ธุรกิจนำเที่ยวฟื้นตัว 7 เดือน จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ พุ่ง 169%

ธุรกิจนำเที่ยวฟื้นตัว 7 เดือน จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ พุ่ง 169%

ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน 7 เดือนแรกปี 65 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 549 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 64 ถึง 169% ขณะที่ทุนจดทะเบียน เพิ่มขึ้นกว่า 226% 

วันที่ 27 สิงหาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “หลังจากที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญและรายได้หลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง ล่าสุด สัญญาณการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวของไทยชัดเจนขึ้น

โดย 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฎาคม) ปี 2565 ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทย มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 549 ราย ทุนจดทะเบียน 988.53 ล้านบาท โดยจัดตั้งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 345 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 169.12) และทุนเพิ่มขึ้น 685.20 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 225.90) (ปี 2564 จัดตั้ง 204 ราย ทุนจดทะเบียน 303.33 ล้านบาท)

ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 กรกฎาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,891 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.40 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 43,008.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.21 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 5,278 ราย (ร้อยละ 44.39) ทุนจดทะเบียนรวม 23,176.56 ล้านบาท (ร้อยละ 53.89)

รองลงมา คือ ภาคใต้ จำนวน 2,748 ราย (ร้อยละ 23.11) ภาคกลาง 1,461 ราย (ร้อยละ 12.29) ภาคตะวันออก 1,024 ราย (ร้อยละ 8.61) ภาคเหนือ 784 ราย (ร้อยละ 6.59) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 401 ราย (ร้อยละ 3.37) และ ภาคตะวันตก 195 ราย (ร้อยละ 1.64)

ทั้งนี้ ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจฯ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 37,484.90 ล้านบาท (ร้อยละ 87.16) รองลงมา คือ จีน ทุน 1,115.67 ล้านบาท (ร้อยละ 2.59) เกาหลีใต้ ทุน 528.45 ล้านบาท (ร้อยละ 1.23) อินเดีย ทุน 445.10 ล้านบาท (ร้อยละ 1.03) และสัญชาติอื่น ๆ ทุน 3,434.00 ล้านบาท (ร้อยละ 7.99)

ภาพรวมผลประกอบการปี 2563-2564 มีแนวโน้มรายได้ปรับตัวลดลง โดยรายได้รวม ปี 2562 มีจำนวน 123,788.53 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 36,619.46 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70.42 จากปีก่อน ปี 2564 มีรายได้รวม 14,251.94 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61.08 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการลดลงของผลประกอบการเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามคาดว่า ผลประกอบการรวมของปี 2565 น่าจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและท่องเที่ยวได้อย่างปกติมากขึ้น อีกทั้ง มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ

เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น นโยบายเราเที่ยวด้วยกันที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก ค่าอาหาร และค่าตั๋วเครื่องบิน มาตรการการเปิดประเทศที่เพิ่มความสะดวกในการเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่จะกลับมาฟื้นตัวตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฎาคม 2565) ที่มีจำนวนสูงกว่า 4 ล้านคน (ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หมุนเวียนท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจึงสามารถเลือกช่วงเวลาท่องเที่ยวได้ตามความชอบของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูร้อนเป็นฤดูของการท่องเที่ยวทะเล ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

ช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของการท่องเที่ยวภูเขา เช่น ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลหรืองานประเพณีที่น่าสนใจทั่วประเทศตลอดปี ซึ่งดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยบวกให้แก่ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่สามารถจัดโปรแกรมนำเที่ยวได้หลากหลายตามความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว ผ่านการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดรับกับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น”