ราคาน้ำมันดิบ (5 ม.ค. 66) ปรับลด กังวลเรื่องการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Paul Ratje / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีน

วันที่ 5 มกราคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลง หลังตลาดยังคงกังวลในเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีน ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันโดยรวม

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 4 ม.ค. 66 อยู่ที่ 72.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -4.09 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 77.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -4.26 เหรียญสหรัฐ

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิตปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.4 ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 48.5 ทั้งนี้ ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2563 และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากปัจจัยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลต่ออุปสงค์ในตลาด

รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มโควต้าการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นสัญญาณถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนตัว โดยโควต้าการส่งออกน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันอากาศยาน ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 46% จากระดับ 13 ล้านตันในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 19 ล้านตัน โดยบริษัท ชิโนเปค (Sinopec) มียอดโควตาการส่งออกน้ำมันสูงสุด ทั้งนี้ ยอดรวมการส่งออกน้ำมันในจีนในปี 2565 มีปริมาณรวมกว่า 37.25 ล้านตัน

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจีนมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น ภายหลังจากการประกาศโควตาการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคทรงตัว

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจีนมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น ภายหลังจากการประกาศโควตาการส่งออก