เศรษฐกิจโต-SMEs ยังอ่อนแอ รัฐบาลตะลุมบอนอัดมาตรการ

ขณะที่สัญญาณการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4% แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายก็ยังเป็นห่วงว่าจะเป็นการโตแบบกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ และเป็นห่วงสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก

รัฐบาลอัดมาตรการอุ้มต่อเนื่อง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% โดยที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้มากขึ้นในปี 2561

นางสาวกุลยากล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี อยากให้มองว่ารัฐบาลได้มีนโยบายออกมาสนับสนุนธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นที่รัฐบาลมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปค้ำประกัน รวมถึงยังมีมาตรการลดภาษี อย่างเช่นกลุ่มสตาร์ตอัพ ก็มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (new startup) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายรับไม่เกิน 30 ล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558-31 ธ.ค. 2559 เป็นเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่อง

ขณะที่ในส่วนผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีจากการปรับขึ้นค่าแรงนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ม.ค. ก็มีมาตรการบรรเทาผลกระทบออกมา โดยให้หักรายจ่ายภาษี 1.15 เท่าสำหรับเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี มีพนักงานไม่เกิน 200 คน ครอบคลุมเอสเอ็มอี 4 แสนราย

ดัชนีเอสเอ็มอีทรง ๆ ทรุด ๆ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมสำหรับดัชนีความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs Competitiveness Index : SCI) ไตรมาส 4/2560 พบว่า SCI อยู่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้น 0.2 จุด จากไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจอยู่ระดับ 42.3 เพิ่มขึ้น 1.2 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีนี้ปรับตัวขึ้นเนื่องจากเอสเอ็มอีมีสต๊อกของวัตถุดิบสภาพคล่องมากขึ้น ยอดขายดีขึ้น หนี้สินโดยรวมและสัดส่วนหนี้ต่อยอดขายลดลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดัชนีอีก 2 รายการคือ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ อยู่ในระดับ 50.2 ติดลบ 0.1 จุด และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจอยู่ในระดับ 51.2 ติดลบ 0.5 จุด แต่ยังอยู่ในระดับที่เกิน 50 ซึ่งสะท้อนว่าความสามารถในการทำธุรกิจและความยั่งยืนในการทำธุรกิจอยู่ระดับ “ทรงตัว”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ปี 2561 ธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีการฟื้นตัว แต่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งหอการค้าประเมินการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.4-4.7% แต่หากมองลงไปเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก คาดว่าจะเติบโต 4.3-4.6% และธุรกิจขนาดกลางเติบโต 4.4-4.8% โดยธุรกิจบริการ และการท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่นที่สุด

ปัจจัยบวก-ลบในธุรกิจเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ การเติบโตของเอสเอ็มอีอยู่ภายใต้ปัจจัยว่า ขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4.2-4.5% การส่งออกขยายตัว 5% อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และระดับราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน การลงทุนของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัว การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นในระยะสั้นเอสเอ็มอียังคงประคองตัวในการทำธุรกิจและทำกำไร ส่วนระยะยาวเอสเอ็มอีต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

ปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทผันผวน ส่งผลให้เอสเอ็มอีมีรายได้และกำไรลดลง จึงหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการดูแล เช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงจากการปรับขึ้นค่าแรงที่ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทันที ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งปรับตัวโดยไม่จ้างงานเพิ่ม แต่นำเครื่องจักรเข้ามาใช้ทดแทน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธพว.ได้มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง วงเงิน 70,000 ล้านบาท

อุตฯอัด 9 มาตรการเสริมแกร่ง

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมกลุ่มประชารัฐ ด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีและผลิตภาพ (D2) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า จะใช้มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนให้ได้เฉลี่ย 10% ต่อราย เพื่อรับมือจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อมาตรการนี้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ก็จะเริ่มขอเบิกจ่ายงบประมาณช่วงแรก 500-1,000 ล้านบาท ออกมาช่วยเอสเอ็มอี 10,000 รายก่อน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือ SMEs 1.สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ผ่านโครงการหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV) 2.ใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) 3.ใช้ศูนย์ Support Center เชื่อมโยงความช่วยเหลือบริการจากส่วนกลางไปถึงทุกภูมิภาค 4.สร้างบิ๊กดาต้าใช้วิเคราะห์วางยุทธศาสตร์ 5.สถาบันการศึกษาสร้างผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเอสเอ็มอี 2,000 คน 6.Big Brother พี่เลี้ยงบ่มเพาะเอสเอ็มอี 7.สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B ผ่าน T-Good Tech เชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์ 8.สถาบันการเงินช่วยอบรมการทำบัญชีเดียว และ 9.สร้างมาตรฐานสินค้าเฉพาะเอสเอ็มอี (มอก.)

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นมีเอสเอ็มอีที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ประมาณ 1,000 ราย โดยจะใช้โครงการหลัก ๆ เช่น Big Brother หรือพี่ 50 บริษัทช่วยน้อง ซึ่งขณะนี้มีเอกชนรายใหญ่ตอบรับการเป็นพี่เลี้ยงแล้วหลายราย โดยมีเป้าหมายช่วยเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี 300 ราย ให้สามารถเพิ่มยอดขายรายละ 50 ล้านบาทต่อปี