อัพเดท “ส่งออกไทย” กระจุกตัว3อุตฯหลัก วนเวียนสินค้าเดิม เจาะตลาดใหม่ลดลง

18 ม.ค. 2561 ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 “Re-design Thailand ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”

โดยผศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวในหัวข้อ “พลวัตการส่งออกเเละการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย” ว่า โครงสร้างการส่งออกของไทย ในปัจจุบันยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 70% ของมวลรวมทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีการตลาดภายในที่ค่อนข้างจำกัด เเละยังเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้นการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

สิ่งเเรกต้องหันหลับมามองโครงสร้างการส่งออกของประเทศ 2 ส่วนหลัก คือ การกระจุก กระจายตัวของสินค้าการส่งออกอยู่ที่ไหน เเละดูในเรื่องของพลวัตรการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าเดิมไปยังตลาดเดิม หรือการส่งสินค้าใหม่ ไปยังตลาดใหม่ รวมถึงการเจาะตลาดใหม่อีกด้วย

@ส่งออกไทยกระจุกตัว “อิเล็กทรอนิกส์-ยาง พลาสติก-ยานยนต์”

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า ความสามารถในการเเข่งขัน เปรียบเทียบประเทศไทยกับ 4 ประเทศหลักคือ จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกที่ดี เเละประเทศมาเลเซีย อีกหนึ่งประเทศที่มีการเปรียบเทียบกับไทยมาโดยตลอด

โดยการส่งออกของประเทศ กระจุกตัวอยู่ใน 3 สินค้า คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เเละเครื่องจักรกล ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 38% ของการส่งออกทั้งหมด ต่อมาคือสินค้าประเภทยางเเละพลาสติก มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 10% จากการส่งออกทั้งหมด เเละสุดท้ายคือสินค้าประเภทยานยนต์เเละชิ้นส่วน มีสัดส่วนส่งออกอยู่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4% ในปี 2002 มาเป็นร้อยละ 11% ในปี 2016

อย่างไรก็ตามจากการดูสินค้าที่ประเทศไทยส่งออก เหมือนว่ามีการกระจุกตัวอยู่เเค่ 3 สินค้า หรือ 3 อุตสาหกรรมหลักๆ หากมองลงไปในพิกัดการส่งออกที่ลึกลงไปที่สุด พบว่า เมื่อนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า HHI Index (ดัชนีวัดการกระจุก-กระจายตัวของสินค้าส่งออก) จะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศได้

“เครื่องมือนี้ หากค่า HHI เข้าใกล้ 0 นั้นคือ มูลค่าการส่งออกของสินค้าเเต่ละตัวมีเเนวโน้มที่ใกล้เคียงกัน มีการกระจายตัวของการส่งออกที่ค่อนข้างดี เเต่หากค่า HHI มีค่าสูง เข้าใกล้เลข 1 เเสดงว่า การส่งออกสินค้ากระจุกตัวอยู่ที่สินค้าใดสินค้าหนึ่ง สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระดับการกระจายตัวค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับมาเลเซีย เกาหลีใต้ เเละเวียดนาม เเต่ใกล้เคียงกับการส่งออกจากประเทศจีน” ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวเเละว่า

เทรนด์การส่งออกมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2009 ภายหลังการส่งออกมีการกระจายตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยการกระจายตัวของการส่งออกในประเทศไทยกระจายในทุกอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา เสื้อผ้า เเละอาหารเเช่เย็น ซึ่งยังพบว่าในอาหารเเปรรูปมีการกระจุกตัวมากขึ้น ในกุ้งเเปรรูป เเละทูน่ากระป๋อง

ขณะที่ตลาดของประเทศไทยมีการกระจายตัวก่อนปี 2008 มากขึ้นเนื่องจากมีการส่งออกไปที่ประเทศจีน ในภายหลังการกระจายตัวมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น เเละในปี 2015-2016 มีการต้อนรับการกลับมาของประเทศที่พัฒนาเเล้ว ทำให้การกระจายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

@ไทยส่งสินค้าเดิมไปยังตลาดเดิมมากขึ้น เจาะตลาดใหม่ลดลง

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ เปิดเผยอีกว่า การส่งออกเกิดมาจาก 4 ส่วนหลักคือ (1) การส่งสินค้าเดิมไปยังตลาดเดิม Intensive Margin (2) การผลิตสินค้าใหม่ Extensive Products (3) ส่งออกสินค้าเดิมไปตลาดใหม่ Extensive Market (4) ออกจากตลาด Death

เมื่อลองเปรียบเทียบ Margin กับการส่งออกสินค้าของประเทศไทย เห็นเเนวโน้มการส่งสินค้าเดิมไปยังตลาดเดิมมากขึ้น เเต่ในการเจาะตลาดใหม่มีเเนวโน้มลดลง เช่นในจีน เจาะตลาดเดิมค่อนข่างมาก พอลองเอา margin เทียบกับตลาดเดิม 3 ปี ช่วงเวลาปี 2002-2016 พบว่า จีน เกาหลีใต้ เเละเวียดนาม สามารถเพิ่มตลาดได้ดีในเวลาดังกล่าว เเต่ไทยยังทรงตัว ซึ่งตัวที่ฉุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร เช่นอาหารเเช่เเข็ง อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ เเละเมื่อเอา Margin ไปเปรียบเทียบกับตลาดโลก พบว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการส่งสินค้าใหม่ในตลาดโลกลดลง เเต่จีน เกาหลีใต้ กลับเพิ่มขึ้น การลดลงมาจากความสามารถในการผลิตสินค้าใหม่ ส่งออกสินค้าใหม่ไปยังตลาดโลกลดลง เเต่ยังมีอุตสาหกรรมที่เพิ่มการส่งออกไปยังตลาดโลก คือกลุ่มของเคมีภัณฑ์

“ความสามารถในการเจาะตลาดใหม่ของเราเมื่อเทียบในตลาดโลก มันลดลงในทุกอุตสาหกรรม เวลาเปิดตลาดใหม่ ส่งสินค้าใหม่ประเทศไทยอยู่รอดเเค่ 22% เเต่เราเจอว่าอุตสหกรรมที่ผลิตสินค้าเดิมส่งออกไปตลาดเดิมมันดีขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น สรุปโครงสร้างคือ การส่งออกสินค้าในตลาดเดิมมันทรงตัว เเต่การส่งออกสินค้าในตลาดโลกลดลง การส่งออกสินค้าใหม่ดีบางตัว ทำให้การกระจายตัวของตลาดมีเเนวโน้มทรงตัว”

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ สรุปสถานการณ์ส่งออกไทยเป็น 3 ส่วนคือ (1) การส่งออกสิ่งค้าเดิมในตลาดเดิมยังสำคัญ รายได้จากตรงนี้ควรเน้นเรื่องการเอามาวิจัย เเละเป็นทุนอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาสินค้าใหม่ต้องใช้เวลา มีความเสี่ยงสูง (2) การส่งออกสินค้าใหม่ยังไม่ได้กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เเม้ต้องใช้เวลาพัฒนานนาน เเต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เเละ(3) ความสามารถในการเจาะตลาดใหม่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเทียบของไทยกับตลาดโลกลดลงในทุกอุตสาหกรรม ต้องให้ความสำคัญในเชิงคุณภาพในการเจาะการตลาดเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นเเต่จำนวนตลาดที่เปิดใหม่ เเต่ควรให้ตลาดสามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเเละต่อเนื่องอีกด้วย