สงครามเทคสหรัฐ-จีนรอบใหม่ ฟาดหางอุตสาหกรรมไทย ไตรมาส 4

ไมโครชิป
REUTERS/Florence Lo/Illustration/File Photo

สงครามเทคระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในตอนนี้คงเหมือนกับสุภาษิตเกาหลีหนึ่งที่ว่า “วาฬตีกัน กุ้งหลังหัก” เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจของโลกที่เปลี่ยนจากการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ในสนามรบ สู่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน  โดยเฉพาะในยุคที่ทั้งโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวและสังคมดิจิทัล

สงครามเทคสหรัฐ-จีน

สงครามการค้ารอบใหม่นี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า The CHIPS and Science Act หรือ CHIPS Act ที่สหรัฐทุ่มงบฯกว่า 52.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) ภายในประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิปหรือแผงวงจร อันแสดงถึงความพยายามของสหรัฐในการเพิ่มศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู้กับคู่แข่งคนสำคัญอย่าง “จีน”

ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการประกาศควบคุมการส่งออกโลหะกลุ่มแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่หายากที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมาตรการการควบคุมนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยโลหะกลุ่มนี้จากจีน

ความกังวลของสหภาพยุโรป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปแสดงความกังวลเรื่องการควบคุมการส่งออกแร่โลหะของจีนที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก พร้อมมองว่า อาจมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกและอุตสาหกรรมในยุโรป รวมถึงอาจกระทบกับเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสังคมดิจิทัลที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2573

เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งการผลิตแร่หายากมากที่สุดในโลกถึง 70% จากรายงานของ United States Geological Survey (USGS) โดยสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 210,000 เมตริกตันในปี 2565 รวมถึงจีนยังมีปริมาณแร่หายากสะสมอยู่ที่ 44,000,000 เมตริกตัน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จีนมีปริมาณการส่งออกแร่หายากที่ 20,987 เมตริกตัน ลดลง 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของศุลกากรจีน

เอกชนไทยหวั่นกระทบห่วงโซ่อุปทาน

จากการควบคุมการส่งออกดังกล่าว อาจสร้างกังวลให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ที่ถึงแม้ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่มีแหล่งผลิตแร่หายาก แต่ทว่าก็อาจไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในประเทศ ซึ่งอาจทำให้เป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกต้องสั่นคลอน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่จีนลดการส่งออกสินค้าแร่ 2 ชนิด ได้แก่ แกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่หายาก (rare earth) ที่สำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นการตอบโต้ CHIPS Act ของสหรัฐ จะมีผลกระทบในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

“พอสิงหาคมที่มีการบังคับใช้จะส่งผลกระทบในไตรมาสสุดท้าย หรือต้นปีหน้า เพราะว่าอาจทำให้ชิปในหลายอุตสาหกรรมขาดแคลน ไม่ว่าจะชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทหารก็อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงอาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการชะงักอีกครั้ง”

นายเกรียงไกรกล่าวเสริมว่า แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบอย่างคร่าว ๆ ในหลายบริษัท พบว่ายังมีสต๊อกเพียงพอสำหรับการใช้ 2-3 เดือน ทำให้ตอนนี้ยังพอมีเวลากักตุ่นจนถึงเดือนสิงหาคม อาจทำให้เดือนนี้ยอดสั่งซื้อชิปทะลัก

“แต่ถ้าในระยะยาวตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายก็จะเริ่มมีการขาดแคลนชิปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ต้องติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าภูมิรัฐศาสตร์เรื่องความขัดแข้งในภูมิภาคต่าง ๆ จะมีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแทรกแซงทางการค้าและเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นอีกในอนาคต”

กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อพี่ใหญ่ 2 ประเทศต้องคุยกัน

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้ชิปได้เตรียมการที่จะขยับขยายฐานการผลิตไปที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเดิม หมายความว่า ไม่ได้มีเพียงประเทศเดียวเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอีกต่อไป ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวเริ่มมีการปรับโครงสร้างมาสักพักหนึ่งแล้ว

“คาดว่าเมื่อถึงเวลานั้นประเทศทั่วโลกต่างก็พร้อมรับมือแล้ว เพราะทั้ง 2 ประเทศได้มีการแจ้งล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อนแล้ว สังเกตได้จากการลงทุนขยับขยายฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งที่มีการลงทุนเพิ่มด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าในท้ายที่สุดสงครามการค้าระหว่างพี่ใหญ่ในเศรษฐกิจโลกจะต้องมีการเจรจาถอยกันทีละก้าวเพื่อหาจุดสมดุลระหว่าง 2 ฝ่าย”

สุดท้ายแล้ว สงครามเทคระหว่างสหรัฐ-จีนจะหาจุดสมดุลระหว่าง 2 ฝ่ายได้หรือไม่ แล้วสถานการณ์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกปีหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งไว้ในปี 2573 จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ก็คงต้องติดตามรอดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วบทสรุปจะไปในทิศทางใด