โคเอ็นผนึก OR ปักหมุด 7 สาขา ปั๊มยอดรับไฮซีซั่น กำลังซื้อฟื้นไตรมาส 4

โคเอ็น

เปิดแผนโคเอ็น พรีเมี่ยม บุฟเฟ่ต์ หลังผนึกโออาร์ ทุ่มงบฯ 130 ล้าน ขยายสาขา-ศูนย์สต๊อกสินค้าบริหารจัดการวัตถุดิบ แก้เกมต้นทุนแซลมอนนำเข้าพุ่ง 300% มั่นใจ Q4 การบริโภค กำลังซื้อฟื้น พลิกกำไรได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้อนุมัติให้บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) บริษัทย่อยเข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด (ISGC) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร 5 แบรนด์ ได้แก่ ร้านโคเอ็น พรีเมี่ยม บุฟเฟ่ต์ (Kouen Premium Buffet)

ร้านยุ้งข้าวหอม ร้านหมูตั่วเฮีย ร้านต้า คูซีน และร้านโอโนะ ซูชิ ด้วยวงเงินไม่เกิน 192 ล้านบาท ทำให้ Modulus มีสัดส่วนการถือหุ้น 25% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ ISGC มีสัดส่วนการถือหุ้น 75% เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุดนายธีรพัฒน์ เลิศศิริประพา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ โคเอ็น กรุ๊ป ผู้ประกอบการร้านอาหาร โคเอ็น พรีเมี่ยม บุฟเฟ่ต์ (Kouen Premium Buffet) อูรากิ โอโนะซูชิ ต้า คูซีน หมูตั่วเฮีย และยุ้งข้าวหอม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ โปรเจ็กต์ที่ซินเนอร์ยี่ที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ตามแผนจะมีการขยาย 7 สาขา และมีแผนขยายสาขาส่วนของบริษัท 6 สาขา ร้านยุ้งข้าวหอมขยายเพิ่ม 2 สาขา

ธีรพัฒน์ เลิศศิริประพา โคเอ็น
ธีรพัฒน์ เลิศศิริประพา

“การขยายการลงทุน โปรเจ็กต์ซินเนอร์ยี่เราอยู่ในโออาร์ในสถานีบริการกับโออาร์สเปซพื้นที่ของเขา ส่วนของยุ้งข้าวหอมไปอยู่ในแอทธินีทาวเวอร์ ตรงพลาซ่า แอทธินี เป็นสาขา 2 ส่วนสาขาที่ 3 ที่เดอะคริสตัลปาร์ค เลียบทางด่วน และโคเอ็นเดือนสิงหาคมนี้เป็นไปตามแผนเปิดที่อินเด็กซ์บางนา และฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ที่ตึกออฟฟิศใหม่ตรงอารีย์ ชื่อตึกวานิช โลตัสชัยพฤกษ์ ถนนเส้น 345 จ.นครราชสีมา และลาดกระบัง”

นายธีรพัฒน์กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ครึ่งปีแรกตลาดไม่ค่อยดี เพราะว่าโควิดยังคลี่คลายไม่หมด และขณะนี้ก็เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจซึม ๆ กำลังซื้อหาย และเป็นช่วงโลว์ซีซั่นด้วย แต่ก็ยังมองว่าความต้องการซื้อจะฟื้นกลับมาในไตรมาส 4 ถ้าคนไทยมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างเยอะจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงก่อนหน้านี้ไปอยู่ที่ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลต่อต้นทุนร้าน โดยเฉพาะปลาแซลมอนนำเข้าปรับขึ้นไป 200-300% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราคาวัตถุดิบขึ้นหมดทั้งหมู ไก่ ไข่ และปลาแซลมอนปรับสูงขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่ปรับขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถปรับขึ้นราคาได้เพียงแค่ 5% เพื่อรักษาเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทยได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี

“ผู้ประกอบการเองแบกต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างของเรา แบกต้นทุนไว้เหนื่อยมาก ๆ และถ้าจะปรับราคาขึ้นมากกว่านี้ผมว่ากำลังซื้อถดถอย ผนวกกับค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคปรับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ยังทำให้กำลังซื้อของประชาชนหมดไป ลดหารแฮงเอาต์นอกบ้าน ไปเติมให้กับค่าขนส่งแทน”

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมพร้อมเรื่องการปรับตัว โดยได้ลงทุนสร้างศูนย์รวมสต๊อก และครัวกลาง ที่บริเวณซอยอ่อนนุช 17/1 เพื่อจะได้สามารถใช้รองรับการนำเข้าวัตถุดิบแบบเป็นเบราซ์ในปริมาณมากขึ้น แทนการสั่งซื้อจากผู้นำเข้าจากนอร์เวย์แบบเดิม ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนลดลง และมีการวางแผนสต๊อกสินค้ามากขึ้นในอนาคต และประคองการธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป

“การขยายการลงทุนใหม่ก็ยังเดินหน้าต่อ โดยวางงบฯลงทุนศูนย์กลางสต๊อกวัตถุดิบ 30 ล้านบาท ส่วนแผนการขยายสาขาปีนี้ลงทุนอีก 100 กว่าล้านบาท แผนการขยายการลงทุนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี และได้ลงนามสัญญาไปแล้ว ในปีนี้ก็ต้องทำตามแพลนก่อน ก็พยายามทำให้ดีที่สุด ก็ไปมอร์นิเตอร์หลาย ๆ อย่าง ให้มันออกมาดีที่สุด”

“ภาพรวมธุรกิจปีนี้ยังเป็นการประคองแค่พอไปได้ไม่ให้ขาดทุนก็ถือว่าค่อนข้างดีแล้ว ยอดขายก็ยังอยู่ในแผนแต่กำไรอาจจะยังไม่มีหรือขาดทุนบ้างเล็กน้อย อย่างที่บอกคือเราประคองต้นทุนไว้ แต่เราเชื่อว่าเราจะพยายามที่ทำให้ช่วงสิ้นปีกลับมาเสมอตัว หรือมีกำไรได้”