เกษตรกรทวงผลสอบตู้ตกค้าง “หมูเถื่อน” 331 ตู้ กรมศุลฯ เงียบนาน

หมูเถื่อน

เกษตรกรทวงถามกรมศุลกากร ผลสอบตู้ตกค้างในโครงการท่าเรือสีขาว รถตู้ตกค้าง 331 ตู้ ก.พ. 66 พร้อมขอฟังมาตรการป้อง “หมูเถื่อน” หลังถูกเบียดตลาดยับเยิน

วันที่ 3 เมษายน 2566 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการรับสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อขอทราบผลการตรวจสอบตู้ตกค้างในโครงการท่าเรือสีขาวหลังเปิดไปเพียง 5 ตู้ จาก 331 ตู้ ณ วันแถลงข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

เพราะยังกังวลว่าจะยังมีหมูเถื่อนคงค้างรอการระบายอีกหลายตู้ พร้อมขอเข้าฟังขั้นตอนและพิธีการศุลกากรอันรัดกุม เพื่อความมั่นใจในมาตรการป้องกันหมูเถื่อน เนื่องจากผู้เลี้ยงหมูไทยได้รับผลกระทบหนักจากปริมาณหมูส่วนเกินที่นำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25,000 ตัน/เดือน

“หมูเถื่อนจากต่างประเทศไม่ว่าจะจากยุโรปหรืออเมริกาใต้จะผ่านเข้ามาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับด่านกรมศุลกากร ซึ่งเกษตรกรทุกคนเชื่อมั่นว่าพิธีการทางศุลกากรของไทย มีมาตรการที่เข้มงวดรัดกุม ยากที่สิ่งของผิดกฏหมายจะผ่านด่านเข้ามาได้ แต่น่าแปลกที่ปริมาณหมูเถื่อนกระจายอยู่ในท้องตลาดทั่วประเทศมากเหลือเกิน”

คณะกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและผู้เลี้ยงสุกรจากทุกภูมิภาค จึงทำหนังสือขอเข้าพบท่านอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอรับฟังนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่กรม ดำเนินการในการป้องกันไม่ให้สินค้าผิดกฏหมายเข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในการประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรต่อไป” นายสุรชัยกล่าว

Advertisment

นอกจากนี้ นายสุรชัยยังแสดงความกังวล กับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในโครงการท่าเรือสีขาวของกรมศุลกากร ที่มีการแถลงข่าวไปเมื่อช่วงกุมภาพันธ์ 2566 ว่ามีตู้ตกค้างมากถึง 331 ตู้ และมีการสุ่มเปิดตู้ต่อหน้าสื่อมวลชนเพียง 5 ตู้ พบเป็นหมูเถื่อนถึง 3 ตู้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบข่าวตรวจสอบตู้ตกค้างอีก จึงสอบถาม ผลการตรวจสอบตู้ทั้งหมดจากกรมศุลฯอีกครั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าผิดกฏหมายอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำลายตลาดให้เกษตรกรไทยเดือดร้อนเรื่อยมา

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ปรากฏชิ้นส่วนเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าจากหลายประเทศเข้าสู่ประเทศไทย โดยสันนิษฐานว่าไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามอำนาจของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้ติดตามการจับกุมปราบปรามหมูเถื่อนของภาครัฐ พบว่ามีปริมาณเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 5% ของการลักลอบทั้งหมดในแต่ละเดือน ซึ่งคำนวณได้จากปริมาณหมูเถื่อนในท้องตลาดที่มีอยู่ถึง 25,000 เมตริกตัน/เดือน ส่งผลกดดันราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศให้ตกต่ำ นำไปสู่ภาวะขาดทุนของเกษตรกรไทย

“ต้นทุนการผลิตหมูของไทย สูงกว่าในต่างประเทศถึง 30% เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบ้านเรามีราคาสูงกว่ามาก จึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาขายกับหมูเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ปนเปื้อนสารตกค้าง ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และอาจมีเชื้อโรคระบาดสัตว์ ASF เข้ามาซ้ำเติมหมูไทย เมื่อหมูเถื่อนมีจำนวนมาก เกษตรกรก็มักถูกกดราคาหน้าฟาร์มจากผู้ซื้อ กลายเป็นวังวนปัญหาไม่รู้จบ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากกรมศุลากร ในการป้องกันที่ต้นทางตั้งแต่ก่อนหมูเถื่อนจะเข้าประเทศ”

Advertisment