ราคาน้ำมันดิบ (11 ส.ค. 65) เวสต์เทกซัส-เบรนต์เพิ่ม อุปสงค์เบนซินสหรัฐ

น้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินล่าสุดกลับมาอีกครั้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมากกว่าคาด

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่ม หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ประกาศตัวเลขสต๊อกน้ำมันเบนซินสหรัฐ สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค. 65 ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 4.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดไว้ว่าจะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ โรงกลั่นและผู้ประกอบการท่อส่งน้ำมันของสหรัฐคาดว่าการใช้พลังงานจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แม้ว่าตลาดยังกังวลเรื่องความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 10 ส.ค. อยู่ที่ 91.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.43 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 97.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.09 เหรียญสหรัฐ

สหรัฐเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ +8.5 (YOY) จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ +9.1 (YOY) และถือว่าปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะออกมาอยู่ที่ร้อยละ 8.7 (YOY) โดยตัวเลขข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าที่คาดนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และหนุนให้นักลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 (YOY) แตะระดับสูงที่สุดในรอบ 2 ปี แต่ยังคงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.7 (YOY)

บริษัท Transneft ของรัสเซียกลับมาส่งออกน้ำมันดิบไปยังยุโรปผ่านท่อ Druzhba (กำลังการขนส่ง 250,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประเทศยูเครนอีกครั้ง หลังมีการระงับการขนส่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการคว่ำบาตรจากตะวันตกทำให้มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ เวียดนามปรับเพิ่มการนำเข้ากว่าร้อยละ 120

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดีเซลตึงตัว