มะพร้าวอินทรีย์ “เมอริโต้” ชู Beyond Organic ปั๊มรายได้

พีรโชติ จรัญวงศ์

บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ผลิตสินค้าแปรรูปจากมะพร้าวครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-จนถึงปลายน้ำ เพื่อการส่งออก ปัจจุบันดำเนินกิจการรูปแบบออร์แกนิก และมีเป้าหมายยกระดับ Vision Beyond Organic หรือออร์แกนิกขั้นสูงสุด เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสและการเติบโตในอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายพีรโชติ จรัญวงศ์” ผู้บริหารสูงสุด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด และผู้บริหารโชติวรรณกรุ๊ป ถึงจุดเริ่มต้นและโอกาสของตลาด ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีธุรกิจประกอบด้วย บริษัทแปรรูปสินค้าจากมะพร้าว คือ เมอริโต้, บริษัท เค ที ที เมอร์เชไดส์ ทำสวนมะพร้าว บริษัท ไร่โชติวรรณ และบริษัท โชติวรรณ ทำระบบโลจิสติกส์ ที่อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทและลูกค้า

จุดเริ่มต้นสู่ออร์แกนิกขั้นสุด

พีรโชติเล่าว่า บริษัทเริ่มกิจการโรงงานน้ำมันมะพร้าวประมาณปี 2518 เวลาต่อมาได้ขยายลงทุนปลูกมะพร้าวบนพื้นที่กว่า 2,200 ไร่ ในอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยปลูกมะพร้าวสายพันธุ์ “มาว่า” เป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อให้ผลผลิตขนาดเล็ก แต่มีเนื้อหนาและมีความทนทานต่อสภาพอากาศของประเทศไทย

ต่อมาในปี 2536 ได้ตั้งบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด ขึ้น เพื่อแปรรูปผลผลิตจากไร่ มาเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำกะทิ, น้ำมะพร้าว, น้ำมันมะพร้าว, แป้งมะพร้าว และเกล็ดมะพร้าวอบแห้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตเพื่อการส่งออก ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ได้มาอยู่ภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” ที่เป็นสินค้าออร์แกนิก ตั้งแต่กระบวนการปลูกจากไร่จนถึงกระบวนการผลิตที่โรงงาน

“ก่อนที่จะเป็นสินค้าออร์แกนิกได้นั้น เราได้ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูกมะพร้าว ดูแลพื้นที่มาต่อเนื่อง แต่เมื่อปี พ.ศ. 2540 เข้าสู่ยุคของฟองสบู่แตก เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของไร่ ไม่สามารถใช้จ่ายซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลงได้ ปล่อยให้พื้นที่แห้งแล้ง มะพร้าวทรุดโทรม ล้มตายเกือบทั้งไร่

จากจุดนี้ทำให้เกิดแนวคิด หยุดใช้สารเคมีและหันมาฟื้นฟูไร่มะพร้าว ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ให้ธรรมชาติฟื้นฟูด้วยตัวเอง ความอุดมสมบูรณ์จึงหวนกลับคืนมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี กว่าจะเป็นไร่มะพร้าวเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว และเป็นไร่มะพร้าวเกษตรอินทรีย์ที่แรกของประเทศไทย อย่างปัจจุบันนี้”

รับรองระดับสากล

เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เราได้รับการตรวจรับรองอย่างเป็นทางการตามมาตรฐานดีมิเตอร์นานาชาติ จาก BFDI (Biodynamic Federation Demeter International) และยังได้เป็นผู้ประกอบการรายแรก ที่ได้รับการรับรองอย่างบูรณาการตั้งแต่ Producer & Processor ตามการยืนยันจากหน่วยงานการตรวจรับรอง International Certification Office (ICO) ของ Biodynamic Federation Demeter International (BFDI)

นอกจากนั้นยังได้เป็นผู้ประกอบการเพาะปลูกและแปรรูปรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นที่นิยมในตลาดยุโรป ซึ่งมาตรฐานนี้ถือว่าได้รับรองยากมากที่สุดมาตรฐานหนึ่ง

พร้อมกันนี้ ผลิตภัณฑ์เมอริโต้ ยังได้การรับรองมาตรฐานสากลความเป็นออร์แกนิกอย่างแท้จริง จากสถาบันในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และยังเป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ที่ผลิตภัณฑ์เมอริโต้ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% อย่างแท้จริง

กำเนิดไร่โชติวรรณ

ส่วนไร่โชติวรรณ ดำเนินกิจการบนที่ดินขนาด 12 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันพัฒนาไร่โชติวรรณ มีการเพาะไข่ไก่ ปลูกผักปลอดสารพิษ เช่น พริก ข่า ตะไคร้ ข้าว กะเพรา ขมิ้น มะกรูด มะนาว ผักสลัด และสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อบริโภคภายในฟาร์มและแบ่งปันให้กับเกษตรกรและผู้มาเยือน เพื่อกระจายสายผลิตภัณฑ์

ไร่โชติวรรณยังส่งผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เช่น สมุนไพรและเครื่องเทศ ให้กับ Merito Food Products Company (MFP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าวชั้นนำของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงภายใต้แบรนด์ Merito ยังได้รับการรับรองมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากล เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ผักและพืชในฟาร์ม

แม้ว่าฟาร์มจะยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดก็ยังทำการซื้อ-ขาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่อง รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ เกษตรกร ชุมชน ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยมาตรฐานสากลได้

“ไร่โชติวรรณเน้นที่กระบวนการปลอดสารเคมีเพื่อกำจัดการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งนำไปสู่อาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก เรามุ่งเน้นที่การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ด้วยความโปร่งใสและความสมบูรณ์ของการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบออร์แกนิก”

การเติบโตทางรายได้

ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทมียอดส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าว ปริมาณ 1,500 ตู้ แต่ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 600 ตู้

ปัจจุบันบริษัทต้องยอมรับว่าการเติบโตของรายได้ในปี 2566 นี้อาจจะลดลง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ แคนาดา เอเชีย ออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนใหญ่เราทำการส่งออก ไม่ได้ทำตลาดในประเทศเลย

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจคู่ค้ามีปัญหา ค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดและความต้องการบริโภค รวมไปถึงศักยภาพในการแข่งขันในสินค้าแปรรูปของไทย เสียเปรียบคู่แข่งอยู่บ้าง เราต้องเสียภาษีนำเข้า 12% ขณะที่ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก และคู่แข่งในตลาด เสียภาษีนำเข้า 0% ซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี อนาคตบริษัทจะพัฒนาสินค้าส่งออก เช่น เครื่องแกง ข้าว ที่เกิดจากเกษตรอินทรีย์ โดยที่จะต้องยกระดับมาตรฐานแข่งขันกับอินเดีย และจีน

ห่วงวิกฤตเอลนีโญ

ส่วนปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ ประเทศไทยอาจจะเกิดภาวะเอลนีโญ ทำให้ฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี เราก็มีความกังวล ปัญหาเอลนีโญอยู่บ้าง แม้จะเป็นจุดเริ่มต้น จากนี้ 3 ปี ก็คงต้องติดตามและหามาตรการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อผลผลิตมะพร้าว ทำให้เกิดความเสียหาย ปริมาณและคุณภาพลดลง โดยอาจจะกระทบต่อราคามะพร้าวให้สูงขึ้น จากราคา 10-20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม

ซึ่งปัญหานี้ไม่มีงานวิจัยในการช่วยเหลือ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ และอย่าไปฝืน แต่ต้องคอยปรับและรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น