สต๊อกปุ๋ยเคมีพุ่ง 1.43 ล้านตัน คาดแนวโน้มราคาลดลงอีก

สต๊อกปุ๋ยเคมี

กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ปริมาณปุ๋ยเคมีทั้งประเทศ พบมีสูงถึง 1.43 ล้านตัน มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 52% ส่วนสถานการณ์จำหน่ายลด 36% เหตุเกษตรกรหันใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ด้านราคาลดต่อเนื่อง ยูเรียลงแล้ว 18% แอมโมเนียมซัลเฟตลง 26% คาดแนวโน้มลงอีก

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณสต๊อกปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันมีมากถึง 1.43 ล้านตัน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 52% โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรหลัก ๆ มีสต๊อกมากกว่าปีที่แล้ว เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) สต๊อกมากกว่าปีที่แล้วถึง 136%, 191% และ 89% ตามลำดับ

ส่วนสถานการณ์การจำหน่ายปุ๋ยของทุกโรงงานรวมกันในช่วง 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่าปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วประเทศลดลงประมาณ 36% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการเพาะปลูก โดยใช้ปุ๋ยเคมีลดลง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพทดแทน หรือใช้แบบผสมผสานควบคู่กันไป เพื่อลดต้นทุนในการเพาะปลูก

“จากปริมาณปุ๋ยเคมีที่มีมากเพียงพอในขณะนี้ และปริมาณการใช้ที่ลดลง ทำให้ตลาดมีการแข่งขันราคากันมากขึ้น ประกอบกับราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกได้ลดลงมาบ้างแล้ว แม่ปุ๋ยและปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ที่จำหน่ายในประเทศ จึงได้ปรับลดราคาลง โดยราคาจำหน่ายเฉลี่ยภาคกลาง ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ลดลง 18% และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ลดลง 26% และคาดว่าราคาปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก โดยกรมจะร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ทั่วประเทศติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องต่อไป”

นอกจากนี้ กรมยังได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับนายมานิตย์ บุญเขียว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวและผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ร่วมกับนายสงกรานต์ เพ็ชรน้ำเขียว พาณิชย์จังหวัดนนทบุรี น.ส.มณฑา เจริญสุขสุวรรณ ปลัด อบต. บ้านใหม่ นายอาคม แก้วเอี่ยว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และ น.ส.จิรารัตน์ ผ่องแผ้ว ผู้แทนสำนักงานเกษตรอำเภอบางใหญ่ พบว่าเกษตรกรในเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนได้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น

โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงที่มีราคาไม่แพง เช่น มูลสัตว์ แกลบ รำข้าว น้ำหมัก และกากน้ำตาล เป็นต้น นำมาผสมให้ได้สารอาหารที่ขาดในดิน ตามประเภทของพืชที่เพาะปลูก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อบต.บ้านใหม่

ทั้งนี้ นายสมชาย จันทร์วิเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกผักในตำบลบ้านใหม่ ได้ยืนยันว่า หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ปุ๋ย พบว่าผลผลิตไม่ได้ลดลง ดินไม่เสื่อมสภาพ และปัญหาแมลงลดลง ทำให้ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลงไปด้วย