อัพเดตแผนน้ำรับฤดูแล้ง ปี’66 กรมชลประทานมั่นใจน้ำใช้การได้กว่า 60%

แผนน้ำรับฤดูแล้ง

ชป.ถก 17 สำนักงานชลประทาน-6 หน่วยงานเกี่ยวข้อง อัพเดตแผนน้ำรับฤดูแล้ง ปี 2566 มั่นใจน้ำใช้การได้สูงกว่า 60% แผนปลูกข้าวนาปรังแล้ว 90%

วันที่ 7 มีนาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 10/2566 ผ่านทางระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

โดย ปัจจุบัน (7 มี.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 52,455 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 16,246 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างรวมกัน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

ในขณะที่มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 16,981 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,091 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

Advertisment

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว  6.36 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผน

ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

Advertisment

แผนน้ำรับฤดูแล้ง

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการทำนาต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี