ปัดฝุ่นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ชงเค้กอู่ตะเภา 2 แสนล้าน

อู่ตะเภา

เลขาฯ EEC ปัดฝุ่น “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” เมืองการบินอู่ตะเภา หลังทิ้งร้าง 5 ปี สำรองพื้นที่ 200 ไร่ ให้ “การบินไทย” ได้ไปต่อ พร้อมเปิดกว้างให้เอกชนลงทุนโครงการต่อเนื่องอีก 300 ไร่ เผยหนุนไทยชิงเค้กตลาด MRO อาเซียน มูลค่า 2.2 แสนล้าน หวังแจ้งเกิดแหล่งงานทักษะขั้นสูงในอนาคต

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดแบ่งพื้นที่ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน โดยเตรียมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ให้เอกชนเช่า มีทั้งบริการสาธารณูปโภคและสนับสนุนกิจการภายในสนามบิน เช่น โรงไฟฟ้า, โรงผลิตน้ำประปา, โรงงานบำบัดน้ำเสีย, กำจัดขยะ ทั้งกันพื้นที่ไว้ก่อสร้างถนนส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง และเหลือพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้พัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแบบครบวงจร (Aviation Technical Zone) หรือ ATZ

โครงการนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาเบื้องต้นสรุปว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็น “นิคมอุตสาหกรรมการบิน” อันได้แก่ กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO), กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (human resource : HR) เป็นต้น

ซึ่งอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานถือเป็นโครงการใหญ่ เนื่องจากการซ่อมบำรุงเครื่องบิน 1 ลำ มีทั้งซ่อมหนักซ่อมเบา, ซ่อมตัวถังเครื่องบิน (body), ซ่อมเครื่องยนต์, อุปกรณ์ควบคุมเครื่องบิน, อุปกรณ์ตกแต่งภายในอากาศยาน และอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ เอกชนที่จะลงทุนจึงต้องมีประสบการณ์และมีมาตรฐานด้านเทคนิคในขั้นสูง ที่สำคัญต้องมีเงินลงทุนสูงด้วย

เลขาฯอีอีซีเตรียมปัดฝุ่น

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า จะนำโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลับมาดำเนินการเองอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้โครงการดังกล่าวทางกองทัพเรือ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้เข้ามาดูแลและร่วมกันจัดทำแผน แต่ด้วยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนเพื่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานได้เข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู ทำให้โครงการ MRO ต้องชะงักไป

และขณะนั้นทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกสายการบินหยุดทุกเที่ยวบิน ดังนั้น โครงการ MRO จึงชะลอตามไปด้วย แม้ก่อนหน้านี้ทางแอร์บัส และ บมจ.การบินไทย ได้ลงนามข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561

“แผน MRO ไม่จำเป็นต้องปรับใหม่ แต่ได้กันพื้นที่ 200 ไร่ ไว้ให้กับการบินไทย เพราะเชื่อว่าการบินไทยยังจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 300 ไร่ อาจต้องทบทวนและหานักลงทุนที่สนใจ เนื่องจากมีการขยับเฟสและประเมินจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาใหม่”

ทั้งนี้ เดิมสนามบินอู่ตะเภาแบ่งพัฒนาเป็น 4 เฟส รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน แต่ต้องขยับเป็น 6 เฟส โดยลดจำนวนเป้าหมายผู้โดยสารลงเหลือ 12 ล้านคน ซึ่งจะมีผลต่อการเดินหน้าโครงการหลัก และโครงการที่เกี่ยวเนื่องด้วยอย่าง MRO

ในส่วนของ MRO เป็นส่วนประกอบในโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะมีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ศูนย์ฝึกอบรมการบิน ตามแผนเมืองการบินจะเปิดดำเนินการในปี 2570 ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และแท็กซี่เวย์

หนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วน

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเปิดเผยว่า โครงการ MRO มีส่วนสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศได้ประโยชน์ และมีโอกาสพัฒนา แต่ไม่ใช่แค่ชิ้นส่วนเครื่องบิน แต่เข้าถึงตลาดชิ้นส่วนโดรน ดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอากาศยานเช่นกัน เนื่องจากเป้าหมายการสร้าง MRO นอกจากจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินในไทยแล้ว ยังสนับสนุนการใช้วัสดุจากผู้ผลิตในประเทศด้วย

