สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ค้านยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

เหล็กแผ่นรีดร้อน
แฟ้มภาพ

ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อน แจงการยกเลิกการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็ก ทำลายเศรษฐกิจในประเทศตัวเองนับ 10,000 ล้านบาท ความเชื่อมั่นการลงทุนหาย หวั่นต่างชาติทั้งจีน มาเลเซีย ใช้ช่องว่างกดดันราคาตลาดเหล็กโลกดิ่ง

นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และเป็น 2 ใน 6 ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายสำคัญของประเทศ กล่าวว่า จากผลการพิจารณาขั้นต้นให้ยุติการขยายเวลาการบังคับใช้การตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี

โดยทั้ง 3 ประเทศยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอีกกว่า 13 ล้านตัน และยังคงมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากการถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั่วโลก ผลดังกล่าวนอกจากจะกลับมาสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตในประเทศแล้ว ยังอาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้รายหลักของประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย

ซึ่งบริษัทได้ร่วมจับมือกับ นิปปอน สตีล คอร์ป ในฐานะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ด้วยการลงทุนในบริษัทเหล็กทั้ง 2 บริษัทเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท เมื่อปี 2565 เพื่อเข้ามาพัฒนาธุรกิจเหล็กในประเทศให้เติบใหญ่ ด้วยการพัฒนายกระดับเหล็กให้มีคุณภาพแข่งขันได้

และจะช่วยลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้ ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนรวมในการผลิตเหล็กต่ำลง อีกทั้งเป็นกลุ่มทุนที่มีเครือข่ายด้านการตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กเชื่อมโยงไปทั่วโลก

โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดในประเทศ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่มีการพัฒนาในญี่ปุ่น

ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในประเทศไทยเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าในประเทศ รวมถึงไม่สนับสนุนการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ โดยมีการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง

เหล็กแผ่นรีดร้อน

แต่จากกรณีที่มีร่างผลการพิจารณาทบทวนการบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 3 ประเทศที่มีมติให้ยุติมาตรการไปนั้น สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสินค้าจากทั้ง 3 ประเทศนี้แล้ว

ขณะนี้ยังมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการสินค้าทุ่มตลาดจากประเทศจีน และมาเลเซียด้วย โดยเฉพาะจากกรณีประเทศจีน ที่ทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นสาเหตุหลักของกำลังการผลิตส่วนเกินของโลก และมีการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กไปทั่วโลก รวมถึงมีพฤติกรรมการหลบเลี่ยงมาตรการโดยการเจือธาตุอัลลอยไม่ให้สินค้าอยู่ในพิกัดศุลกากรของมาตรการ AD ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน

“เมื่อพิจารณาจากศักยภาพในการส่งออกทั้ง 5 ประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเหลือกว่า 170 ล้านตัน รวมถึงพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 8 ประเทศทั่วโลก โอกาสที่ประเทศดังกล่าวจะกลับมาทุ่มตลาดหากยุติมาตรการไปนั้นมีสูงมาก”

“และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่น หรือแม้แต่นักลงทุนประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน”

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายหลักของประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปัญหาเศรษฐกิจโลกนี้ ประเทศต่าง ๆ พยายามดูแลปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน และมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดก็เป็นการปฏิบัติที่สำคัญ โดยทั่วโลกมีการใช้มาตรการ AD เฉพาะสินค้าเหล็กมากถึง 503 มาตรการ

และตัวอย่างประเทศทุ่มตลาดที่ยังถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็ก ได้แก่ จีน 149 มาตรการ ตุรกี 14 มาตรการ เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี ยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 13 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งออกของประเทศดังกล่าว

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าหากมีการยุติมาตรการ AD จะเกิดช่องว่างให้สินค้าทุ่มตลาดไหลทะลักเข้ามา สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภายใน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน และหากสินค้าทุ่มตลาดจาก จีน ตุรกี บราซิล อิหร่าน และมาเลเซีย กลับมาทุ่มตลาดมายังประเทศไทย

สร้างความเสียหายจนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศต้องปิดกิจการ ประเทศก็จะเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 10,800 ล้านบาท

ซึ่งหากประเมินการหมุนวนทางเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 3 เท่า ก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 32,400 ล้านบาท นอกจากนี้ประเทศยังต้องเสียดุลการค้าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มอีก 2 ล้านตัน/ปี คิดเป็นเสียดุลการค้ามูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท/ปี (ประเมินราคาสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนอย่างน้อย 25,000 บาท/ตัน)

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีการอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียงประมาณ 30% เป็นสินค้าเหล็กทรงยาว 32% (คงที่จากปี 2564) และเหล็กทรงแบน 28.2% (ลดลงจาก 33% ในปี 2564)

ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ยังคงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำคือปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมากในระดับโลกและอาเซียนทำให้เกิดสินค้าทุ่มตลาดนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันยังคงพบอยู่โดยเฉพาะจากประเทศจีน และเวียดนาม ที่ยังคงมีสินค้าทุ่มตลาดในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยเฉพาะการส่งสินค้าเหล็กที่เจืออัลลอยเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าในปัจจุบัน

“สถาบันเหล็กฯ ได้มีการหารือร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนในการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพเท่ากับมาตรการของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป ที่มีการบังคับใช้มาตรการ AD และ มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention : AC) กับสินค้าดังกล่าว”

“หรือแม้แต่การใช้มาตรการ Section 232 ของสหรัฐ หรือ Safeguard ของ สหภาพยุโรป นอกจากนี้ข้อมูล WTO ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่ามีการบังคับใช้มาตรการ AD/CVD ต่อสินค้าเหล็กสำเร็จรูปถึงประมาณ 200 กรณี และยังอยู่ระหว่างการไต่สวนอีกประมาณ 120 กรณี (แยกตามสินค้า และประเทศที่บังคับใช้)”

“โดยประเทศจีน และเวียดนามเป็นประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนประเทศหลักที่ใช้มาตรการ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็ยังให้ความสำคัญในการการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญอื่น ๆ”