“ปตท.” จ่ายไม่หยุด ช่วยชาติ 10,000 ล้าน ลดค่าพลังงาน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงาน ได้กลายเป็น “กระเป๋าเงิน” ของรัฐบาล ให้จัดสรร “รายได้” เข้ามาช่วยเหลือด้านราคาพลังงานให้กับประชาชน ล่าสุดในการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาก็ได้มีมติ “ขอความร่วมมือ” จาก บริษัท ปตท.ให้ช่วยพิจารณาจัดสรร “รายได้” จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประมาณเดือนละ 1,500 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2566) หรือเบ็ดเสร็จประมาณ 6,000 ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

โดยที่ประชุม กพช.จะแบ่งการจัดสรรเงินจากโรงแยกก๊าซ วงเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่รัฐบาลชุดนี้จะควักรายได้จาก ปตท. ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้เป็น “ส่วนลด” ราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้า “ต่ำกว่า” 500 หน่วย/เดือน กับให้เป็น “ส่วนลด” ราคาค่าก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงแยกก๊าซในการคำนวณ “ต้นทุน” ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

วงเงิน 6,000 ล้านบาท ข้างต้นจะช่วยบรรเทาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เสนอ 3 แนวทางที่จะปรับขึ้น ค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนคงค้างในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยที่ประชาชนต้องจ่ายจากราคา 4.72 บาท/หน่วย ในปัจจุบัน ขยับขึ้นมาเป็น 5.37, 5.70 และ 6.03 บาท/หน่วย ซึ่งจะเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงสุดอีกครั้งหนึ่ง

ช่วยค่าน้ำมันลามค่าไฟฟ้า

การขอความร่วมมือให้ ปตท. ควักกระเป๋าจ่ายเงินช่วยเหลือค่าพลังงานครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้ “ขอความร่วมมือ” กับ ปตท. ให้จ่ายเงินช่วยด้านราคาพลังงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการขอเงิน “เป็นกรณีพิเศษ” ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นเกินกว่าลิตรละ 35 บาท ให้แก่ประชาชนเป็นการเร่งด่วน จำนวนเงินเดือนละ 1,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้วิกฤตการขาดสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ไม่มีโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศแห่งใดยอมตัดกำไรจาก “ค่าการกลั่นน้ำมัน” มาให้ความช่วยเหลือ “ยกเว้น” ความช่วยเหลือจากบริษัท ปตท. เพียงบริษัทเดียว

ตาราง ปตท.

ว่ากันว่า เงินช่วยเหลือจาก ปตท.ทั้ง 2 รายการ รวม 9,000 ล้านบาทนี้ ถูกจัดสรรมาจาก “รายได้” จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท.ชวนให้คำนึงไปถึง “กำไร” จากโรงแยกก๊าซในแต่ละปีจะมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด

นอกจากรายการจ่ายเงินครั้งใหญ่ข้างต้นแล้ว เท่าที่ผ่านมา บริษัท ปตท.ได้รายงานการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2564 ไปแล้วกว่า 14,800 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติ NGV สำหรับรถยนต์และรถแท็กซี่ ในโครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน รวมวงเงิน 2,800 ล้านบาท ในครั้งนั้น ปตท.ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือทางด้านราคาพลังงานแก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล รวมงบประมาณที่หักจากรายได้ของ ปตท.ไปกว่า 5,200 ล้านบาท แบ่งเป็น

การจัดหาน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเติม วงเงิน 550 ล้านบาท, การตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ให้กับกลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคล 3,900 ล้านบาท, การตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ 400 ล้านบาท, การให้ “ส่วนลด” แก่ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม LPG กับผู้มีรายได้น้อย (ร้านค้า-แผงลอยขายอาหาร) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 18 ล้านบาท, การไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยมูลค่า 340 ล้านบาท จากการเลื่อนจ่ายชำระเงินค่าก๊าซงวดเดือนพฤษภาคม 2565 (มูลค่า 13,000 ล้านบาท) ออกไปอีก 4 เดือนของ กฟผ. เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องที่กำลังมีปัญหาจากต้นทุนรวมในการผลิตไฟฟ้า และล่าสุด ปตท.ยังควักกระเป๋าจ่ายช่วยค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ประมาณ 100 ล้านบาทอีกด้วย

