โรงสีกันทรลักษ์ ชูมาตรฐาน Q ส่งจีนรายแรก

“สหกรณ์กันทรลักษ์” จ.ศรีสะเกษ ชูต้นแบบโรงสีแห่งแรกในไทย ผ่านกฎเหล็กมาตรฐาน Q มกอช.ส่งขายโมเดิร์นเทรด เล็งนำโมเดล “ทุเรียนภูเขาไฟ” ขายออนไลน์ส่งตรงคู่ค้าจีน

นางกิตติวรรณ เผ่าพันธุ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สหกรณ์เป็นผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงเพียงแห่งเดียวใน จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวสาร Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการที่ผ่านกระบวนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าว (GAP) ในราคาสูงกว่าตลาด หรือเพิ่มขึ้น 200-500 บาท/ตัน โดยเพิ่มราคาข้าวให้เกษตรกรอีก 20 สต./กก. ล่าสุดในปี 2559/60 โรงสีสหกรณ์สามารถผลิตข้าวสาร Q ได้ 12 ตัน คิดเป็น 10% ของกำลังผลิตข้าวทั้งหมด ด้วยรูปแบบบรรจุถุง สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 2.6 แสนบาท ทั้งนี้ โรงสีสหกรณ์มีกำลังผลิต 60 ตัน/วัน มีรายได้รวม 1,300 ล้านบาท/ปี

ปัจจุบัน ทำตลาดโดยแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารให้กับเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดใกล้เคียงและตลาดโมเดิร์นเทรด 80% และส่งออกไปมณฑลกว่างโจว ประเทศจีน มูลค่า 300 กว่าล้านบาท/ปี ในอนาคตตั้งเป้าวางจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว เพิ่มตลาดโมเดิร์นเทรด และจับคู่ธุรกิจออนไลน์ DGT farm โดยรัฐบาลส่งเสริม

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา จ.ศรีสะเกษ ประสบความสำเร็จในการทำตลาดออนไลน์ทุเรียนภูเขาไฟไปยังตลาดประเทศจีน ผ่าน www.co-co-opclick.com ของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงอยากนำโมเดลนี้มาใช้กับข้าวด้วย เริ่มต้นด้วยการเจรจาจับคู่กับลูกค้าจีนที่ซื้อทุเรียน ซึ่งแสดงความสนใจ

สหกรณ์ถือเป็น 1 ใน 52 โรงสีที่ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกข้าวที่จะเดินทางไปโชว์สินค้ายังประเทศจีน จึงอยากฝากให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ถึงความต่างของแบรนด์และคุณภาพในอีกทางด้วย

โรงสีต้นแบบ – สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นสหกรณ์ที่มีโรงสีข้าวเพียงรายเดียวที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Q ของ มกอช.


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสหกรณ์ดำเนินธุรกิจจนเข้มแข็ง ทำให้มองเห็นโอกาสยกระดับข้าวหอมมะลิ 105 สู่มาตรฐาน Q ยอมรับว่าทำยากมากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 1.ต้นข้าวปลูกในดินที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหอมมะลิ 2.เมล็ดพันธุ์ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างดี ตลอดจนควบคุมระยะเวลาปลูกจนเก็บเกี่ยวได้ข้าวเปลือก GAP 4.การสีข้าวของโรงสี

สหกรณ์ต้องได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ไม่ปะปนข้าวเปลือกทั่วไป และ 5.ข้าวสารต้องผ่านการคัดแยกเมล็ดเหลือง เมล็ดหัก และเมล็ดเสียตามมาตรฐานส่งออก และต้องตรวจสอบย้อนกลับได้

นางสาวเสริมสุข สลักเพชร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ล่าสุดมีโรงสีข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ข้าว ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง จ.พัทลุง มาตรฐานสินค้าข้าว มกษ.4004-2555 ข้าวสาร ข้าวกล้อง สหกรณ์ 2.สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด จ.เชียงราย มาตรฐานข้าวหอมมะลิ มกษ.4000-2546 ประเภทข้าวสาร ข้าวกล้อง 3.สหกรณ์การเกษตรพร้าว ข้าวหอมมะลิไทย มกษ.4000-2546 ข้าวสาร ข้าวกล้อง 4.สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด ข้าวหอมมะลิ 4000-2546 5.สหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ จำกัด สินค้าข้าวหอมมะลิ มกษ.4000-2546 สินค้าข้าวสาร จ.ศรีสะเกษ

ขณะที่รายชื่อโรงสีข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มกษ.4403-2553 มี 8 แห่ง อาทิ สหกรณ์การเกษตรพร้าว สหกรณ์การเกษตรเชียงแสน วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง กลุ่มโรงสีข้าวพระราชทาน สหกรณ์การเกษตรพลังสามัคคีสตรีลุ่มน้ำโขง สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด สหกรณ์การเกษตรบรบือ และสหกรณ์การเกษตรกันทรลักษ์ โดยสหกรณ์กันทรลักษ์เป็นแห่งแรกที่ได้มาตรฐาน Q ครบวงจร และเตรียมจะยกระดับอีก 8 โรงสีสหกรณ์ ซึ่งล่าสุดมี 2 โรงสีอยู่ระหว่างยื่นคำขอ

“ที่ผ่านมา มกอช.ได้ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับโรงสีต้นแบบ ทั้งขนาดบรรจุ 5 กก., 1 กก., 500 กรัม และ 250 กรัม ภายใต้แบรนด์ “ข้าวสาร Q”

ถือเป็นข้าวสารคุณภาพระดับพรีเมี่ยม และส่งเสริมให้จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบคิวอาร์เทรซ (QR trace) พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายโดยประสานกับโมเดิร์นเทรด และจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ดีจีทีฟาร์มดอตคอมด้วย รวมถึงออกบูทแสดงสินค้าในงานโรดโชว์ต่าง ๆ”