออะไร ไม่ใช่สักแต่แข่งทั้งชีวิต เราต้องรู้เหตุผลว่าสถานการณ์ไหนเราสู้เพื่ออะไร”

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ครูหนู ผู้ได้รับรางวัล “บุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจสถาบันการศึกษาในปี 2559” จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มองว่าเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อมเด็กให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงนอกเหนือจากการเลือกโรงเรียนสวย ๆ ที่มีครูฝรั่ง