ชำแหละปัญหาสิ่งแวดล้อมEEC หวั่น 20 ปี วิกฤตน้ำเสีย-ขยะ-อากาศพิษ

กระทรวงทรัพยากรชำแหละร่างแผนสิ่งแวดล้อมพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ปัญหาเพียบทั้งคุณภาพน้ำผิวดิน-น้ำบาดาลเสื่อมโทรม ปนเปื้อนโลหะหนัก บำบัดน้ำเสียทำได้แค่ 45.13% กากอุตสาหกรรมไม่ได้รับการกำจัด 55.26% มีการลักลอบทิ้งต่อเนื่องชี้หากเกิด EEC ทั้งโรงานอุตสาหกรรม ประชากรทะลักกว่า 18 ล้านคนปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักแน่ “รมว.สุรศักดิ์” จี้ข้าราชการทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหา ก่อนสถานการณ์วิกฤตและเลวร้ายสู่อนาคตภาคตะวันออก พร้อมเตรียมชงงบประมาณ 15 โครงการเฉียด9 พันล้านลุยแก้ปัญหา

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดทำแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.)เป็นผู้ประสานรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการต่อไปนั้น

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561-2564 ว่า ปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตจะมีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นดังนั้น จึงต้องมีการวางแผน และเตรียมการรองรับ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เริ่มจากทำการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันก่อน ระยะที่ 2 เมื่อเริ่มการก่อสร้างโครงการ จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง และระยะที่ 3 เมื่อโครงการขึ้นเต็มรูปแบบ เพื่อวางแผนรับมือในอนาคต

“ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุม EEC หลายครั้งร่างแผนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญน้อยที่สุด ขณะที่วันนี้ผมได้ลงพื้นที่ EEC ไปเปิดป่าในเมืองที่ จ.ระยอง มีป่าชายเลน 500-600 ไร่ เห็นขยะลอยมาตามน้ำ ติดอยู่เต็มไปหมด ผมไปพัทยาเห็นการบำบัดน้ำเสียเสร็จทิ้งลงทะเล บางช่วงน้ำที่ปล่อยออกมามีคราบสีดำแสดงว่าบำบัดไม่ดี และการทิ้งน้ำจืดลงทะเลจำนวนมาก ระบบนิเวศในทะเลจะมีผลกระทบหรือไม่ ควรต้องหาทางแก้ไขด้วยการนำน้ำกลับไปใช้ใหม่ และไม่ให้ปล่อยลงทะเล วันนี้หากมีน้ำเสียของเก่าสะสม และมีน้ำเสียใหม่เพิ่มขึ้นนี่คือ สถานการณ์วิกฤตและเลวร้ายสู่อนาคต ประเทศไทยจะได้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาลงทุน แต่คุณภาพอากาศ และคุณภาพชีวิตจะแย่ลง เราจะยอมเสี่ยงกัน

เราอยากได้เงิน แต่ยอมเสียสุขภาพ ดังนั้น โครงการ EEC ที่จะเกิดขึ้นจึงขอให้ข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทุ่มเทสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย เพราะหากดูแลเท่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ไม่สำเร็จแน่นอน”พลเอกสุรศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ บุญดาว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC พ.ศ. 2561-2564 ว่า ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้ เพราะฉะนั้นในกรอบการพัฒนา EEC ที่เริ่มใหม่จึงพยายามกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ข้อเท็จจริงโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

จะชักนำประชากรเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับจำนวนประชากร แรงงานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 18 ล้านคนในปี 2580 เมื่อคนมากขึ้นทำให้เกิดขยะ น้ำเสีย การใช้ประโยชน์พื้นที่จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อม น้ำ ขยะจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงมาก

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องจัดทำแผนวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ และวาง4 ยุทธศาสตร์ภายใต้ร่างแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC คือ 1.การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีก่อนเกิด EEC 2.การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่

3.การส่งเสริมการมีส่วนรวมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาขาดการมีส่วนรวมของคนในพื้นที่ 4.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลต้องมีการขับเคลื่อนแผนโดยมอบให้ สปรศ.ทำหน้าที่บูรณาการแผนต่าง ๆ ที่มีมากมาย โดยมีการตั้งงบประมาณ 15 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 8,661.600 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC อีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ งบประมาณบางส่วนเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่รวมไว้ให้เห็นภาพรวมของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC ทั้งหมดที่กำลังดำเนินการภายใน 4 ปีนี้ ขณะเดียวกันต้องมีการติดตามประเมินผลว่า แผนต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปใช้หรือไม่

ผลสำรวจพื้นที่ 3 จังหวัด

สำหรับในการจัดทำร่างแผนสิ่งแวดล้อมได้มีการรวบรวมข้อมูลในปัจจุบันในหลาย ๆ ด้าน และได้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตไปอีก 20 ปีข้างหน้าจากฐานปี พ.ศ. 2559-2580 พบว่า ปัจจุบันทรัพยากรน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำผิวดิน พบว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และมีปัญหาเสื่อมโทรม ถึงเสื่อมโทรมมาก ขณะที่ทรัพยากรน้ำบาดาล พบการรุกล้ำของน้ำทะเล พบมีค่า “คอลไรด์” สูง มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ส่วนทรัพยากรน้ำทะเลชายฝั่ง มีน้ำคุณภาพดีเพียงร้อยละ 47 เกือบครึ่งหนึ่งมีน้ำที่เสื่อมโทรมร้อยละ 13 เสื่อมโทรมมากร้อยละ 2 ที่ต้องหาทางแก้ไขทันที เพื่อให้คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้านคุณภาพน้ำทะเล ได้รับการร้องเรียนเรื่องน้ำมันรั่วไหล โดยเฉพาะบริเวณแหลมฉบังได้รับการร้องเรียนมากกว่ามาบตาพุด ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นเขตที่มีความเสี่ยงสูง

ส่วนการจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่มีปริมาณที่สามารถบำบัดได้เพียง 45.13% ขณะที่มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่เข้าระบบบำบัดถึง 54.87% ดังนั้น เมื่อทำคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำเสียชุมชนปี 2559 ไปถึงปี 2580 ชัดเจนว่า ถ้าไม่มี EEC การเจริญเติบโตจะทรง ๆ เพิ่มขึ้นไม่มาก หากมี EEC ใน 20 ปีข้างหน้า ถ้ายังไม่แก้ปัญหาจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่เกิดขึ้นแน่ ๆ

สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชน จ.ฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 70.16 จ.ชลบุรี มีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องร้อยละ 46.53 และ จ.ระยองมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 31.81 ด้านขยะติดเชื้อยังไม่มีระบบบริการจัดการขยะที่ชัดเจน โดยปริมาณขยะติดเชื้อปี 2559 มีปริมาณ 3,914 ตัน และ 2560 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 4,966 ตัน ทั้งนี้ จากคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของขยะมูลฝอยปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมี EEC ปริมาณขยะจะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตันในปี 2680 ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการได้อย่างชัดเจน

3 จังหวัดมีพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ ปี 2559 มีพิ้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย 2 ล้านไร่ พื้นที่ป่าชายเลน 22,328 ไร่ พื้นที่ป่าชายเลนลดลง ภาพรวมพื้นที่ป่าไม้ของประเทศต้องมีร้อยละ 40 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมพื้นที่ป่า 3 จังหวัดร้อยละ 12.74 ต่อพื้นที่จังหวัด จึงไม่สามารถนำพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์อะไรได้อีกแล้ว ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ขึ้นในตัวเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว

ส่วนคุณภาพอากาศทั่วไปพบว่า ก๊าซโอโซนยังสูง แต่ค่าฝุ่นขนาด PM10 มีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐาน ขณะที่สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)ในบรรยากาศพบว่า มีการตรวจพบค่าที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน 3 พารามิเตอร์ ได้แก่ Benzene, Bu-tadiene และ Chloroethane หากประเมินกรณีเหลวร้ายสุดอาจจะเกิดความรุนแรงกว่านี้อีกมาก

สำหรับกากอุตสาหกรรมใน3 จังหวัดที่เกิดขึ้นปัจจุบันปริมาณ 5.07 ล้านตันต่อปี มีกากอุตสาหกรรมที่เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับ 2.47 ล้านตันต่อปี เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดถึง 55.26% มีกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการกำจัดเพียง 44.74% ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าเราจะทำแผนต่อไป แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น