ลุ้นอีก 18 เดือน EEC เปิดผลศึกษา “มหานครการบินภาคตะวันออก” เตรียมเวนคืนพื้นที่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวในงานสัมมนา “โครงการศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออก” ว่า สนามบินอู่ตะเภา คือเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นมหานครแห่งการบิน (EEC Aerotropolis) ในปี 2565 ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างศึกษาระยะที่ 2 และจัดทำแผนงานเชิงกลยุทธ์การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค คาดจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ที่จะเห็นรายละเอียดพื้นที่โดยรอบของสนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดว่าจะมีโครงการสำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาเมืองการบินนั้นจะก่อให้เกิดการขยายของเมืองโดยรอบในรัศมี 10-20 กิโลเมตรครอบคลุม 3 จังหวัด(ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) หรือในพื้นที่ EEC โดยต้องวางผังเมืองให้ละเอียดลดการแออัดเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับการขยายเมืองของกรุงเทพมหานคร

ดังนั้นไม่เพียงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค แต่ยังจำเป็นที่ต้องวางระบบการพัฒนามห้ชุมชนแต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัย ขณะที่อุตสาหกรรรมที่จะเกิดขึ้นในแผนการศึกษาจำเป็นต้องวางไว้ให้ชัดเจน เช่น อุตสาหกรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งบางพื้นที่อาจต้องจำเป็นเวนคืน หรือบางพื้นที่ต้องกันไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรอการวางแผนพัฒนาในอนาคต

สำหรับงบศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออกรวมทั้งสิ้น 17 ล้านบาทโดยมอบให้นายจอนห์ ดี คาซาดา (John D.Kasarda) ที่ปรึกษาด้านการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองการบินร่วมทำงานกับทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินงาน โดยเฟสแรกของการศึกษา(ปี 2561-2562) จะเป็นการมองภาพกว้าง ส่วนเฟส 2 (ปี 2563) จะลงลึกรายละเอียดถึงการพัฒนาเมือง การดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับขอบเขตพื้นที่จะแบ่งเป็น 1. พื้นที่ในเขตเมืองสนามบิน 6,500 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ เขตการค้าเสรี 2. พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นในมีรัศมีครอบคลุมพื้นที่โดยรอบห่างจากสนามบิน 10 กิโลกเมตร ที่จะแบ่งโซนการพัฒนารองรับเมืองการบิน 3. พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นนอกครอบคลุม 3 จังหวัด EEC ทำให้เกิดการขยายตัวเมือง ธุรกิจ และอุตสาหกรรม

Advertisment

เงินลงทุนด้านการพัฒนาเมืองการบินและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ จะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท หากรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องคาดว่าจะเกิดการลงทุนหลายแสนล้านบาท

นายจอนห์ ดี คาซาดา (John D.Kasarda) ที่ปรึกษาด้านการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองการบินระดับโลก กล่าวว่า โรดแมปของรัฐบาลหากมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย EEC เชื่อมโยงระบบการขนส่งได้ตามแผน การยกระดับการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรป้อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะทำให้ อู่ตะเภา เป็นมหานครการบินได้ไม่ยาก

นางจริยา บุณยะประภัศร ผู้จัดการโครงการศึกษาเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า การพัฒนาเมืองการบินนี้จะเป็นการขยายจากเมืองเดิมที่แออัด มาสู่เมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ที่พร้อม และมันยังรองรับพื้นที่อุตสาหกรรม การค้า การบริการ และท่องเที่ยว