ปูพรมสถานีชาร์จอีวีทั่วไทย เซเว่นควิกชาร์จ 10 นาทีเต็ม

ขับอีวีเที่ยวทั่วไทยได้แล้ว สนพ.เผยยอดตั้งสถานีชาร์จทะลุ 1,200 สถานี ปตท.-บางจาก-EA เจ้าตลาดสถานีชาร์จ ครอบคลุม 73 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น “อุทัยธานี-ชัยนาท-ยะลา-สมุทรสงคราม” บิ๊กเซเว่นติดหัวชาร์จสุดล้ำ 10 นาทีเต็ม เครือสหพัฒน์ผนึก กฟผ. ต่อยอดธุรกิจสีเขียว EV Ecosystem

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขายรถอีวีในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ส่งผลให้ขณะนี้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนทุกประเภท (รวมจักรยานยนต์ไฟฟ้า) ในช่วงไตรมาส 1/2566 พุ่งไปถึง 20,400 คัน ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ประเทศไทยมียอดทะเบียนรถอีวีสะสมอยู่มากถึง 61,594 คันแล้ว

โดยแยกเป็นประเภทรถยนต์อีวี 28,127 คัน และที่เหลือเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้า หากเทียบจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ระบุว่ามียอดรถอีวีเดือนเม.ย. 2565 มีจำนวนเพียง 5,614 คัน เท่ากับยอดรถอีวีเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า

สถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนจุดชาร์จรถอีวีตามสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

ปูพรมชาร์จอีวี 1,239 สถานี

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำนวนสถานีบริการชาร์จอีวี ณ สิ้นปี 2565 มีผู้ให้บริการทั้งหมด 13 ราย มีการติดตั้งทั้งสิ้น 1,239 สถานี

แต่หากคิดตามจำนวนหัวชาร์จทั้งหมด 3,739 หัวชาร์จ แบ่งเป็น AC 2,404 หัวจ่าย และ DC 1,342 หัวจ่าย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากดำเนินนโยบาย 30@30 ซึ่งเป็นนโยบายขับเคลื่อนการลงทุนผลิตรถ ZEV ( zero emission vehicle) หรือรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ในปี 2030 (2573) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งจะเป็นไปตามแนวทางการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตามนโยบายดังกล่าว ประเทศไทยมีเป้าหมายในปี 2025 (2568) จะมีจำนวนการผลิตรถ ZEV ประเภทรถยนต์นั่ง/รถกระบะ 225,000 คันต่อปี และเพิ่มเป็น 725,000 คันต่อปีในปี 2030 ขณะที่จำนวนการใช้รถ ZEV ปี 2025 จะมี 225,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 440,000 คันต่อปี

และจำนวนหัวจ่ายทั้งแบบ Fast / DC Charger สะสมจะอยู่ที่ 2,200-4,400 หัวจ่ายในปี 2025 และเพิ่มเป็น 12,000 หัวจ่ายในปี 2030 รวมถึงจำนวนสถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (swapping station) 260 สถานีในปี 2025 และเพิ่มเป็น 1,450 สถานีในปี 2030

“ขณะที่ยอดการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 6 หมื่นคันไปแล้ว ส่วนจำนวนสถานีชาร์จทั้งหมดเท่าที่ข้อมูลอัพเดตของ สนพ.มีจำนวนกว่า 3,739 หัวชาร์จ ซึ่งถือว่าสูงจากเป้าหมาย 2,200-4,400 หัวจ่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรับเป้าหมาย ต้องให้ถึงปี 2025 จะมีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง”

เปิดตัวเจ้าตลาดสถานีชาร์จ

จากข้อมูลของ สนพ.ระบุว่า มีผู้ให้บริการสถานีชาร์จทั้งหมด 13 ราย โดยรายที่มีจำนวนสถานีชาร์จสูงสุดคือ อีเอ (พลังงานบริษัท) 406 สาขา, evolt (อีโวลท์ เทคโนโลยี) 189 สาขา, Sharge 147 สาขา, EV Station (ปตท.น้ำมันและค้าปลีก) 131 สาขา, PEA Volta (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำร่วมกับบางจาก) 123 สาขา, EleX by EGAT (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) 72 สาขา, Onnion 46 สาขา, noodoe EV 41 สาขา, HAUP 38 สาขา, MEA (การไฟฟ้านครหลวง) 33 สาขา, และ PUMP CHARGE 6 สาขา

