BCPG ทุ่มลงทุน 3 หมื่นล้าน เดินเกมโรงไฟฟ้า 3 ประเทศ

ภูวดล สุนทรวิภาต
ภูวดล สุนทรวิภาต

BCPG กางแผนลงทุน 3 หมื่นล้าน เปิดไทม์ไลน์เสริมแกร่งรายได้ 3 ปี ปักหมุด 4 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ 577 เมกะวัตต์ ชิงตลาดค้าไฟเสรี PJM 13 มลรัฐ ปี’66 พร้อมอัพสเกลผลิตไฟฟ้าโซลาร์ไต้หวันจากหลักสิบ เป็นหลัก 100 เมกะวัตต์ปี’67 ก่อนลุยขายไฟฟ้าพลังงานลมจีทูจี สปป.ลาว-เวียดนาม

การขับเคลื่อนแผนการลงทุนของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่ต้นปี 2566 มีการขยับวางจิ๊กซอว์ลงไปยังตลาดสหรัฐ ผ่านบริษัทย่อย BCPG USA Inc. ที่ได้ร่วมทุนกับพันธมิตรอเมริกัน อย่าง “Advance Power” เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรงแรกในรัฐโอไฮโอ คือ Carroll Country Energy LLC (CCE) และ South Field Energy LLC (SFE) ด้วยเงินลงทุนรวม 3,972 ล้านบาท

ถัดมาในเดือนเมษายน2566 ได้ขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐเพิ่มอีก 2 โรงคือ ฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ (ลิเบอร์ตี้) รัฐเพนซิลเวเนีย และโรงไฟฟ้า ฮามิลตั้น เพทริออต (เพทริออต) ด้วยงบลงทุนอีก 8,919 ล้านบาท รวมงบลงทุนในอเมริกา 12,891 ล้านบาท ทำให้มีกำลังการผลิตในสหรัฐรวมแล้ว 577 เมกะวัตต์

BCPG ปักหมุดสหรัฐ

นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทเตรียมจะลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาท โดยประกาศการลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนที่ไปซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สที่สหรัฐ จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐรวม 4 โรง กำลังการผลิตรวม 577 เมกะวัตต์

และเหตุผลที่ซื้อเพื่อบริษัทเลือกเฉพาะของใหม่ที่เบิร์นเนอร์และเทอร์บายรับไฮโดรเจนได้ เพราะทุกคนมองว่าโลกจะเป็นไฮโดรเจนเขียว ดังนั้น โรงใหม่รับไฮโดรเจนได้ประมาณ 30-40%

อีกอย่างหนึ่งคือ การดักจับคาร์บอน (carbon capture) ที่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บไว้ใต้ดินได้ หลังจากดูดน้ำมัน แก๊ส ขึ้นมาใช้เสร็จแล้ว เหลือแต่ CO2 ซึ่งที่สหรัฐเริ่มมีโครงการสร้างแพลตฟอร์มในอนาคต อย่างในรัฐโอไฮโอและเพนซินเวเนียที่บริษัทไปลงทุน เป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมัน ขุดเจาะแก๊ส ซึ่งมีแพลนอยู่แล้วว่าแหล่งแก๊สตรงไหนแห้งก็จะนำ CO2 เติมเข้าไปเก็บ แล้วจะนำมาให้บริการใน 5-7 ปีข้างหน้า แล้วจะคุ้มทุนตอนนั้น เพราะจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) หากใครไม่ทำก็จะถูกเก็บ carbon tax

“เป็นไปตามแผน BCPG มุ่งจะพัฒนาสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2050 เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สในสหรัฐทุก ๆ ที่จะใส่ไฮโดรเจนเขียวบางส่วน CO2 ที่ยังเหลือบางส่วนยัดลงไปในชั้นหิน ดังนั้น ภายในไม่เกิน 10 ปี บริษัทจะทำให้โรงไฟฟ้าพวกนั้นเป็น net zero ได้ ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งการลงทุนพลังงานแก๊สที่มีโอกาสจะรักษ์โลกได้ในอนาคต”

ซื้อโรงไฟฟ้าแก๊สคุ้มคูณ 2

นายภูวดลอธิบายต่อว่า สาเหตุที่บริษัทไม่ลงทุนสร้างพลังงานหมุนเวียน (renewable) โซลาร์ที่สหรัฐ แต่มุ่งลงทุนในโรงไฟฟ้าแก๊ส เนื่องจากด้วยประสบการณ์การลงทุนในญี่ปุ่นและไต้หวัน ว่าการลงทุนจะต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก แต่กว่าจะมีรายได้เข้ามาใช้เวลา 3-5 ปี บริษัทจึงลงทุนไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ operate แล้ว เมื่อซื้อแล้วจะมีเงินสดหมุนเวียน มีผลกำไรกลับมา แล้วจึงนำกำไรดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนา เท่ากับได้กำไรคูณสอง

