ด่วน คืนสถานะไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าแล้ว

กาฬโรคแอฟริกาในม้า

ประเทศไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) รับรองสถานภาพปลอดโรคอย่างเป็นทางการหลังจากพบการระบาดปี’63

วันที่ 14 มีนาคม 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า
คณะกรรมาธิการสุขภาพสัตว์บกของ WOAH (Scientific commission for Animal disease) ได้พิจารณาเอกสารขอคืนสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : AHS) เรียบร้อย และได้มีหนังสือแจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566

สรุปได้ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการตามข้อกำหนด 12.1.5 ของ Terrestrial Animal Health Code ในการขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS และคณะกรรมาธิการฯ ขอชื่นชมความครอบคลุมของเอกสาร และมาตรการของประเทศไทยในการกำจัดโรค AHS ทำให้ WOAH พิจารณาคืนสถานภาพปลอดโรค AHS ให้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และได้เผยแพร่บนหน้าเว็บ WOAH เรียบร้อยแล้ว

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์

สำหรับเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : AHS ) ในประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยตรวจพบในพื้นที่ 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว

กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปี ซึ่งจากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก

กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก และได้ยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS อย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 หลังจากประเทศไทยถูกระงับสถานภาพปลอดโรคเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้เมื่อประเทศไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับนานาชาติรายการต่าง ๆ ได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้นต่อไป รวมทั้งกิจการการนำเข้า ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย