อีวีปลุกลงทุน 1.6 หมื่นล้าน ไม่หวั่นเลือกตั้ง-โอกาสไทยเป็นฮับ

ฉางอัน

เศรษฐกิจไทยกำลังถูกจัมพ์เพื่อสตาร์ตอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเปิดประเทศรับนักลงทุน ปรากฏข่าวดีรับต้นปี คือ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน ประกาศเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ว่าจะมาตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างไม่ลังเล และไม่รอลุ้นผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ด้วยซ้ำ

EV ปลุกลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 โครงการ จากบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนพฤษภาคม มูลค่าการลงทุน 9,800 ล้านบาท และ BYD บริษัท GAC Aion ที่ได้มาหารือร่วมกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 6,400 ล้านบาท เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมแล้ว 16,200 ล้านบาท

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า ได้รับสิทธิประโยชน์ที่มากที่สุด ครอบคลุมทุกองค์ประกอบในส่วนของรถ EV ซึ่งขยายไปถึงเรือไฟฟ้า, รถสามล้อ, รถจักรยานยนต์, รถบรรทุก, รถบัส, รถเมล์

โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน โดยในส่วนของ BOI จะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีตามเงื่อนไขที่กำหนด การ “ยกเว้น” อากรขาเข้าและชิ้นส่วน

หลังจากนั้นก็ได้มีการปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์มาเรื่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรองรับนักลงทุนแต่ละค่ายรถยนต์ที่มีความสนใจเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย เป็นส่วนสนับสนุนให้ไทยเป็น EV Hub

2 ปี ดึงฉางอัน

เลขาธิการบีโอไอเล่าถึงการทำงานร่วมกับบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมาว่า แผนการลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัทเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 และมีการหารือร่วมกับสำนักงานบีโอไอ ณ นครเซี่ยงไฮ้ อย่างใกล้ชิด ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนเชิงลึก รวมถึงได้ส่งทีมงานเดินทางมาพบกับผู้บริหารของบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อหารือมาตรการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน

“บีโอไอได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ประเทศจีน เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 เพื่อชี้แจงข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย และตอกย้ำถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก

ส่งผลให้บริษัท ฉางอันฯ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย แถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นแห่งแรกนอกประเทศจีน”

สำหรับการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

ฉางอันถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว มีสำนักงานใหญ่และฐานการผลิตหลักอยู่ที่มหานครฉงชิ่ง อีกทั้งได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทฟอร์ด และมาสด้า ผลิตรถยนต์ในจีนด้วย

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอัน เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก อีกทั้งแสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร รวมทั้งซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับการผลิต EV โดยบริษัทได้เริ่มหารือกับซัพพลายเออร์ในไทย เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ด้วย”

นอกจากนี้ บีโอไอจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ดึงผู้ผลิต EV รายอื่น ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

บิ๊กนิคมชี้กระตุ้นลงทุน

ด้าน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. WHA เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่าบรรยากาศในการลงทุนในประเทศไทยดีขึ้น ภายหลังจากการประกาศเข้ามาลงทุนของค่ายอีวีหลาย ๆ ค่าย สะท้อนว่าไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างที่ผ่านมา BYD เข้ามาลงทุนใน WHA จะเริ่มผลิตในเดือนมิถุนายน ปี 2567 น่าจะเริ่มผลิตออกวางตลาดได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ ต่าง ๆ อีกหลายรายที่อยู่ระหว่างเตรียมจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งก็ต้องดูว่าแต่ละรายมีการวางกรอบระยะเวลาในการทำสัญญาเพื่อก่อสร้างโรงงานนานเท่าไร โดยปกติก็จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี

จรีพร จารุกรสกุล

สำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะดึงการลงทุน โดยปกติก็จะมีการดึงนักลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อความสะดวกของการจัดส่งสินค้าในซัพพลายเชนทั้งหมด ต้องมองว่าจุดศูนย์กลางอยู่ที่ใด และห่างในรัศมีกี่กิโลเมตร เพราะต้องคำนึงถึงซัพพลายเออร์หลาย ๆ รายที่ต้องส่งชิ้นส่วนเข้าไปประกอบในโรงงานก็ควรจะอยู่ใกล้ ๆ กัน

แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในนิคมเดียวกันกับผู้ผลิตอีวีรายอื่น อย่างนิคมของ WHA ก็มีการกระจายหลายจุด และซัพพลายเออร์ก็กระจายตามไปด้วย เช่น นิคม WHA อีซี่ก็มีหลายแบรนด์อยู่ในนิคม พื้นที่ 2 นิคมรวมกันก็ 17,000 ไร่ พื้นที่กว้างมาก

“ปัจจัยสำคัญอีกด้านคือ การลงทุนนักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยมีประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามา ต่างก็มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนเรื่องต่างชาติอยู่แล้ว แม้ว่าประเทศอื่นจะมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนนโยบาย แต่ไทยแบ่งแยกกัน การเมืองไม่กระทบต่อนักลงทุน และนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะมองถึงโอกาสในการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก แต่ละรายที่เข้ามาก็มีซัพพลายเออร์ในไทยอยู่แล้วก็จะมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อมั่นได้”