ดร.ฐิติพร กูรูลักเซอรี่แบรนด์ ทิศทาง Luxury Brand 2018

ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้อำนวยการ LUXELLENCE หรือสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจลักเซอรี่แบรนด์แห่งแรกในเมืองไทย และยังเป็นนักธุรกิจสาวผู้ผลิตและส่งออกจิวเวลรี่มากว่า 30 ปี ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ ตอนนี้มีโอกาสสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ Sette แบรนด์จิวเวลรี่ที่เป็นมากกว่าจิวเวลรี่ โดยคอนเซ็ปต์ภายในร้านคือ เครื่องประดับทุกชิ้นจะต้องบ่งบอกได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ของผู้สวมใส่ หรือเป็นเครื่องประดับที่มีความหมายดี ๆ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแบรนด์ Sette ให้มีคุณภาพสู่ระดับสากล ด้วยการบริการ และสินค้าที่มีคุณภาพ ผ่านเอาความใจใส่ และความตั้งใจ ในการรังสรรค์เครื่องประดับที่มีความหมายให้กับลูกค้า

นอกจากเป็นเจ้าแม่จิวเวลรี่แล้ว ดร.ฐิติพร ยังมีความเชี่ยวชาญในลักเซอรี่แบรนด์ โดยมองว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่น่าจับตามองในเรื่องของการจัดจำหน่ายสินค้าลักเซอรี่ เพราะกำลังจะมีห้างหรูที่เปิดใหม่อยู่หลายแห่ง เช่นที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่าง ไอคอนสยาม ภายในไอคอนสยามก็จะมี สยามทาคาชิมายา ที่เป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งห้างสรรพสินค้าทุกแห่งก็กำลังที่จะพยายามปรับเปลี่ยนโซนต่าง ๆ ให้ดูทันสมัยมากขึ้น ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่องของการช็อปปิ้ง ด้วยการเปลี่ยนโฉม และนำแบรนด์ใหม่ ๆ ที่ยูนีคเข้ามา

ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีเกือบทุกแบรนด์ลักเซอรี่ในโลกแล้วที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย แต่พฤติกรรมของคนก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ สำหรับกลุ่มคนที่ใช้แบรนด์หรูโดยเฉพาะคนไทยยังมีความต้องการที่จะไม่เหมือนใคร อยากได้ความพิเศษ ฉะนั้นจึงต้องมีแบรนด์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนไทยจะพยายามสรรหาลักเซอรี่แบรนด์ที่ไม่ซ้ำใคร อาจจะไม่ได้ชื่อดัง แต่เน้นสินค้าดีมีคุณภาพและผลิตน้อยเป็นสำคัญ

“คนที่มีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่ต้องการความแปลกใหม่ พิเศษไม่ซ้ำใคร เช่นฉันใช้แบรนด์นี้ คนอื่นก็ใช้เหมือนกัน ฉันก็เปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นที่ราคาเท่ากัน แต่คนรู้จักน้อย เพราะฉันต้องการบ่งบอกเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฉันว่า ฉันไม่เหมือนใคร ฉันอยากจะไปถือแบรนด์ที่ดีและทรงคุณค่าเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าสามารถซื้อได้ในประเทศไทยหรือที่ไหนง่าย ๆ ซึ่งคุณต้องไปเสาะหา เพราะฉะนั้นแบรนด์เหล่านี้ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาง่ายขึ้น คนที่เพิ่งเริ่มมาใช้ลักเซอรี่แบรนด์ก็จะซื้อแบรนด์ที่มีในปัจจุบันแต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็จะขยับไปใช้ของที่มันเอ็กซ์คลูซีฟมากกว่า”

ผู้อำนวยการ LUXELLENCE อธิบาย คำว่า “luxury” มันจะมี spectrum แล้วแต่จะนิยามตั้งแต่ premium luxury เริ่มจากธรรมดาก่อน หรืออัพขึ้นมาเป็น affordable luxury ก็คือ luxury ที่คนเข้าถึงได้ แล้วก็มีคือสูงกว่า luxury เราอาจจะเรียกว่า ultra luxury มันคือคำนิยามที่คนใช้กัน

