กรมโรงงานฯ ลดใบอนุญาตผู้นำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เหลือ 1 ปี

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลดการถือครองใบอนุญาตผู้นำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เหลือ 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี ฝ่าฝืนคุก 3 ปี และต้องมีข้อมูลผู้จำหน่าย (Trader) และผู้ใช้ (End User) ยืนยันกำกับดูแลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 แล้ว โดยการใช้โพแทสเซียมไซยาไนด์ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเท่านั้น

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรมเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบสารตามบัญชี 5 ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสารที่ควบคุมตามอนุสัญญา ของเสียเคมีวัตถุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว รวมจำนวน 615 รายการ และ 26 กลุ่ม

ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการกระบวนการทำความสะอาดโลหะ ชุบโลหะ สกัดแร่ทองและเงิน และใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์

สำหรับสถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ (End User) ได้

ส่วนกรณีมีข่าวการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปกำจัดสัตว์ หรือนำไปก่อเหตุฆาตกรรมนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

และเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์เข้าให้ข้อเท็จจริง และชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ โดยได้จัดกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เป็น 3 กลุ่มตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ได้แก่

กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก พร้อมกำหนดมาตรการควบคุม กำกับดูแลเพิ่มเติมแยกรายกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้าก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร ในรูปแบบเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น และต้องรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ ประกอบการแจ้งนำเข้าก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร และต้องรายงานปริมาณการครอบครองทุก 3 เดือน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดให้ใบอนุญาตฉบับใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี และต้องมีข้อมูลผู้จำหน่าย (Trader) และผู้ใช้ (End User) ประกอบการพิจารณาอนุญาต ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ขอความร่วมมือ สคบ. เพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ในแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทุกประเภท และอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณา และนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป

“เรามุ่งมั่นที่จะป้องกันมิให้มีการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการขอความร่วมมือและเพิ่มมาตรการควบคุม กำกับดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์อย่างเข้มงวด โดยจะพยายามให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และด้านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย น้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศไทย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต้องนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย (Trader) หรือผู้ใช้ (End User) มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

https://www.youtube.com/watch?v=IwEY7ToI_qk