Dark Tourism พระนครสีเทา พาท่อง 2 วัดใน “ตรอกเต๊า”

พระนครสีเทา
แฟ้มภาพ
ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครมีมากมาย แต่ละแห่งล้วนมีประวัติความเป็นมาที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะสังคมในสมัยนั้น ๆ ที่ไม่ได้มีเพียงมุมขาวบริสุทธิ์ แต่ยังมีมุมมืดที่ยังคงทิ้งร่องรอยให้หวนระลึกถึง วันนี้ KTC ได้พาเราไปเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของแต่ละสถานที่ ภายใต้ธีม Dark Tourism พระนครสีเทา

ย่านเยาวราช ซอย 8 หรือ “ตรอกเต๊า” มีวัดจีนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ นั่นคือ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” หรือ “วัดย่งฮกยี่” ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2338 ถือเป็นวัดจีนแห่งแรกของไทย ลักษณะตัวอาคารวัดเป็นตึกเก่ายุคต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 แบบตะวันตกที่สร้างล้อมวิหารจีนไว้

โครงสร้างอาคารเป็นไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วย สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูนเป็นจั่วปั้นลมตามแบบช่างจีนแต้จิ๋ว

ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้า และพระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า ด้านข้างล้อมด้วย 18 พระอรหันต์ที่เป็นศิลปะ “ท๊กทอ ท๊กชา” ผ้าป่านอาบน้ำยาลงรักปิดทองที่มีแห่งเดียวในประเทศ

บริเวณด้านข้างยังมีบันไดขึ้นชั้นบนที่เป็นกุฏิ โถงประดิษฐานพระโพธิสัตว์ ห้องสมุดที่เก็บสะสมหนังสือต่าง ๆ ทั้งหนังสือธรรมะ หนังสือภาษาจีนเก่าแก่ และห้องเก็บป้ายวิญญาณของพุทธศาสนานิกชนที่ล่วงลับไปแล้ว

โดยมีการสลักชื่อไว้บนป้ายไม้ ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นตัวแทนรำลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อให้ลูกหลานมากราบไหว้ ส่วนชั้นบนสุดในห้องโถงบูชาพระ เป็นที่เก็บป้ายชื่อเก่าของวัด หรือป้ายย่งฮกอำ

วัดแห่งนี้ล้อมรอบด้วยโรงโคมเขียว โคมแดง หรือสถานที่ค้าประเวณี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่ตั้งโรงหญิงหากินของยายแฟง ซึ่งมีลูกสาวชื่อ “กลีบ” ภายหลังกลีบมารับช่วงต่อจากยายแฟง จึงเรียก “โรงแม่กลีบ” ในเวลาต่อมา

ยายแฟงมีลูกสาว 2 คน ได้แก่ นางเชย และนางกลีบ ซึ่งนางเชยได้เเต่งงานกับข้าราชการ คือ “พระยามุขมนตรี” ส่วนนางกลีบ เป็นต้นตระกูล “สาครวาสี” และมีที่ดินเกือบ 7 ไร่ อยู่ในตรอกเต๊า โดยนางกลีบทำเป็นสวนดอกไม้ ต่อมาได้อุทิศสวนนี้สร้างเป็นวัดขึ้นมา

บุตรของนางกลีบ คือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว นางกลีบได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดกันมาตุยาราม” อันหมายถึง “วัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง” เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก สังกัดธรรมยุตินิกาย

ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปในประเทศอินเดีย ซึ่งในไทยมีเจดีย์ลักษณะนี้เพียง 2 วัด คือที่วัดกันมาตุยาราม และวัดโสมนัส ในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระอริยกันต์มหามุนี”

ซึ่งสร้างขึ้นด้วยศิลปะสัจนิยมแบบธรรมยุติกนิกาย มีลักษณะใกล้เคียงมนุษย์จริง ๆ บนพระเศียรจะไม่มีพระอุษณีษะ (ส่วนนูน ๆ บนเศียรพระ เรียกว่าจุก) แต่พระเกตุมาลาที่เป็นเปลวเพลิงจะปักลงบนพระเศียรไปเลยตรง ๆ เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า การมีพระอุษณีษะนั้นดูไม่งาม

นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ทั้งหมด 37 รูป บานประตูหน้าต่างประดับมุก บานประตูหน้าอุโบสถด้านในมีรูปอกัปปิยมังสะ คือเนื้อสัตว์ที่ห้ามทางพระวินัยมิให้ภิกษุฉันรวม 10 ชนิด

ขณะที่บานประตูหลังอุโบสถด้านในมีภาพผลไม้ที่ใช้ทำน้ำอัฏฐบานได้ ภาพแทรกในอุโบสถระหว่างที่เปิดปิดหน้าต่างเป็นรูปพระภิกษุทำกัมมัฏฐาน เพ่งนิมิตต่าง ๆ ถัดลงมามีภาพสุภาษิตไทย ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกอุโบสถมีรูปปั้นลายดอกไม้ปิดทองงดงาม พื้นภายในและภายนอกอุโบสถปูด้วยศิลาอ่อน

ทั้งยังมีรูปปั้นอนุสาวรีย์ของนางกลีบอยู่ในโคม เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้ก่อตั้งวัด ในโคมนั้นเป็นที่เก็บอัฐิของคนในตระกูลสาครวาสี วัดนี้ยังเคยเป็นที่จำพรรษาของ “สุชีโวภิกขุ” หรือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอีกคนหนึ่งของประเทศไทย