ส่งออก ก.พ. 2566 หดตัว 4.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ภาพจาก Pixabay

สินิตย์เผยตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หดตัว 4.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีผลต่อการนำเข้า รวมไปถึงสต๊อกสินค้าของผู้นำเข้ายังคงมีค้างอยู่ คาดว่าจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 730,123 ล้านบาท หดตัว 4.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 แล้วถ้าหักน้ำมัน สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวเพียง 0.05% การส่งออกที่หดตัว

เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้า รวมไปถึงสต๊อกสินค้าผู้นำเข้ายังคงมีและอยู่กันเร่งระบายสินค้าอยู่ด้วย จึงเป็นผลต่อการนำเข้าสินค้า จึงมีผลต่อการชะลอตัวการนำเข้าสินค้าของประเทศผู้นำเข้า และแม้จะประเมินเบื้องต้นว่าการส่งออกในไตรมาสหนึ่งจะหดตัวรวมไปถึงไตรมาสสอง แต่หลังจากนั้นจากการผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.3% ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566

ส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัว 3.6%

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยเป็นการขยายตัวทั้งหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 21.4 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และลาว)

Advertisment

ข้าว ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย เซเนกัล โมซัมบิก และแอฟริกาใต้) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 95.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 171.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา เคนยา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 61.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 34.0 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ อินเดีย ไต้หวัน โรมาเนีย และปากีสถาน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.1 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์ แต่ขยายตัวในตลาดลิเบีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล และเปรู)

Advertisment

อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัวร้อยละ 23.4 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และอิตาลี แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเกาหลีใต้) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 23.9 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และซาอุดีอาระเบีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.6

ส่งออกอุตสาหกรรม หดตัว 6.2%

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก หดตัวร้อยละ 6.2 (YOY) หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน แม้ว่าการส่งออกภาพรวมของหมวดจะหดตัว แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม)

อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 81.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ขยายตัวร้อยละ 22.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา จีน และฟิลิปปินส์)

รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 60.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เวียดนาม อินเดีย แคนาดา และตุรกี) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี) เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 53.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 24 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 20.6 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลาว และโอมาน) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 22.9 หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม)

เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 12.9 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน เมียนมา ลาว เยอรมนี และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 5.8

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 5.9 หดตัวในสหรัฐ ร้อยละ 9.5 จีน ร้อยละ 7.9 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.5 CLMV ร้อยละ 4.9 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.4 ขณะที่สหภาพยุโรป (27) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง ร้อยละ 28.6 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 23.8 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 11.2 แต่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 9.4 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 9.2 ละตินอเมริกา ร้อยละ 4.7 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 26.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 3.5 (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 67.1 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 80.7

แนวโน้มการส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวก การส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าทำตลาดข้าวผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ ตั้งเป้าการส่งออกปี 2566 ที่ 7.5 ล้านตัน ด้วยปัจจัยหนุนจากอินเดียและเวียดนามมีนโยบายเก็บสต๊อกข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคข้าวในอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น

(2) การเดินหน้าสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Mini FTA) ระหว่างไทยและเสิ่นเจิ้น ตั้งเป้าการค้าระหว่างกันอีก 43,000 ล้านบาท ในปี 2566-2567 เสิ่นเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของจีน รองจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และมีขนาดเศรษฐกิจเกือบเท่าไทย (3) การเร่งเปิดเจรจา FTA คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเปิดการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยร่วมประชุมกับฝ่ายยูเออี เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเปิดโครงการไทยซุค (Thai Souq) ที่เป็นแหล่งรวมและกระจายสินค้าและบริการของไทยในเมืองดูไบ ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และจะเป็นประตูเข้าสู่การค้าของกลุ่มประเทศอาหรับต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คาดว่าช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.พ. 2566