“การซื้อโรงงานแก๊สก่อน 4 โรง 577 เมกะวัตต์ เทียบกับโซลาร์แล้วเหมือนคูณ 4 เลย เพราะโรงไฟฟ้าแก๊ส run 24 ชั่วโมง ถึงจะมีเบรกมีพัก ก็เท่ากับเฉลี่ยรัน 20 ชั่วโมง แต่โซลาร์ run ได้ 4 ชั่วโมงกว่า เทียบแล้วต่างกันประมาณ 4-5 เท่า ถ้านับเมกะวัตต์จริง ๆ แล้ว ก็มีประมาณ 500-600 เหมือนมี 2,000 เลย”

นายภูวดลกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หากเทียบกับการนำเงินไปลงทุนซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ผลิตแล้วในตอนนี้ ราคาแพง return น้อย แต่การซื้อโรงไฟฟ้าแก๊สราคาดีกว่า return ดี จากนั้นจึงค่อยไปพัฒนาต่อยอดไฟฟ้าโซลาร์เอง เพราะโซลาร์พัฒนาเองยังพอมีกำไรได้ และบริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่ถ้าซื้อตั้งเสร็จแล้วแทบไม่เหลือกำไร

“ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแก๊สในสหรัฐมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนหลายราย เช่น บ้านปูพาวเวอร์ เพราะที่สหรัฐมีขายเยอะหลายร้อยโรง แยกกันกิน ไม่ได้แข่งกันเลย ซึ่งตลาดไฟฟ้าที่นั่นมีตลาดไฟฟ้าเสรีที่เรียกว่า PJM เป็นตลาดที่มีความต้องการสูงที่สุดในสหรัฐ รวมความต้องการของทั้งหมด 13 มลรัฐ”

ขยายการลงทุนในไต้หวัน-ลาว

นายภูวดลกล่าวต่อไปว่า อีกด้านหนึ่งบริษัทได้ขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ไปที่ไต้หวัน ที่มีนโยบายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหญ่ และยังได้ราคาขายที่ดีถึงหน่วยละ 5 บาท โดยวางเป้าหมายจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (commercial operation date-COD) ในปีนี้ อาจจะเริ่มต้นที่หลักสิบเมกะวัตต์

แต่ปีหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยเมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนโซลาร์ที่ไต้หวันอาจจะมีความล่าช้ากว่าแผนบ้าง เนื่องจากหาพื้นที่ (ที่ดิน) ยาก เพราะหากจะผลิตไฟฟ้าโซลาร์ 2 หมื่นเมกะวัตต์ จะต้องการที่ดินประมาณ 2 แสนไร่

ล่าสุดบริษัทได้ขยายการลงทุนในโครงการมอนซูน (Monsoon) ที่แขวงเซกอง และอัตตะปือ ใน สปป.ลาวที่ บีซีพีจี ถือหุ้นเกือบ ๆ 50% ในบริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด โครงการนี้เพิ่งเริ่มก่อสร้างไปเมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา หากแล้วเสร็จจะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 7.5 แสนตันต่อปี

เป็นโครงการระหว่างรัฐบาล-รัฐบาล (GtoG) กล่าวคือรัฐบาลลาวให้สัมปทานบริษัท เพื่อผลิตไฟขายให้รัฐบาลเวียดนาม โดยราคาค่าไฟที่รัฐบาล สปป.ลาวจ่ายให้ต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 2 บาท รวมเป็นระยะเวลา 25 ปี

“จากภาพการลงทุนดังกล่าว ผลการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าสหรัฐจะสร้างรายได้คืนกลับมาในปีนี้ ขณะนี้เริ่มทยอยมา 2 โรง ส่วนอีก 2 โรงที่เพิ่งประกาศจะเริ่มมีรายได้เข้าในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายปีนี้คาดการณ์แนวโน้มรายได้สูงเทียบเท่าปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทจะมี ADDER หายไปหลายร้อยล้าน ก็คือพูดง่าย ๆ ว่า เอาแก๊สมาทดแทน แต่ในอีก 3 ปี โรงไฟฟ้ามอนซูน ที่เริ่มก่อสร้างปีนี้จะเสร็จปี 2568

และไฟฟ้าโซลาร์ในไต้หวันทยอยเสร็จปีนี้หลักสิบเมกะวัตต์ ปีหน้าหลักร้อยเมกะวัตต์ เราจะโตแบบก้าวข้าม รายได้หลักหลังปี 2568 อันดับ 1 จะมาจากฐานผลิตที่สหรัฐ อันดับ 2 มาจาก สปป.ลาว จากโรงไฟฟ้ามอนซูน และอันดับ 3 จากไต้หวัน” นายภูวดลกล่าว