สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คาดส่งออกไทยไตรมาส 1 ปี’66 ติดลบ 3-5%

ส่งออก-นำเข้าสินค้า
Photo : Pixabay

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คาดการส่งออกไทยไตรมาส 1 ปี 2566 มีโอกาสติดลบ 3-5% ก่อนฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 2 ทั้งปี มองการส่งออกโต 1-2% พร้อมวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลค่าเงินบาท ดอกเบี้ย

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-2% โดยมีปัจจัยบวกค่าระวางเรือปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าอาหาร เกษตรยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และแม้ว่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2566 จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม

“เดือนมกราคมน่าจะส่งออกไปสัก 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 3-5% แต่ไตรมาสแรกของปีคาดว่าได้ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3-5% เพราะเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสสองจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา ตามทิศทางเศรษฐกิจของจีน”

ชัยชาญ เจริญสุข
ชัยชาญ เจริญสุข

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer)

สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย และราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ คาดราคาจะอยู่ที่ระดับ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การส่งออกเติบโต สรท.ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ ทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในซัพพลายเชนการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวควบคู่กัน

อีกทั้งขอให้ภาครัฐควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในภาคการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุน เพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการทางภาษี ลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น

และขอให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรอบคอบ สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และเร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ให้บรรลุผลโดยเร็ว