DAY1 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผลักดันกรุงเทพฯ สีเขียว – เปิดงานสีรุ้ง Pride Month 2022

เริ่มงานอย่างเต็มตัวแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วันแรกประเดิมปลูกต้นไม้ตามนโยบาย ทำกรุงเทพฯ สีเขียว ส่วนช่วงเย็นไปงานสีรุ้ง เปิดงานไพรด์

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางไปสวนเบญจกิติ เขตคลองเตย เพื่อคิกออฟแผนงานปลูกต้นไม้ 100 ต้น ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565

ระหว่างการเดินในสวน ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้รับข้อมูลพร้อมภาพครอบครัวนกเค้าลายจุดมาอาศัยอยู่ที่สวนเบญจกิติ แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง ก่อนร่วมลูกต้นโพธิ์ต้นแรก และรณรงค์ให้ประชาชนคนกรุงเทพฯ มาร่วมกันปลูกต้นไม้และติดตามดูแลให้เติบโตเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองหลวง

 

จากนั้นเวลา 18.00 น. นายชัชชาติไปเปิดงาน Pride Month 2022 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเนรมิตพื้นที่สีรุ้ง สร้างแรงบันดาลใจของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย ตั้งทางม้าลายสีรุ้ง ทางเดินสีรุ้ง รวมถึงการประดับไฟสีรุ้ง บริเวณทางเข้าหน้าศูนย์การค้า และอุโมงค์สามย่านมิตรทาวน์

Pride Month 2022 จัดตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2565 ตลอด 24 ชั่วโมง

สามย่านมิตรทาวน์ เผยแพร่ที่มาสัญลักษณ์ รุ้ง 6 สี ว่าเริ่มมาจาก กิลเบิร์ต เบเคอร์ นักเคลื่อนไหว และศิลปินผู้ออกแบบธงสีรุ้ง มาจากแนวคิดที่ว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรมีธงเป็นของตัวเอง และที่เลือกใช้สีรุ้งเพราะต้องการสะท้อนความหลากหลายได้ดีที่สุด

ธงรุ้ง 6 สี เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิถุนายน 1978 โดยมีนิยามความหมายของแต่ละสี ดังนี้

สีแดง หมายถึง ชีวิต สีส้ม หมายถึง การเยียวยา สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์แห่งความหวัง สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ

ด้าน กทม. ระบุว่า นโยบายด้าน LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ โดยได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ

การยอมรับความหลากหลายทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทยยังคงมีเงื่อนไข ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนและนายจ้างของข้าราชการ กทม. การยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับภาครัฐไทยให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายต่าง ๆ

นอกจากเรื่องความหลากหลายทางเพศวิถีแล้วยังมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่หน่วยงาน กทม. ต้องให้ความสำคัญ สามารถริเริ่มได้โดย

1. กำหนดหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานใน กทม. ให้การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขในสังคมและสนับสนุนความเท่าเทียม

2. อบรมให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของ กทม.ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เน้นการยอมรับและความเข้าใจ 

3. สามารถร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมได้ 

4. สนับสนุนการแสดงออกที่หลากหลาย โดยไม่บังคับแต่งชุดเครื่องแบบข้าราชการตามเพศกำเนิด สามารถใส่ตามที่สะดวกใจได้

5. มีกฎเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในหน่วยงาน กทม.

นอกจากนี้ยังนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย คลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ในโรงพยาบาลของรัฐมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือคลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี

ดังนั้น กทม.จะนำร่องเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในประเด็นจำเพาะ เช่น บริการจิตวิทยาการปรึกษา การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) หรือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์

—–