ก่อนหน้าที่โครงการจะชะลออาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมีสัดส่วนการผลิตยังไม่มาก และมีส่วนหนึ่งได้เข้าไปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมอย่าง ธีออส 2 แน่นอน หาก EEC ปัดฝุ่นโครงการนี้อีกครั้ง เชื่อว่าไทยจะเป็นศูนย์ซ่อมของอาเซียนได้ไม่ยาก เพราะผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในไทยเก่งหลายบริษัท ทั้งมีซัพพลายเออร์ที่เป็น SMEs อีกจำนวนมากพร้อมจะสนับสนุน

ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรม MRO ในตลาดอาเซียนมากกว่า 6,570 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.2 แสนล้านบาท โดยประเทศสิงคโปร์ยังคงเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่ 25% ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ประกาศจะเข้ามาเป็นผู้เล่น และชิงตำแหน่งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของอาเซียนและของโลกให้ได้ โดยไทยมีแผนชัดเจน ซึ่ง บมจ.การบินไทยร่วมมือกับบริษัทแอร์บัส ผลักดันให้เปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่อู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO ระดับโลกให้ได้

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอากาศยานจะครอบคลุมทั้งส่วนของผู้ผลิต เช่น ชิ้นส่วนปีก ชิ้นส่วนเก้าอี้ ชิ้นส่วนโครงสร้าง ชิ้นส่วนตกแต่งภายใน ชิ้นส่วนระบบฐานล้อ และชิ้นส่วนระบบเบรก และครอบคลุมไปถึงศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้เป็น new S-curve ส่วนหนึ่งได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสูงสุดที่ 8 ปี แต่จะลดหลั่นปีลงไปตามแต่ละเทียร์

สำหรับสถิติยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2565 พบว่ามีโครงการขอรับการส่งเสริม 5 โครงการ ซึ่งปี 2564 อยู่ที่ 5 โครงการเช่นกัน ส่วนเงินลงทุนปี 2565 อยู่ที่ 690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% หรือจาก 450 ล้านบาท

TG ยังไม่พร้อมลงทุนใหญ่

แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในพื้นที่ EEC (อู่ตะเภา) ว่า ประเด็นดังกล่าวยังไม่เคยมีการพูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เนื่องจากสถานการณ์ของบริษัทการบินไทยขณะนี้ไม่พร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ และยังอยู่ในกระบวนการของแผนฟื้นฟู มีภารกิจต้องชำระหนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2567-2568

หากมีการลงทุนใหม่ การลงทุนนั้นจะต้องไม่เป็นภาระ มีความคุ้มค่า และเกิดรายได้ทันที เช่น การลงทุนเช่าเครื่องเพื่อนำมาทำการบินเพิ่ม เป็นต้น ส่วนการลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงนั้นเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่าร่วม 1 หมื่นล้านบาท และใช้เวลานาน รวมถึงต้องมีพันธมิตรและลูกค้าที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญต้องมีข้อมูลการันตีที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าลงทุนไปแล้วจะเกิดกำไร

“สถานะของการบินไทยในวันนี้ยังมีภาระและหนี้สินรออยู่ข้างหน้าอีกเยอะมาก เราอยากทำข้างหน้าให้ได้ตามแผนฟื้นฟูก่อน เช่น เครื่องบินต้องส่งคืนกี่ลำ จะรับใหม่มาเสริมกี่ลำ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้อีกราว 6-12 เดือน แต่ถ้าถามว่าการบินไทยควรลงทุนไหม คำตอบก็คือเราน่าจะเหมาะสมที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากการบินไทยจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป จำเป็นต้องใช้เวลาทำการศึกษาข้อมูลใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง เพราะผลการศึกษาที่ทำไว้เมื่อ 5 ปีก่อนนั้นไม่สอดรับกับสถานการณ์ในวันนี้แล้ว โดยเฉพาะตัวแปรเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อความจำเป็นในการเดินทางด้วย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO นั้น นับเป็นโครงการสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสามารถแข่งขันในระดับโลก ซึ่งต้องใช้งบฯลงทุนมูลค่าสูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าแอร์บัสผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกจะถอนตัวไม่เข้าร่วมลงทุน บริษัทยังคงมีแผนทำการศึกษาโครงการดังกล่าวอยู่ และไม่ได้เจาะจงเฉพาะในพื้นที่ EEC เท่านั้น ยังทำการศึกษาในพื้นที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย

นอกจากนี้ยังมองหาพันธมิตรใหม่ ทั้งส่วนที่เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ผู้ประกอบการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ฯลฯ รวมถึงพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปของผลการศึกษาไม่เกินไตรมาส 3/2566 นี้