“สำหรับกลุ่มตลาดหลักพวกนั้นก็ยังถือว่าขายดี เพราะว่าถ้าเกิดเราพูดถึง วิธีการใช้สินค้าหรูของคน ในแต่ละประเทศเหมือนกับอยู่ในเวทีที่ต่างกัน อย่างประเทศไทย เดิมเราก็ใช้สินค้าหรูเพื่อที่จะบ่งบอกสถานะทางสังคม ตอนหลังมันเริ่มเปลี่ยนมาเป็นวิถีชีวิต มันเปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิต สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่ามันก็มีกลุ่มหนึ่ง ที่เขยิบตัวมาจากคนชั้นกลาง ที่เพิ่งเริ่มใช้ จะรู้จักเพียงแบรนด์ที่เป็น 3 อันดับแรก หรือดูจากดาราคนดัง เพราะฉะนั้นอย่างในเรื่องของโซเชียลมีเดียที่สมมุติว่ามีพวกดารา คนดัง ใช้ของมันก็อาจจะส่งผลกับคนที่เป็นกลุ่มนี้มากกว่าที่จะเป็นกลุ่มบนไปเลย

กลุ่มหลักที่เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น อยากที่จะใช้สินค้าหรู ต้องบอกว่าเราอยู่ในสมัยที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน อย่างเช่นฉันอยากจะใช้สินค้าหรู แต่ว่าฉันก็ไม่อยากลงทุนเยอะ มันก็เลยมีเทรนด์ใหม่ในเรื่องของการเช่ายืมชุด เช่ายืมสินค้า เราเคยเห็นเมื่อก่อนที่เคยเป็นที่รู้จักกันมาแล้ว ก็คือเช่ากระเป๋า เช่าชุดราตรี เช่าชุดก็ไม่ได้เป็นชุดทั่วไป เป็นชุดแบรนด์เนม ก็คือ เศรษฐกิจแบ่งปัน”

หากจะแบ่งสินค้าหรูหราที่คนไทยให้ความสนใจ 3 อันดับแรก อันดับที่ 1 คือ กระเป๋า อันดับ 2 คือ นาฬิกา แล้วก็อันดับ 3 คือ รถยนต์ ในส่วนของจิวเวลรี่สำหรับคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักแบรนด์จิวเวลรี่มากนัก เพราะว่าที่ผ่านมาก็จะเป็นแบบท้องถิ่น ซื้อตามร้านเพชร ร้านทอง ที่รู้จักสนิทสนมกัน

ส่วนแบรนด์ลักเซอรี่ของโลกที่คนไทยนึกถึง 3 ลำดับแรกก็คือ ชาเนล, หลุยส์ วิตตอง และกุชชี่ กลับกันถ้าถามว่า “Thai luxury brand” คนไทยนึกถึงอะไร ปรากฏว่า ไม่สามารถสรุปได้ว่า ลักเซอรี่แบรนด์ของไทยคืออะไร

“อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เวลาเราทำวิจัย เราก็เลยรู้ว่าประเทศไทยยังต้องพัฒนาตรงนี้อีกเยอะ ถ้าเราเป็นคนไทยแล้วชาวต่างชาติถามว่า ลักเซอรี่แบรนด์ ของคุณคืออะไร แล้วเราสามารถที่จะตอบเป็นเสียงเดียวกันได้ว่ามันคือแบรนด์นี้ แต่ตอนนี้คำตอบกระจัดกระจายมาก นั่นหมายถึงเรายังทำไม่สำเร็จ”

หากวัดจากปริมาณคนทั่วโลกที่ชื่นชอบแบรนด์เนมคะแนนเต็ม 10 จะพบว่าคนไทยมีความชื่นชอบแบรนด์เนมสูงถึง 7.4 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าสูงมาก สรุปได้ว่าคนไทยมีความชอบสินค้าหรูในระดับหนึ่ง มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงเป็นที่น่าจับตามอง