พิมพ์เขียวเมืองใหม่อู่ตะเภา เท 2 แสนล้านสร้างฮับการบิน

เปิดพิมพ์เขียวอู่ตะเภา 2 แสนล้าน แจกสัมปทานนักลงทุนทั่วโลก 30-50 ปี ปั้นฮับการบินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บูมเมืองใหม่รัศมี 10-30 กม. ต่อยอดทำเลไข่แดง 6,500 ไร่ รองรับแหล่งงาน อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวใหม่ในอนาคต เชื่อมไฮสปีด 3 สนามบิน ดีเดย์ เม.ย.นี้ คลอดทีโออาร์ เร่งสร้างให้เสร็จ 3 ปี คาดสิ้นปีเซ็นสัญญาครบทุกโปรเจ็กต์กว่า 5 แสนล้าน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในปีนี้จะทยอยเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30-50 ปี ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าโครงการรวมกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ทุกโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอีอีซีแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการเปิดให้เอกชนจากทั่วโลกเข้าร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ

เร่งเครื่องพัฒนาอู่ตะเภา

“ที่จะต้องดึงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะทำให้พื้นที่อีอีซีเกิดเร็ว และใหญ่ขึ้น ต้องให้แล้วเสร็จเปิดบริการพร้อมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในปี 2566 ถ้าเสร็จเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งผลให้ทั้ง 2 โครงการล้มเหลว”

สำหรับสนามบินอู่ตะเภา กำหนดบทบาทให้เป็นสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก และเป็นศูนย์กลางการบิน ที่สำคัญในภูมิภาค รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี เนื่องจากมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวเทียบเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 150,000 ล้านบาท อีกทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองกำลังประสบปัญหานักท่องเที่ยวมาใช้บริการเกินศักยภาพสนามบิน การขยายพื้นที่ลำบาก เพราะมีที่น้อย และมีปัญหาจราจรทางอากาศหนาแน่น ใน 5 ปีนี้กว่าที่อู่ตะเภาจะแล้วเสร็จ น่าห่วงว่าสุวรรณภูมิกับดอนเมืองจะเข้าขั้นวิกฤต

เปิด PPP 6,500 ไร่

“พื้นที่อู่ตะเภามีทั้งหมด 13,000ไร่ อยู่ภายใต้ความดูแลของกองทัพเรือ เราจะขอพื้นที่ด้านขวาของรันเวย์ 6,500 ไร่ เปิดให้เอกชนหลาย ๆ รายร่วมกันลงทุนพัฒนาและรับสัมปทานโครงการ 30-50 ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยรัฐจะลงทุน 8,000 ล้านบาท สร้างรันเวย์ให้”

ดร.คณิศกล่าวว่า ในส่วนของเอกชนจะให้ลงทุนก่อสร้างพร้อมให้บริการและบำรุงรักษา 6 กิจกรรม (ดูกราฟิก) ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และสถานีรถไฟความเร็วสูง 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า 3.เขตปลอดอากร 4. ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 2 5.ศูนย์ซ่อมเครื่องบินระยะที่ 2 และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศระยะที่ 2

“เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนจะเชิญจากทั่วโลก สามารถรวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้า จะเปิดประมูลสัญญาเดียว สัมปทานเดียว หาก บมจ.ท่าอากาศยานไทยสนใจก็สามารถร่วมกับรายอื่น ๆ ประมูลได้ ตามแผนจะเปิดประมูลในเดือน ก.ค. 2561 และได้เอกชนผู้ชนะการประมูลเดือน พ.ย. 2561 เมื่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จ จะถือเป็นโครงการแรกที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานครบ ทั้งรถไฟควาเมร็วสูงเชื่อมจากกรุงเทพฯไปยังอู่ตะเภา ภายในเวลา 1 ชั่วโมง สนามบิน ท่าเรือ และถนน เชื่อมโดยการเดินทางถึงกันสะดวก แม้แต่สนามบินสุวรรณภูมิยังมีไม่ครบขนาดนี้”

ผุดเมืองการบินรัศมี 10-20 กม.

ดร.คณิศกล่าวว่า สำหรับพื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา จะพัฒนาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (EEC Aerotropolis) พัฒนาพื้นที่โดยมีสนามบินเป็นศูนย์กลาง สามารถดำเนินธุรกิจ การเดินทาง และการขนส่งสินค้าได้สะดวก รวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีแนวคิดการพัฒนา ตามขอบเขตพื้นที่ แบ่งเป็น 1.airport city พื้นที่ในเขตเมืองสนามบิน ขนาดประมาณ 6,500 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ย่านอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์ เขตการค้าเสรี 2.inner aerotropolis พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นใน มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่โดยรอบห่างจากสนามบินประมาณ 10 กม. ที่จะแบ่งโซนการพัฒนารองรับเมืองการบิน และ 3.outer aerotropolis พื้นที่โดยรอบสนามบินชั้นนอก ครอบคลุม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ที่เชื่อมโยงการพัฒนาตามแนวระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งหลัก ทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ธุรกิจ และอุตสาหกรรม

“ตามแผนจะพัฒนาพื้นที่รัศมี 10-20 กม.จากสนามบิน เป็นการขยายจากเมืองเดิม และเมืองใหม่ที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ รองรับคนทำงานในเมืองการบินและพื้นที่อุตสาหกรรม นักธุรกิจ การค้า การบริการ การท่องเที่ยว โดยได้เตรียมวางผังเมืองและศึกษารูปแบบการพัฒนาแล้ว ถ้าโมเดลนี้ผ่านได้ เมืองแถวสนามบินอู่ตะเภาจะมีความเจริญเติบโตแน่นอน”

ส่วนเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นพื้นที่ไหน จะเป็นรูปแบบเมืองอัจฉริยะ เบื้องต้นมีที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ในอนาคตจะมีการขยายตัวใหญ่มาก เพราะมีรถไฟความเร็วสูง ทางคู่วิ่งผ่าน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความคิดว่าควรจะทำเมืองให้คนรุ่นใหม่ให้แถบฉะเชิงเทราด้วย คล้าย ๆ เมืองชิบะของญี่ปุ่น ที่เป็นศูนย์กลางที่คนทำงานไปอยู่”

เม.ย.เปิดขาย TOR

ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี วงเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งก่อสร้าง ติดตั้งระบบ เดินรถ และพัฒนาที่ดินมักกะสัน และศรีราชา รวมถึงได้สิทธิ์เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ และจัดทำร่างทีโออาร์เสร็จเรียบร้อยในเดือน มี.ค. 2561 นี้ จากนั้นเดือน เม.ย.จะออกประกาศ และจะเปิดประมูลเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2561 และเซ็นสัญญาสิ้นปีนี้ ใช้เวลาสร้าง 5 ปี แต่จะเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

“การประมูล เราจะทำคู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ พร้อมกับตัดเส้นทางสร้างจากดอนเมืองถึงอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. ส่วนช่วงจากอู่ตะเภาไปถึงระยอง ซึ่งจะก่อสร้างเป็นเฟสต่อไป พร้อมกับการขยายไปถึงตราด เพราะยังติดปัญหานิคมมาบตาพุด เกรงว่าถ้ารอจะทำให้โครงการล่าช้า ขณะนี้อีไอเออยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี จะประสานกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในการชี้แจงเป็นรายประเด็น เพื่อทำงานเร็วขึ้น น่าจะพอดีกับที่ได้ตัวเอกชน และเริ่มก่อสร้างในปี 2562 ตามแผน”

ส่วนกรณีให้สิทธิ์เอกชนปรับย้ายตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูง ดร.คณิศชี้แจงว่า ปัจจุบันมีสถานีรถไฟเดิมอยู่แล้ว รองรับการขนสินค้า แต่รถไฟความเร็วสูงจะเน้นการขนคน จึงต้องขยับตำแหน่งให้เหมาะสม อีกทั้งเอกชนสามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีและสองข้างทาง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าโครงการ และอาจจะให้รัฐอุดหนุนเงินลงทุนน้อยลงก็ได้ ส่วนภาครัฐจะจัดเก็บภาษีลาภลอยเพื่อเป็นรายได้ในระยะยาว ทั้งหมดนี้ได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว

เปิดไทม์ไลน์พัฒนา 2 ท่าเรือ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 155,834 ล้านบาท จะประมูลในเดือน ส.ค. และเซ็นสัญญาในปี 2561 เปิดดำเนินการในปี 2568, ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้เอกชนเข้าร่วมทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 10,154 ล้านบาท ประกอบด้วย งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ ขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร ระบบสาธารณูโภค อุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ จะเปิดประมูลในเดือน มิ.ย. และเซ็นสัญญาเดือน พ.ย. 2561 เปิดบริการปี 2564 ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในอู่ตะเภาของการบินไทย (MRO) พื้นที่ 200 ไร่ วงเงิน 10,300 ล้านบาท จะเซ็นสัญญากับแอร์บัสเดือน ก.ค.นี้ เปิดบริการ 2564

ส.อ.ท.มั่นใจลงทุนพุ่งไตรมาส 2

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนเมื่อ พ.ร.บ.EEC พร้อมที่จะประกาศใช้ในเดือน เม.ย.นี้ มีความชัดเจนมากขึ้น คาดจะเริ่มเห็นการทยอยยื่นขอบีโอไอลงทุนในบางอุตสาหกรรมช่วงไตรมาส 2/2561 และจะเห็นการลงทุนจริงในสเต็ปถัดไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยื่นขอตามแพ็กเกจ EV ไปปลายปี 2560 ได้ทยอยลงทุนจริงแล้ว