อย่างไรก็ตาม “ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามข้อมูลไปยังผู้ให้บริการต่าง ๆ ถึงข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566 พบว่าในช่วงเวลาเพียง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหลายรายได้ขยายจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อาทิ EV Station ของ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) ได้มีการขยายสถานีชาร์จเพิ่มเป็น 235 สาขา ใน 61 จังหวัด จากสิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวน 131 สาขา หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 สาขา ซึ่งตามแผนจะขยายให้ครบ 7,000 แห่งในปี 2573

ขณะที่ของค่ายบางจาก ที่ร่วมกับ PEA ก็มีจำนวนเพิ่มเป็น 184 สาขา จากสิ้นปี 123 สาขา เพิ่มขึ้น 61 สาขา ในเวลา 3 เดือน, ขณะที่ของ MEA เพิ่มเป็น 34 สาขา และ EleX by EGAT เพิ่มเป็น 96 สาขา และยังมีในส่วนของ EleXA ที่ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรอย่างพีที จำนวน 24 สาขา

73 จังหวัด-ขาด 4 จังหวัด

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การกระจายตัวในการติดตั้งสถานีชาร์จ พบว่าปัจจุบันการกระจายตัวลงไปถึง 73 จังหวัดแล้ว ยกเว้นเพียง 4 จังหวัดที่ยังไม่มีข้อมูลว่ามีสถานีชาร์จ คือ อุทัยธานี ชัยนาท ยะลา และสมุทรสงคราม และพบว่าการกระจายตัวของสถานีชาร์จค่ายโออาร์จะรุกไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก ขณะที่บางจากจะมุงการขยายสถานีชาร์จในพื้นที่ภาคกลาง

โดยจากการเปรียบเทียบจังหวัดที่มีสถานีชาร์จของโออาร์ แต่ยังไม่มีสถานีชาร์จของบางจากมี 15 จังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ น่าน แพร่ พะเยา ลำพูน ราชบุรี สมุทรปราการ สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ ยโสธร อำนาจเจริญ เป็นตัน

ส่วนมีพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีสถานีชาร์จบางจาก แต่ไม่มีสถานีชาร์จของโออาร์ อาทิ สุโขทัย ลพบุรี นครนายก อ่างทอง สิงหบุรี พิจิตร ปราจีนบุรี ตรัง สตูล และสระแก้ว เป็นต้น แต่มี 2 จังหวัดที่ไม่มีทั้งบางจากและปตท. แต่มีสถานีชาร์จของ กฟผ. คือ อุตรดิตถ์ และฉะเชิงเทรา

บิ๊กธุรกิจรุกจุดชาร์จอีวี

ก่อนหน้านี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมแผนการลงทุนเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ จะติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้า (EV) ให้ครบ 7,000 หัวจ่ายภายในปี 2573 ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้าน EV

ขณะที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรเร่งขยายสถานีชาร์จ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยร่วมกับบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดจุดให้บริการ MG super charge สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว และร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ลุยเปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ในต่างจังหวัด โดยแผนขยายทุก 100 กม.

ด้านพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ก็ได้ร่วมกับ กฟผ. จัดทำจุดชาร์จในปั๊มน้ำมัน ชื่อ EleXA ในปี 2565 ที่ผ่านมาขยายสาขาไปแล้ว 35 สาขา และปี 2566 มีแผนจะเพิ่มสาขาอีกเท่าตัว เป็นอย่างน้อย 70 สาขา และตั้งเป้าเป็น 180 สาขา ในปี 2027

“แม้ว่าจำนวนสถานีอีวี 35 จุด อาจจะมองว่าน้อย แต่บริษัทมั่นใจว่าหากขับรถอีวีไปตลอดเหนือจรดใต้ จะสามารถหาจุดชาร์จของพีทีได้โดยไม่ต้องออกนอกเส้นทาง และสำคัญไปกว่านั้นคือ จุดแข็งที่พีทีจีร่วมกับ กฟผ. ใช้เครื่องมือมาตรฐาน ทำให้แรงดันไฟฟ้าไม่น้อยหน้าใคร อัดได้สูงถึง 120 กิโลวัตต์ ยกตัวอย่างเช่น ชาร์จรถอีวีเอ็มจี ใช้เวลา 40-45 นาที/รอบ แต่ถ้าเป็นรถเทสลา ใช้เวลา 20-30 นาที/รอบ ขึ้นอยู่กับความสามารถรับของรถแต่ละรุ่น”