วิธีการ “ขอความร่วมมือ” ในลักษณะของการบังคับจ่ายตามนโยบายของรัฐบาลในระยะหลัง ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “ฝืดเคือง” ของงบประมาณภาครัฐในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลชุดนี้ ที่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบริหารจัดการภาวะหนี้ที่กำลังเพิ่มพูน ทั้งจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมไปถึงการตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนกระทั่งถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังตกอยู่ในสภาวะการขาดสภาพคล่อง และการมีหนี้สินอันเนื่องมาจากนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐบาล ที่มีแต่ “ใช้จ่ายให้หมดไป” โดยแทบไม่มีการ “ประหยัด” ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

กระทบกำไร ปตท. 5.5%

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้ความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือราคาพลังงานนั้น จะต้องกระทบกับรายได้ของ ปตท.แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควักกระเป๋าจ่ายช่วยตรึงค่าไฟฟ้าอีก 6,000 ล้านบาท ในประเด็นนี้ น.ส.ลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานกลุ่มพลังงาน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ให้ความเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวหวังว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพราะคาดว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะเป็นช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงสุดตามช่วงฤดูหนาวในซีกโลกตะวันตก

ทาง บริษัท เอเซีย พลัส ประเมินว่า จะส่งผลกระทบ “เชิงลบ” ต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ปตท. ในปี 2566 ประมาณ 5.5% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีของบริษัท ปตท. ที่คาดการณ์กันไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100,937 ล้านบาท โดยการขอความร่วมมือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปี 2565 ซึ่งมีรายการใหญ่ขอความร่วมมือไปครั้งหนึ่งแล้ว

นั่นก็คือการขอความช่วยเหลือจาก ปตท. ให้สนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกรณีพิเศษ เป็นจำนวนรวม 3,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 1,000 ล้านบาท

ซึ่งในส่วนนี้ได้ถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษของบริษัท ปตท. ในงวดไตรมาส 3/2565 ไปแล้ว เป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านบาท จะถูกบันทึกในงวดไตรมาสที่ 4/2565 ส่วนการสนับสนุนเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้ารอบล่าสุดอีก 6,000 ล้านบาท ในครั้งนี้จะถูกบันทึกในงวดไตรมาสที่ 1/2566 จำนวน 4,500 ล้านบาท และไตรมาสที่ 2/2566 อีก 1,500 ล้านบาท

คำถามของนักลงทุน

ด้าน นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีที่บริษัท ปตท.จะจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซ รวม 6,000 ล้านบาท (ระยะเวลา 4 เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566) เพื่อเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ถามว่า “จะมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล หรือผิดธรรมาภิบาลหรือไม่ อย่างไร”

“ในประเด็นนี้จะต้องไปดูว่า จริง ๆ แล้ว (เข้าไป) อุ้มยังไง และหลักการเป็นอย่างไร เพราะคำว่า “ธรรมาภิบาล” ในปัจจุบันมันกว้างมาก ทั้งเรื่องของธรรมาภิบาลในเรื่องของสังคม เรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่บริษัทต้องคำนึงถึงให้มากขึ้น เพราะถ้ามองแต่เรื่องของธรรมาภิบาล หรือ governance “มันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่บริษัทต้องคำนึงถึง เพราะบริษัทเองก็อยู่ในสังคม อยู่ในโลกที่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้น มันต้องไปด้วยกันด้วย” นายแมนพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนทางด้านการเงินของบริษัท ปตท. ที่มีต่อนโยบายด้านราคาพลังงานของรัฐบาล ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้กับนักลงทุนในแง่ของการนำรายได้บริษัทมาช่วยสนับสนุนลดค่าพลังงานตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท