สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา พสกนิกรปลื้มปีติเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่น

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี พสกนิกรปลื้มปีติเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่น

วันนี้ (19 มกราคม พ.ศ. 2561) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมโครงการอ่างเก็บน้ำ นฤบดินทรจินดา บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สร้างความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรชาวปราจีนบุรีที่เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือชื่อเดิมว่าโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2521 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง เพื่อรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับให้ราษฎรใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยกรมชลประทานได้เริ่มทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2548 อุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนติดกับพื้นที่โครงการได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงชะลอการดำเนินการโครงการ และมอบหมายให้กรมชลประทานจัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติม โดยผนวกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางธรรมชาติเข้าไปด้วย

จากนั้นในปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในลุ่มน้ำปราจีนบุรีที่ในฤดูฝนจะ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี และทรงทราบว่ากรมชลประทานมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการห้วยโสมงฯ จึงทรงเร่งรัดส่วนราชการต่างๆ ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และทรงติดตามความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง จนทำให้โครงการห้วยโสมงสามารถเริ่มเปิดงานก่อสร้างโครงการได้ โดยในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เริ่มดำเนินการโครงการ โดยการดำเนินงานก่อสร้างได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดปราจีนบุรีทำให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำประสบผลสำเร็จตามแผนที่ได้วางไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 โครงการห้วยโสมงฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร ปัจจุบันการก่อสร้างตัวอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จและได้เริ่มเก็บน้ำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 สามารถเก็บน้ำครั้งแรกได้ 242 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปริมาณความจุในระดับกักเก็บ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาพร้อมอาคารประกอบ สำหรับระบบชลประทานฝั่งขวาเป็นการก่อสร้างคลองดาดคอนกรีตสายใหญ่ความยาว 14 กิโลเมตร พร้อมคลองซอย 9 สาย ความยาวรวม 19 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 16,500 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี ส่วนระบบชลประทานฝั่งซ้ายจะมีลักษณะเดียวกัน คือ คลองดาดคอนกรีตสายใหญ่ยาว 46 กิโลเมตร พร้อมคลองซอย 37 สาย ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 94,800 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างระบบส่งน้ำดำเนินการไปแล้วร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดในปี 2563 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 111,300 ไร่

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ระบายน้ำวันละ 0.5 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นจะเพิ่มการระบายเป็นวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 รวมปริมาณน้ำที่ต้องระบายตามแผน คือ 217 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการบริหารจัดการน้ำให้กับ พื้นที่ชลประทานของโครงการเมื่อการก่อสร้างระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2563 กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมพัฒนาการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ในระดับจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดการบูรณาการ อย่างมีเอกภาพตอบสนองนโยบายรัฐบาล และส่งผลสัมฤทธิ์สู่เกษตรกรและประชาชน นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานทั้งหมดของโครงการ โดยเริ่มในปี 2561 มีแผนดำเนินการจัดตั้ง จำนวน 32 กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันระบบส่งน้ำจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2559 ก็สามารถเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปราจีนบุรีได้ทันที และไม่ก่อให้เกิดน้ำท่วมดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา ในส่วนของการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็ยังได้ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้แม่น้ำปราจีนบุรีไม่มีปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ สำหรับงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ กรมชลประทานยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอาชีพให้กับประชาชน เช่น การมอบปัจจัยการผลิตทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และประมง การฝึกอบรมอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาอาชีพประมงน้ำจืด โดยปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำ 1 ล้านตัว และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนกำหนดกติกาและข้อบังคับในทำการประมงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเขตพื้นที่อุทยานโดยรอบเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิดความสมบูรณ์และยั่งยืนตลอดไป