7-11ร่วมวงสถานีชาร์จ

ขณะที่ในส่วนธุรกิจค้าปลีกที่โดดเข้าร่วมสนามอีวี ขณะนี้ภาพของร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นจะเห็นชัดที่สุด โดยนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดเผยว่า การปรับสู่การติดจุดชาร์จรถอีวีนั้น เป็นการลงทุนโดยพันธมิตร

ทางเซเว่นฯเพียงอำนวยความสะดวกสถานที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการให้บริการทั้งเปลี่ยนแบตเตอรี่ และชาร์จรถอีวี ซึ่งล่าสุดได้ติดตั้งและให้บริการจุดชาร์จที่เรียก “ซุปเปอร์ชาร์จ 360” ที่สาขาแหลมบาลีฮาย พัทยา ใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 10 นาที

สำหรับการเปิดจุดชาร์จอาจจะไม่ครบ 14,000 สาขา แต่จะครบเฉพาะมอเตอร์ไซค์ (สวอปแบตเตอรี่) แต่จุดชาร์จรถยนต์อีวีไม่ได้ เพราะมีเรื่องที่จอดรถ หากเป็นร้านใหญ่มีที่จอดรถ 5-6 คัน ก็จะเปิดให้มีจุดชาร์จ เพราะผลจากการติดจุดชาร์จแล้วจะทำให้มีคนมาซื้อของเพิ่มหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ และยังอาจทำให้มีที่จอดลดลงด้วย แต่การมีจุดชาร์จนี่คือความสะดวก เมื่อประชาชนจะมีรถอีวีมากขึ้น

กฟผ.ผนึกสหพัฒน์ต่อยอดสถานีอีวี

ล่าสุดนายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนาให้สถานีชาร์จอีวี (EV charging station) ในพื้นที่ของเครือสหพัฒน์ เป็นโครงการต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมยกระดับและขับเคลื่อนพัฒนาในทุกมิติของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นายบุญญนิตย์กล่าวว่า ปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงานนำร่องร่วมกันพัฒนา และเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT ที่อาคารจอดรถชั้น C2 ศูนย์การค้า เจ พาร์ค ศรีราชา นิฮอน มูระ รองรับการชาร์จรถ EV ได้ 5 ช่องจอด และยังร่วมกันศึกษาแนวทางการต่อยอดสถานีชาร์จในบริเวณพื้นที่ของเครือสหพัฒน์

ได้แก่ King Bridge Tower (อาคารสำนักงานให้เช่า) Kings Quare Residence (โครงการที่อยู่อาศัย) รวมทั้งในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม (industrial park) ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ.เป็นทั้งผู้ให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และพัฒนาแอปพลิเคชั่น EleXA สำหรับใช้งานสถานีชาร์จ

ค่าไฟอีวีต้นทางไม่ถึง 3 บาท

สำหรับอัตราค่าชาร์จไฟของรถ EV นั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เคยมีมติเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 “รับทราบ” ผลการดำเนินการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564-2568 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จอีวี ประกอบด้วย อัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ไม่รวมค่า Ft ค่า PE และค่าบริการรายเดือน เท่ากับ 2.9162 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และไม่มีค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า (demand charge)

โดยอัตราค่าชาร์จไฟฟ้าราคา 2.9162 บาท/หน่วย ไม่ได้ถูกบังคับใช้ ทำให้ต้องไปใช้อัตราตามช่วงเวลา (TOU) เดิม หรือเท่ากับ 2.6369 บาท/หน่วย โดยราคานี้เหมือนราคาต้นทาง ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการสถานีชาร์จไปคิดราคาค่าไฟปัจจุบันจึงใช้การคำนวณราคาขายปลีกตามโลเกชั่นที่ให้บริการ อาจจะมีสูงหรือต่ำแตกต่างกันไป