ไทย-ออสเตรเลีย เร่งความตกลง TAFTA ชี้ช่วยการค้าสองฝ่ายโต 186%

ประชุมเอฟทีเอ
ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4 ตั้งเป้าความสำเร็จ พ.ค. 2566 นี้ ชี้ FTA ที่มีมากว่า 19 ปี ช่วยการค้าสองฝ่ายโตถึง 186% เมื่อเทียบกับปีแรก (พ.ศ. 2548)

วันที่ 6 มีนาคม 2566 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ ว่า ตนได้เป็นประธานร่วมกับนางจูเลียน่า นัม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ถือเป็นเวลากว่า 19 ปี

ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้ TAFTA JC อาทิ คณะทำงานด้านการเปิดตลาด คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และคณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าจากระบบ HS2002 เป็น HS2022 ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปีนี้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจรับรองด้านสุขอนามัย เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งมีสินค้าเป็ดปรุงสุกไทยไปออสเตรเลีย และสินค้าอะโวคาโดสดออสเตรเลียมายังไทย

โดยทั้งสองฝ่ายสนใจจะกระชับความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อเสริมความต้องการแรงงานในด้านต่าง ๆ ผ่านการยอมรับมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่สนใจ โดยไทยสนใจให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะสาขานวดแผนไทย พ่อครัวแม่ครัว ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เกษตรกรอัจฉริยะ ผู้มีทักษะด้านดิจิทัล สตาร์ตอัพ และการโรงแรม

ประชุม
ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4

ส่วนออสเตรเลียสนใจเข้ามาทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับไทยในสาขา อาทิ ภูมิสถาปนิก (landscape architect) และผู้ตรวจสอบปริมาณงาน (quantity surveyors)

นางอรมนกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-ออสเตรเลีย (SECA) โดยเฉพาะการจัดทำแผนกิจกรรมเพื่อกระชับความร่วมมือ 8 สาขา ได้แก่ เกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าทั้งสองฝ่ายได้ลงนามการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย

FTA ฉบับนี้ ถือเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยและออสเตรเลียอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลียเติบโตเพิ่มขึ้น ขยายตัวถึง 186% จากมูลค่า 6,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 เป็นมูลค่า 18,389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการที่ออสเตรเลียและไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกือบทุกรายการแล้ว

ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,388.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.30% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 11,154.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีเครื่องประดับ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 7,234.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์