ไบโอพลาสติกไทย เบอร์ 2 ของโลก เดินหน้าจัดการขยะ มุ่งสู่อุตสาหกรรม BCG

ไบโอพลาสติก

สถาบันพลาสติก เผยแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 ปี’66-70 เล็งลดใช้-ลดผลิตถุงพลาสติกชัดเจน แนะไทยต้องเดินหน้าสู่พลาสติกชีวภาพ ด้านสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย อวดไทยขึ้นเป็นประเทศผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืชใหญ่อันดับ 2 ของโลก “จีซีซี” ลุยผลิตไบโอพลาสติก PLA ปี’67

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เข้าร่วมประชุมกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (2566-2570) มาตรการที่ 2 การลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค

โดยในแผนดังกล่าวได้ลงรายละเอียดถึงเรื่องการกำหนดว่าผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ควรลดก่อนไปถึงหลุมฝังกลบและควรต้องลดการผลิตพลาสติกประเภทใดลง ลดผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single use) เช่น ลดถุงหิ้ว หลอด เป็นต้น ให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างนำไปสู่การเป็น BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

วีระ ขวัญเลิศจิตต์
วีระ ขวัญเลิศจิตต์

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก ปัจจุบันมีการผลิต 360 ล้านตัน โดยในส่วนของประเทศไทยผลิตได้ 9.5 ล้านตัน นำเข้า 2 ล้านตัน ส่งออก 5.5 ล้านตัน ที่เหลือใช้ในประเทศ

โดยส่วนใหญ่ผลิตเป็นสินค้า commodity สัดส่วน 83% เป็นสัดส่วนการใช้ 75% และผลิตเป็นสินค้า specialty สัดส่วน 17% เป็นสัดส่วนการใช้ 25% รวมแล้วมูลค่าการใช้และส่งออก 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.6% ของ GDP และคาดว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมพลาสติกไทยจะโต 3%

“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน อุตสาหกรรมพลาสติกโตประมาณ 6% แต่ในปัจจุบันเราโต 3% สาเหตุที่ลดลงเพราะฐานการผลิตมันเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจะมีพลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้อง และในอนาคตยิ่งอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทุกอย่างเป็นสมาร์ทมากขึ้น การใช้พลาสติกยิ่งมีแนวโน้มเติบโต และเป็นตัวดึงดูดการลงทุนเข้ามาอย่างมาก”

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ไทยมีนโยบาย BCG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) อย่างจริงจัง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน

และปัจจุบันไทยขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืชใหญ่อันดับ 2 ของโลก เพราะไทยเองมีวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากกากอ้อยที่มาจากโรงงานน้ำตาลในประเทศ

ซึ่งในไทยขณะนี้จะมีพลาสติกชีวภาพ (bio plastic) 2 ประเภท คือ ที่เป็น PLA หรือเม็ดพลาสติกที่ผลิตขึ้นรูปเป็นสินค้าพลาสติกที่ย่อยสลายได้เอง และอีกส่วนของพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพืชไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

วิบูลย์ พึงประเสริฐ
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ซึ่งไทยจะไปสู่แนวทางนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยไปสู่ชีวภาพแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะขายในราคาที่สูงกว่าพลาสติกธรรมดา 3 เท่า

“เราขึ้นเป็นที่ 2 ของโลกได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยอยู่แล้วอย่าง บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเขามีพันธมิตรรายใหญ่ของของโลกคือ บริษัท เนเจอร์เวิร์ก จากสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อผลิต PLA ผลิตเม็ดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ กำลังการผลิต 75,000 ตัน/ปี

ในอนาคตการใช้พลาสติกชีวภาพจะทยอยเพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงเป็นการขอความร่วมมือและเป็นนโยบายของประเทศ ต่างจากประเทศที่พลาสติกชีวภาพโตมาก ๆ เพราะเขาบังคับใช้เป็นกฎหมาย อย่างที่จีนกับอินเดีย และในบางรัฐของอเมริกา”

และในวันที่ 10-13 พ.ค. 2566 จะจัดงาน “พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2023 : Plastic & Rubber Thailand 2023” ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพื่อโชว์ศักยภาพของไทย ในฐานการผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมยางที่สำคัญของโลก

ด้านนายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ระยะ 2 ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟฟ้า

และจัดเตรียมวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับทางบริษัท NatureWorks พันธมิตรจากผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ในสหรัฐ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า และจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2567

“ปีนี้จีจีซีมีแผนลงทุน 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และอีก 2,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ วางเป้าหมายว่าจะรักษาระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ 25,084 ล้านบาท”