GITยกเครื่องมาตรฐานทอง ผุดระเบียบHallmarkดันไทยเทียบสวิตฯ

ร้านตู้แดงสะเทือน - GIT ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานระดับโลหะมีค่า (Hallmark)เพื่อวางมาตรฐานการตรวจสอบรับรองคุณภาพโลหะมีค่า หวังสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ภายหลังจากมีปัญหาเปอร์เซ็นต์ทองร้านทองตู้แดงไม่ถึง 96.5%

ร้านทองตู้แดงสะเทือน “GIT” เร่งยกเครื่องมาตรฐานทองคำ “Hallmark” เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการออกใบรับรอง หวังสร้างความมั่นใจคุณภาพทองเทียบเท่าสวิตฯ-อิตาลี อนาคตเล็งยกร่างเป็นกฎหมายคุมเข้มร้านทอง

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (Gems & Jewelry Institute of Thailand : GIT) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร GIT ซึ่งมี นายราเชนทร์ พจนสุนทร เป็นประธาน มีมติให้ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานระดับโลหะมีค่า (Hallmark) เพื่อวางมาตรฐานการตรวจสอบรับรองคุณภาพโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เครื่องเงิน ว่ามีเปอร์เซ็นต์ทองคำ และเงินกี่เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ซื้อ

โดยช่วงแรกกำหนดเป็นมาตรฐานสมัครใจก่อน ในอนาคต GIT จะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มทองและเครื่องเงินในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ให้การยอมรับมาตรฐาน Hallmark ของไทย เช่นเดียวกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าเหล่านั้น และอาจจะพิจารณายกร่างเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้มีความนิยมซื้อทองและเครื่องประดับเก็บเพื่อการลงทุนมากขึ้น แต่ตามร้านทองทั่วไปที่ระบุว่าเปอร์เซ็นต์ทอง 96.5% แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งเปอร์เซ็นต์ไม่ถึง หากผู้ประกอบการนำทองเข้ามาตรวจสอบกับ GIT และออกใบรับรองไป จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อมากขึ้น แต่ในช่วงแรกผู้ประกอบการขายทองคำ ร้านทอง (ตู้แดง) กังวลถึงภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ หากอนาคตไทยสามารถทำให้เครื่องหมายดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับประเทศผู้ซื้อสหรัฐ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ จะช่วยให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ ลักษณะของตรา Hallmark ที่จะประทับบนผลิตภัณฑ์จะมี 3 ตรา คือ ตราของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ตราที่ระบุว่าเป็นทองกี่เปอร์เซ็นต์ และตราของ GIT

นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้เจมส์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยที่ GIT จะให้มีใบรับรอง Hallmark ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม เทียบเท่าประเทศผู้ค้าทองสำคัญ ๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ มาตรฐานนี้คงจะไม่ส่งผลกระทบด้านต้นทุน เพราะเป็นการสมัครใจ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ผลิตที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับสินค้า

“สินค้าอัญมณีเป็น 1 ใน 5 สินค้าที่สร้างรายได้ให้ประเทศ รัฐบาลมีนโยบายผลักดันไทยให้เป็นฐานการค้าอัญมณีของโลก เหมือนสิงคโปร์ที่เป็นฐานการค้าที่สำคัญ ก็ควรยกระดับมาตรฐาน”

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท MTS Gold แม่ทองสุก อดีตกรรมการบริหาร GIT ให้มุมมองว่า การออกมาตรฐาน Hallmark เป็นประเด็นที่มีการหารือใน GIT มาระยะหนึ่งแล้ว โดยตัวแทนของผู้ประกอบการมองเป็น 2 ด้าน คือ ควรกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกก่อน ส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศยังไม่มีความจำเป็น เพราะมีมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำกับดูแลอยู่ และหากบังคับให้ขอใบรับรองสินค้าทุกชิ้นอาจจะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าปลายทางบวกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบได้ เพราะทองเป็นสินค้าที่ราคาซื้อขายอิงตามราคาตลาด

“หากจะออกมาตรฐานนี้สำหรับสินค้าส่งออกควรเป็นลักษณะสมัครใจ เพราะหากเป็นมาตรฐานบังคับ ทาง GIT จะต้องเตรียมความพร้อมในทางปฏิบัติหลายด้าน เช่น GIT จะสามารถทำการรับรองสินค้าครบทุกชิ้นภายในระยะเวลารวดเร็วทันกำหนดส่งมอบที่ผู้ส่งออกมีออร์เดอร์หรือไม่ หากรับรองไม่ทัน ทำให้ส่งมอบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก อีกทั้งต้องหาแนวทางผลักดันให้มาตรฐานของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดค้าทอง เช่น ในสหภาพยุโรปแต่ละประเทศ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะใช้มาตรฐานฮอลมาร์กของประเทศตนเอง และสุดท้ายต้องวางมาตรการรองรับในกรณีที่หากมีการตรวจสอบแล้วสินค้าที่รับรองไม่เป็นตามมาตรฐานจะเอาผิดกับใคร เป็นต้น”