ผ่า Oil Plan 2023 อีวีรอ 10 ปี อนาคตไทยยังใช้น้ำมัน

น้ำมันเชื้อเพลิง

น้ำมันเป็นหัวใจหลักของการขนส่ง ที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ช่วง 4 เดือนแรก ไทยมีการใช้น้ำมันเฉลี่ยที่ 158.86 ล้านลิตรต่อวัน และมีแนวโน้มที่การใช้น้ำมันจะเติบโต 7.4% ในปีนี้ แต่ในอนาคตทิศทางการใช้น้ำมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

4 แนวทางร่าง Oil Plan

กรมธุรกิจพลังงาน เจ้าภาพการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2023) โดยวางกรอบการพิจารณาภายใต้ 4 แนวทาง คือ 1) การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2) การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภาคการขนส่ง 3) การส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ 4) การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต (กราฟิก)

ขณะนี้ Oil Plan เป็นรูปเป็นร่างแล้ว เหลือเพียงรอการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) เสร็จก็จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนพร้อมกัน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา นับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพจิ๊กซอว์ “แผนพลังงานชาติ” ใหม่แจ่มชัดมากขึ้น

นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวอธิบายว่า แนวทางที่ 1 การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน และเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transformation)

มองถึงกับนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 30@30 ที่จะทำให้ภาพการใช้น้ำมันในประเทศเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังจาก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะมีปรับอัตราการสำรองใหม่ จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดสำรอง 6% หรือประมาณ 63 วัน โดยต้องพิจารณาความคุ้มค่าสำหรับผู้ประกอบการ

ตาราง น้ำมันเชื้อเพลิง

ลดประเภทน้ำมัน

แนวทางที่ 2 การบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง จะมีการลดชนิดน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน อย่างน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล ในปี 2567 จะให้เหลือเพียงชื่อ “น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว” เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ สัดส่วน B100 อยู่ที่ 5-9.9% เพื่อสถานีบริการน้ำมันจะได้มีเพียงหัวจ่ายเดียว

ขณะเดียวกันกลุ่มน้ำมันเบนซิน E20 เป็นฐานของประเทศ ในปี 2570 โดยปัจจุบันมีการใช้เพิ่ม 2.2% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.87 ล้านลิตรต่อวัน ด้าน LPG และ NGV ภาคขนส่งให้เป็นไปตามกลไกตลาด

“การลดชนิดของน้ำมัน ทำให้กลุ่มผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 หรือสถานีบริการน้ำมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลายหัวจ่าย ส่วนเบนซินที่ตั้งใจจะทำให้แก๊สโซฮอล์ E20 กลายเป็นน้ำมันพื้นฐาน แต่ก็ยังพบข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ราคาของเอทานอลที่ไม่เสถียร

และความเสี่ยงในการลงทุนผลิตเนื่องจากต้องใช้น้ำมันเฉพาะที่ไม่สามารถแปรรูปไปทำอย่างอื่นได้ รวมถึงการช่วยเหลือยานยนต์รุ่นเก่าที่ไม่สามารถปรับมาใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ได้ ทำให้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงการเลือกใช้ นี่เป็นจุดที่ยากที่สุด” นางพัทธ์ธีรากล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 กันยายน 2567 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่สามารถอุดหนุนราคาน้ำมันไบโอดีเซลได้ ทำให้อนาคตปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล B20 อาจเป็นไปตามกลไกตลาด

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า ในการจัดทำ Oil Plan ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิตไบโอดีเซล กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ค่ายรถยนต์ รวมถึงผู้ค้าน้ำมันอย่างรอบด้าน

ร่าง Oil Plan ในส่วนของน้ำมันดีเซล มีแผนจะปรับให้อยู่ภายใต้ชื่อเดียวกันว่า “น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว” เพราะในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 (EURO 5) เพื่อเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการปล่อยฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ดีเซล จะมีแค่น้ำมันดีเซล B7 เท่านั้น ส่วน B20 ยังมีผู้ประกอบการบางรายขอให้คงไว้

ลงทุนธุรกิจใหม่ ปลุกเศรษฐกิจ

แนวทางที่ 3 คือ ส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็น backbone ของประเทศ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charger) ทั่วประเทศ

เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งไว้ 30@30 ให้มีหัวชาร์จอีวี 12,000 หัวจ่าย นอกจากนี้ยังมีการตรวจเช็กและเพิ่มประสิทธิภาพน้ำมันทางท่อ เพื่อเพิ่มโอกาสค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

และแนวทางสุดท้าย คือ การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต (new business) เช่น ปิโตรเคมีหรือปิโตรเคมีขั้นสูง รวมถึงโรงกลั่นชีวภาพ (biorefinery) และพลังงานหมุนเวียน โดยกรมได้มีการสำรวจตลาดพบว่ามีผู้สนใจลงทุนกว่า 34,000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลสนับสนุนแผนดังกล่าวจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจจากการลงทุนในธุรกิจใหม่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี